คดีเครื่องหมายการค้า

คดีเครื่องหมายทางการค้า #ทนายคดีเครื่องหมายการค้าThanuLaw

ข้อพิพาทในคดีเครื่องหมายการค้า ที่พบส่วนใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ใช้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนแล้ว โดยมีข้อกฎหมายที่สำคัญ อยู่ในมาตรา 44 และ มาตรา 46 เจ้าของมีสิทธิ์ฟ้องคดีตามมาตรา 46

 

ข้อพิจารณา เป็นความผิด

1. ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่ได้จดทะเบียนไว้

2. ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันแต่คนละรายการ

3. ใช้กับสินค้าต่างจำพวก แต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน

 

ไม่เป็นความผิด

1. ใช้กับสินค้าคนละจำพวกกับที่จดไว้ แต่ผิดฐานลวงขาย

2. ไม่ได้ใช้ในลักษณะเครื่องหมายการค้า

 

การฟ้องคดีเครื่องหมายการค้า แยกเป็น 2 แบบ

1. เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว เจ้าของมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ หากมีผู้ใดมาละเมิดสิทธิ เจ้าของมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าได้

2. เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เจ้าของมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น แต่จะฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือเรียกค่าเสียหายตาม มาตรา 46 ไม่ได้ แต่สามารถฟ้องข้อหาลวงขายได้ตาม ม.46 วรรค2 หรือสินค้าคนละจำพวก

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : การขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต้องกระทำภายใน 5 ปีนับแต่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6969/2559

   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริตดัดแปลงลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 11 กันยายน 2546 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 มีนาคม 2553 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมีสิทธิดีกว่าก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้

 

ประเด็น : ออกเสียงคล้ายกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2553

   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ากล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 109 และ 110 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยหลอกลวงในแหล่งกำเนิดของสินค้าและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนคดีนี้เป็นคดีแพ่งพิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างได้รับการจดทะเบียนว่าใครมีสิทธิดีกว่าและมีเหตุเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าโดยตรง ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดีกว่ากัน คดีนี้ย่อมมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 46

   เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า KOBE และ GOBE เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำทั้งสองต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ 4 ตัว มีเสียงเรียกขานเหมือนกันว่า โกเบ และใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโลหะเหมือนกัน กล่องบรรจุสินค้ามีสีเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ตัวอักษรบนกล่องและการวางตำแหน่งตัวอักษรคล้ายกัน เมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า KOBE จนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้

   คำว่า KOBE ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับโจทก์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทเค โอ บี อี เวลดิ้ง จำกัด ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันว่า KOBE WELDING CO., LTD พ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ กับนำชื่อภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 ไปพิมพ์ที่กล่องบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงละเมิดสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5, 18, 420 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 มิให้ใช้ชื่อ เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือ KOBE WELDING ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมิให้ใช้คำว่า เค โอ บี อี หรือ โกเบ ด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

 

ประเด็น : ต่างจำพวก แต่ประเภทเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3030/2533

   เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า "LUCKY"อ่านว่า "ลักกี้"แปลว่าโชคดี ใช้ กับสินค้าที่นอนสปริง ในจำพวกสินค้าประเภท 50 ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า "LUXKY" อ่านว่า "ลักกี้" แปลความหมายไม่ได้ ใช้ กับสินค้าที่นอนทุกชนิดในจำพวกสินค้าประเภท 41 เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันและจำนวนตัว อักษรเท่ากัน ตัว อักษรต่าง กันเฉพาะตัว ที่ 3 เท่านั้น แต่ คงอ่านออกเสียงเหมือนกัน แม้สินค้าของโจทก์และจำเลยจะจดทะเบียนไว้ต่างจำพวกกัน แต่ก็จดทะเบียนสินค้าในประเภทเดียวกันคือที่นอน ทั้งจำเลยก็ผลิตสินค้าประเภทที่นอนออกจำหน่ายเช่นเดียว กับโจทก์ ดังนั้นสาธารณชนย่อมหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยงดใช้ เครื่องหมายการค้าคำว่า "LUXKY"และขอเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยได้

 

ประเด็น : ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สามารถร้องคณะกรรมการให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2550

   เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และมีการต่ออายุตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงอาจมีการเพิกถอนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้

   จำเลยร่วมรับโอนเครื่องหมายการค้าพิพาททางมรดกจากบิดาจำเลยร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรณีมีเหตุทำให้เชื่อได้ว่าความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับของโจทก์เกิดจากการที่บิดาจำเลยร่วมทราบถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากเคยทำงานกับโจทก์ และนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปดัดแปลงและจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตน จึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (2) ประกอบ มาตรา 8 แม้สินค้าบานเกล็ดจะไม่ใช่เป็นสินค้าที่ระบุไว้ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอน แต่คณะกรรมการฯมีคำสั่งไม่ให้เพิกถอน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว

 

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ที่สำคัญ

มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 27 และมาตรา 68 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้

มาตรา 46 บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าว ไม่ได้

   บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,592