งานลิขสิทธิ์นายจ้างลูกจ้าง

งานอันมีลิขสิทธิ์ นายจ้าง VS ลูกจ้าง

ปัญหาที่พบได้มากที่สุดในคดีลิขสิทธิ์ #ทนายคดีลิขสิทธิ์ThanuLaw

กฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กำหนดไว้ว่า การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน

มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง

*ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น #ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์

*แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

 

ข้อสังเกต

1. การสร้างสรรค์ในกรณีเป็นลูกจ้าง ลิขสิทธิ์ในงานจะตกเป็นของลูกจ้าง แต่ในทางปฏิบัติ นายจ้างจะกำหนดในสัญญาจ้าง ให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของนายจ้าง

2. แม้ว่าไม่ได้กำหนดเอาไว้ ลิขสิทธิ์ในงานของลูกจ้างนั้น นายจ้างก็มีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารชนได้ตามที่เป็น #วัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน ไม่ถือว่านายจ้างละเมิดลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง

3. *แต่หากลูกจ้างสร้างสรรค์งานขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน หรือสร้างสรรค์งานขึ้นในเวลาส่วนตัว นายจ้างก็ไม่มีสิทธิที่จะนำงานนั้นออกเผยแพร่

-ยกตัวอย่าง-

   จ้างมาเป็นคนรับใช้ในบ้าน และใช้เวลาว่างแต่งเพลงขึ้นมา ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมตกเป็นของลูกจ้าง เพราะรับจ้างให้เป็นคนใช้ มิใช่ให้เป็นนักดนตรี

4. คำว่า เผยแพร่ต่อสาธารณชน ตามมาตรา 4 หมายถึง ทำให้ปรากฏต่อสาธารชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด บรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

-ยกตัวอย่าง-

   นายจ้างเป็นเจ้าของสำนักงานพิมพ์ บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจีพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ได้ว่าจ้างลูกจ้างให้มาเป็นนักเขียนประจำสำนักงานพิมพ์โดยให้เงินเดือน ลูกจ้างแต่งนิยายขึ้นมา นิยายดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง แต่นายจ้างมีสิทธินำงานดังกล่าวออกตีพิมพ์ขายได้

แต่หากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน การนำออกเผยแพร่ของนายจ้างถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

-ยกตัวอย่าง-

   นายจ้างเป็นเจ้าของสำนักงานพิมพ์ บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการตีพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ได้ว่าจ้างลูกจ้างให้มาเป็นนักเขียนประจำสำนักงานพิมพ์โดยให้เงินเดือน ลูกจ้างแต่งเพลงและร้องเพลงที่แต่งขั้นไว้ในคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน นายจ้างนำเพลงนี้ออกเผยแพร่ไม่ได้ เพราะการแต่งเพลงไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน เพราะจ้างมาเป็นนักเขียนไม่ได้จ้างมาเป็นนักแต่งเพลงหรือนักร้อง ถือว่านายจ้างละเมิดลิขสิทธิ์

5. แต่นายจ้างไม่มีสิทธินำงานนั้นมาดัดแปลง โดยไม่ได้อนุญาตหรือตกลงกับลูกจ้าง

-ยกตัวอย่าง-

   จ้างลูกจ้างเขียนหนังสือนิยาย ต่อมาจะดัดแปลงทำเป็นภาพยนตร์ไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากลูกจ้าง

6. ขอบเขตของสัญญาจ้างเป็นส่วนสำคัญ

7. ตกลงกันให้นายจ้างและลูกจ้าง มีสิทธิ์ร่วมกัน ก็สามารถทำได้

8. ข้อตกลงจะต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น จะทำด้วยวาจาไม่ได้ โดยลงลายมือชื่อลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียวก็ถือว่าเพียงพอ

 

คำถาม แล้วนายจ้างมีสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชน ของลูกจ้างถึงเมื่อใด

ตอบ : ถึงวันที่ ลูกจ้างมีหนังสือแจ้งนายจ้างให้ระงับหรือยุติการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ (อ้างอิง ฎ.9523/2544) และพอจะอนุมานได้ว่า นายจ้างมีสิทธิ์นำงานออกเผยแพร่ได้ตราบเท่าที่สัญญาจ้างแรงงานนั้นยังคงมีอยู่

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2544

   โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBMA/S400 ของจำเลย ซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทตามคำฟ้องโดยจำเลยคงให้การเพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท หากลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นของโจทก์จำเลยก็มิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์เพราะจำเลยได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นไปใช้งานอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานที่จำเลยได้จ้างโจทก์ ดังนี้ ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยรับว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทหรือไม่ข้อเท็จจริงในคดีจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ

   แม้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ก็เป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท

   ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในกิจการของจำเลย โดยปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้คิดค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จากจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เอื้อเฟื้อให้จำเลยใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

   การที่โจทก์ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทในเครื่องคอมพิวเตอร์IBMA/S400 ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทของโจทก์ แม้โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ก็ตามแต่จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โจทก์โดยทนายความของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ระงับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทและให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมคืนให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นต้นไปมิใช่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทจำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543

   แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7 (ปัจจุบัน พ.ศ. 2537 มาตรา 9)

 

เรียบเรียงและเขียนโดย ธนู กุลอ่อน

 

เนื้อหาบางส่วนคัดลอกมาจาก

1. หลักกฎหมายลิขสิทธิ์ ณัฐกฤตา สีลาประเทือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

2. คอร์สเนติบัณฑิต TUTOR MAI

3. ลักษณะของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.244.xxx]
เมื่อ: 2022-10-02 13:16:15
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,602