ฟ้องหย่า

คดีฟ้องหย่า #ทนายคดีฟ้องหย่าThanuLaw

การสิ้นสุดการสมรส มี 3 ประการ

1. ตาย

2. ศาลพิพากษาให้เพิกถอน เนื่องจากการสมรสนั้น ตกเป็นโมฆียะ

3. หย่า ซึ่งทำได้ 2 วิธี

   3.1. โดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย จดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต

   3.2. คำพิพากษาของศาล ต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมาย

 

รวมเหตุฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 มีดังนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

   (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

   (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

   (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้

   (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

   (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามี หรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นไม่ได้

   เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

   ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตาม มาตรา 1516 (8) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บน เป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง

   เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

 

เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้อง

1. ใบสำคัญการสมรส พร้อมคำแปลภาษาไทย (กรณีจดทะเบียนสมรสต่างประเทศ)

2. ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว

3. ทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชนสามีภริยา 

4. Passport พร้อมคำแปลภาษาไทย

5. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น

6. สูติบัตรบุตร (ถ้ามี)

7. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)

8. บันทึกข้อตกลงการหย่า (ถ้ามี)

9. กฎหมายเกี่ยวกับฟ้องหย่าของประเทศคู่สมรสชาวต่างชาติ กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการขัดกันของกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล กรณีฟ้องหย่า อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงชีพ คดีละ 200 บาท

2. ค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท

3. ค่านำส่งหมายเรียกจำเลย 300 - 700 บาท

4. คดีที่มีทุนทรัพย์ แบ่งสินสมรส ค่าทดแทน เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท

 

เขตอำนาจศาล : ภูมิลำเนาจำเลย หรือมูลคดีเกิด กล่าวคือ สถานที่อยู่กินร่วมกัน , สถานที่จดทะเบียนสมรส ไม่ถือว่าเป็นมูลคดีเกิด ฎ.4443/2564

 

คำสั่งคำร้องที่ มาตรา 952/2531

   การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีผลต่อเมื่อเวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และเมื่อหย่ากันแล้วจึงให้มีการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาได้ตามมาตรา 1532 เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างฎีกา

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : เหตุหย่า เนื่องจากออกบ้านที่อยู่กินกัน ไม่ช่วยเหลือเลี้ยงดู ถือว่าเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2692/2524

   โจทก์จำเลยแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไปอยู่กับมารดา ไม่ยอมอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ เป็นการไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์เดือดร้อนเกินควร เข้าเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(6) แล้ว

 

ประเด็น : ด่าทอเหยียดหยามด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นเวลานานหลายปี อาทิ อีดอกทอง กะหรี่ยังดีกว่ามึงเสียอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13082/2558

   โจทก์ประกอบอาชีพครู ต้องให้การศึกษาอบรมลูกศิษย์และได้รับการยกย่องว่าอาชีพดังกล่าวเป็นแม่พิมพ์ของชาติ แต่โจทก์กลับต้องอดทนต่อความประพฤติของจำเลย ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่กระทำต่อตนซึ่งเป็นภริยาและยังกระทำต่อบุตรสาวจำเลยเองอีกด้วย แม้จำเลยจะไม่มีความอ่อนหวานหรือไม่รู้จักการให้เกียรติภริยาของตนก็ตาม แต่จำเลยก็ควรรู้จักการทะนุถนอมน้ำใจของอีกฝ่ายเยี่ยงสามีที่ดีทั่วไปอันจะช่วยประคับประคองชีวิตสมรสให้ราบรื่น มิใช่ด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายอันเป็นการเหยียดหยามโจทก์ การที่โจทก์อดทนอยู่กับจำเลยอีกหลายปีนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้อภัยตามที่จำเลยเข้าใจเอาเอง เพราะการให้อภัยเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดแล้วอีกฝ่ายไม่เอาโทษ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปรับปรุงตนเองเป็นเวลาหลายปี แต่จำเลยหาได้สำนึกและกลับตนไม่ จนกระทั่งโจทก์และบุตรสาวไม่สามารถอดทนอยู่กับจำเลยได้ จึงพากันย้ายหนีจำเลยไปอาศัยอยู่กับมารดาโจทก์ ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ค)

 

ประเด็น : มีหนังสือถึงหัวหน้าคู่สมรส ให้ตักเตือนเรื่องชู้สาว ขอให้ลงโทษทางวินัย ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552

   จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

 

ประเด็น : ติดการพนัน ฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531

   จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อ บางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนัน จำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปเตือนว่า หากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่นจะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินไม่พอใช้จ่าย พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(ก) และ (ค)

   การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

 

ประเด็น : เรียกแม่ผัวว่า "อีแก่" ไม่ถึงว่าเป็นคำเหยียดหยามอย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2558

   จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน เป็นเพียงคำไม่เหมาะสมที่ภริยาจะใช้เรียกสามีต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยจะต้องปรับปรุงตนไม่ใช้คำดังกล่าวกับสามีอีกต่อไป ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ส่วนที่จำเลยเรียกมารดาโจทก์ว่าอีแก่นั้น คำว่า "อี" เป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือเป็นคำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม สำหรับคำว่า "แก่" มีความหมายว่ามีอายุมาก คำว่า "อีแก่" จึงเป็นคำไม่สุภาพและไม่เหมาะสมที่จำเลยในฐานะบุตรสะใภ้จะใช้เรียกมารดาของสามี แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง ยังไม่พอฟังว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3 )

 

ประเด็น : สามีภริยาแจ้งความดำเนินคดีกัน ถือเป็นกรณีไม่อยู่ในวิสัยที่จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันได้ดังเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556

   แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

 

ประเด็น : ข้อพิจารณาการสมัครใจแยกกันอยู่ ไม่ใช่ระยะเวลาเกิน 3 ปีเท่านั้น แต่ต้องมีองค์ประกอบคือ เจตนาตรงกัน ไม่ประสงค์อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยสิ้นเชิง ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4151/2560

   พฤติการณ์ที่จะถือว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยต่างมีเจตนาตรงกัน คือไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา มีลักษณะที่ขาดจากความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาโดยสิ้นเชิงและต่างฝ่ายต่างไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย

   โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านไปมีภริยาใหม่และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ไม่ปรากฎพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยมีความประสงค์แยกกันอยู่กับโจทก์โดยชัดแจ้ง ส่วนที่โจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะให้จำเลยเป็นผู้รับเงินเดือนของโจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนในเวลานั้น ถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยผู้เป็นภริยาและอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1565 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นข้อตกลงที่ถือว่าจำเลยตกลงแยกกันอยู่กับโจทก์โดยสมัครใจไม่

   องค์ประกอบอันเป็นเหตุหย่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) นอกจากการที่สามีภริยาสมัครใจแยกกันอยู่แล้ว ยังจะต้องได้ความต่อไปว่าการสมัครใจแยกกันอยู่นั้นเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี ด้วย จึงจะทำให้มีเหตุหย่าโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่รับฟังองค์ประกอบเรื่องระยะเวลาที่แยกกันอยู่แต่เพียงประการเดียว พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ฝ่ายเดียวสมัครใจแยกทางกันอยู่กับจำเลย จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์นั้น

 

ประเด็น : ต่างฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ต้องแยกกันอยู่ ไม่ถือว่าสมัครใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2542

   จำเลยเป็นชาวต่างประเทศอยู่กินร่วมกับโจทก์ผู้เป็นสามี ต้องพึ่งพาอาศัยสามีเป็นสำคัญในการครองชีพ โดยอาศัยเงินที่โจทก์จ่ายให้เดือนละ 20,000 บาท เลี้ยงดูบุตร การที่โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย และจำเลยตกลงจะยอมหย่าแต่เรียกร้องเงินเป็นจำนวนสูงถึง 40,000,000 บาท ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่าโจทก์คงไม่ตกลงด้วยก็น่าจะเป็น เพราะจำเลยไม่ประสงค์จะเลิกร้างไปจากโจทก์หรือสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์นั่นเอง ทั้งเหตุที่โจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานานก็เนื่องจากโจทก์ได้แยกออกไปอยู่กับบิดามารดาโจทก์เอง และภายหลังที่จำเลยไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เนื่องจากต้องไปดูแลรักษาบุตรที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดังนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1516 (4/2) อันเป็นเหตุฟ้องหย่า

 

ประเด็น : มาทีหลัง แต่จดทะเบียนสมรส คู่สมรสยังไม่เลิกกับคนก่อน ถือเป็นเหตุหย่าและฟ้องชู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525

   จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ เมื่อจำเลยสมรสกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก

 

ประเด็น : กลับไปอยู่บ้านเดิม 25 ปี ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2521

   ภริยาแยกไปอยู่บ้านเดิมได้ 25 ปี สามีไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดู เหตุที่แยกไปเพราะสามีบีบบังคับ เป็นการที่สามีจงใจทิ้งร้างภริยาและไม่เลี้ยงดูภริยา ภริยาหย่าได้

 

ประเด็น : ทิ้งร้างเกิน 1 ปี แม้ยังส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตร ก็ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2537

   จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมาและได้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้วก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยสิ้นไปแต่อย่างใด

 

ประเด็น : คู่สมรสต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกิน 1 ปี หากฟ้องคดีเมื่อพ้นโทษแล้ว ถือไม่ได้ว่าได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555

   เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า "สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้" ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

 

ประเด็น : ตัวอย่าง พฤติการณ์ในการอภัย ทำให้สิทธิใการฟ้องหย่าย่อมหมดไป ศาลไม่อาจพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2559

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับหญิงอื่น ต่อมาเดือนสิงหาคม 2557 จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ยอมกลับมาอยู่กับจำเลยที่บ้าน จึงเห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีการบรรยายระบุถึงพฤติการณ์ที่แสดงถึงการให้อภัยจำเลยโดยยอมกลับมาอยู่กับจำเลยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) อีกทั้งจำเลยได้ยื่นถอนเรื่องร้องเรียนความประพฤติด้านชู้สาวของโจทก์ต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่า จำเลยตกลงใจถอนเรื่องร้องเรียนโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือให้โจทก์กลับเข้าบ้านและปฏิบัติตนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีดูแลบุตรภริยาตามเดิม ให้โจทก์ปฏิบัติตนในทางที่ดี ไม่ให้เป็นที่ดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยาม ซุบซิบนินทาของบุคคลทั่วไปในสังคมและให้โจทก์ให้เกียรติยกย่องบุคคลในครอบครัวอันได้แก่ บุตร ภริยา ตามกาลเทศะที่เหมาะสม โดยโจทก์ก็ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะกลับเข้าพักในบ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิม แม้ข้อตกลงจะไม่ได้ระบุว่าโจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลย แต่พฤติการณ์ที่โจทก์แสดงออกโดยกลับมาอยู่บ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิมเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยต่อการกระทำของจำเลยที่ส่งข้อความหมิ่นประมาทบิดาของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ในเรื่องนี้จึงหมดไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556

   แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

 

ประเด็น : สถานที่จดทะเบียนสมรส ไม่ถือเป็นมูลคดีเกิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546

   คำว่า "มูลคดีเกิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีผู้ฟ้องที่ยากจนลงหลังจากหย่า สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ และย่อมหมดลงเมื่อสมรสใหม่

2. การฟ้องหย่าในคดีที่มีบุตรผู้เยาว์ เมื่อยื่นฟ้องแล้วจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย โจทก์ บุตรผู้เยาว์ และพยาน 1 คน

3. การจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษา ไม่ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว มาตรา 16 

4. ผลการหย่าต่อบุคคลภายนอก

   4.1. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยทั่วไปไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า แต่หากคู่หย่าต้องการใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าด้วย

   4.2. เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว บุคคลภายนอกจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าจะทำนิติกรรมกับคู่หย่าโดยสุจริตก็ตาม กรณีมีสัญญาประนีประนอมยอมความให้บันทึกไว้ในท้ายทะเบียนการหย่าด้วย

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องหย่า

-X-

 ♦ หย่า แบ่งสินสมรส อำนาจปกครองบุตร

-X-

 ♦ ฟ้องหย่า คู่สมรสชาวต่างชาติ

-X-

 ♦ สัญญายินยอมหย่า

15,000

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-01 19:25:22
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,063