แก้ไขบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า

คดีขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า / ทะเบียนรับรองบุตร โดยความยินยอม #ทนายคดีครอบครัวThanuLaw

   ปกติสามีภริยาที่จดทะเบียนหย่าด้วยความยินยอม โดยทำข้อตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตร และค่าอุปการะเลี้ยง ไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ 

   ในเรื่องอำนาจปกครองบุตร หากตกลงกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ฝ่ายนั้นย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (6)

   ต่อมา หากทั้งสองฝ่ายต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้อีกฝ่ายใช้อำนาจปกครอง หรือใช้อำนาจปกครองร่วมกัน แม้ทั้งสองฝ่ายจะยินยอม ก็ไม่สามารถขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ที่สำนักงานทะเบียนได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 ข้อ 38 ต้องอาศัยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

   รวมทั้ง การขอแก้ไขทะเบียนรับรองบุตร ในส่วนอำนาจปกครอง

 

เหตุผลในการขอเปลี่ยนแปลง

: ป.พ.พ. มาตรา 1520 กำหนดเหตุผลไว้กว้าง ๆ โดยระบุว่า "ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป"

: ป.พ.พ. มาตรา 1582 กำหนดเหตุผลไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน เช่น เป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลล้มละลาย ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ประพฤติชั่วร้าย เป็นต้น

 

การเริ่มต้นคดี : ทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็นคำฟ้อง ก็ได้

 

หลักการพิจารณาของศาล : ศาลมีอำนาจเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุก และประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

 

เขตอำนาจศาล : สำนักทะเบียนที่ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า หรือภูมิลำเนาของผู้ร้อง อ้างอิง ฎ.6150/2540

 

ค่าขึ้นศาล : 200 บาท

 

เอกสารประกอบคำร้อง

1. ใบสำคัญการหย่า พร้อมบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า

2. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน สามีภริยา

3. สูติบัตรของบุตร

4. หนังสือให้ความยินยอม (ระบุให้ชัดเจนว่าแก้ไขเรื่องอะไร เช่น เรื่องอำนาจปกครองผู้เยาว์)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ น่าสนใจ

ประเด็น : ยื่นในรูปแบบคำร้อง หรือคำฟ้อง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543

   บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิง ป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้องทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

   การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์

   ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้

   ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

ประเด็น : เปลี่ยนแปลงบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าได้ หากนำบุตรมาเลี้ยงดูเป็นเวลานาน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546

   บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ คงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่า โดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า

   เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

 

ประเด็น : ตกลงไว้ท้ายทะเบียนหย่าให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เดียว แม้ไม่มีเหตุเพิกถอนอำนาจปกครองได้ แต่เพื่อความผาสุกของบุตร ศาลมีอำนาจกำหนดให้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

   ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดี เป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520, 1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

   ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลง ไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึง ความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

   (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

   (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

มาตรา 1582 ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

   ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้

 

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541

ข้อ 38 เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอบันทึกเพิ่มเติมหรือแก้ไขรายการต่าง ๆ ในทะเบียน ที่ได้ลงรายการไว้แล้ว ให้นายทะเบียนบันทึกเพิ่มเติมในช่องบันทึกให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ร้อง เรื่องที่ขอให้บันทึก และเอกสารหลักฐาน แล้วให้ผู้ร้องและนายทะเบียนลงลายมือชื่อกำกับไว้โดยไม่ต้องแก้ไขรายการเดิม ทั้งนี้ การบันทึกเพิ่มเติมที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้นายทะเบียนรับบันทึกไว้ เว้นแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามข้อ 41

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. บิดามารดา ต้องไปให้ถ้อยคำที่สถานพินิจ ฯ ด้วย เพื่อทำรายงานประกอบในการพิจารณาคดีของศาล

2. การขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า กรณีอีกฝ่ายยินยอม ต้องทำเป็นคำร้อง

   แต่หากอีกฝ่ายไม่ยินยอม ควรทำเป็นคำฟ้อง เมื่อสามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ ก็นำสัญญา ฯ ไปใช้เปลี่ยนแปลงแก้ไขบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ได้

3. ถ้าไม่มีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 ศาลจะสั่งถอนอำนาจปกครองไม่ได้ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองคนเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5)

 

ค่าบริการว่าความ คดีแก้ไขบันทึกการหย่า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นคำร้อง อีกฝ่ายยินยอม

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
ตัวอย่าง คำสั่งศาล
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.22.xxx]
เมื่อ: 2021-07-07 17:27:15
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ทิพย์ธัญญา ทองอินทร์ [IP: 27.55.86.xxx]
เมื่อ: 2021-10-13 02:37:53
สอบถามปรึกษาเรื่องหย่ากับพ่อของลูกแล้วแต่ฝั่งเค้าบังคับให้เราลงชื่อลูกให้พ่อของเด็กดูแล แต่ความเป็นจริง ช่วยกันดูแลเช่น ลูกเข้าเรียนจะอยู่ฝั่งเค้า ปิดเทอมหรือหยุดยาวจะอยู่ฝั่งเรา แต่พอช่วงโควิด ลูกไม่ได้เรียนแล้วพ่อเค้าก็มีพฤติกรรมที่ไม่เคยเลี้ยงลูกเองและไม่ค่อยเข้าบ้านและมรเรื่องเสพยาเสพติด เราเลยปรึกษาพ่อแล้วได้ไปรับลูกมาเลี้ยงเองเนื่องจากกลัวลูกมีปัญญา ทางพ่อเค้าไม่ได้มีรายได้อ่ะไร นอกจากเบี้ยคนพิการเคยติดคุกคดียาเสพติดมา คนหาเงินส่งไปคือตัวย่าเค้า เพราะลูกอยู่กับเขาเราไม่ส่ง เราเอาลูกมาเลี้ยงเองเขาก็ไม่ส่ง แต่ทางหนูผู้เป็นแม่มีรายได้เป็นหลักเป็นแหล่ง แบบนี้เราจะได้ลูกไหมคะ แต่ลูกช่วงอยู่กับทางเค้าเรามีโอกาสได้คุบกับลูกน้อยมากลูกก็จะถามเราตลอดว่าเเม่จ๋า จะมารับหนูไปอยู่ด้วยตอนไหน หนูอยากไปอยู่กับแม่กับตากับยาย เพราะเขากีดกันและเลี้ยงกันแบบไม่ได้สนใจเด็กเลย แต่ตอนนี้ลูกได้มาอยู่กับเราทางเขาก็ไม่ยอมจะฟ้องเอาคืนและให้คนอื่นเลี้ยง แต่เราไม่ยอมเพราะตอนนี้ลูกเราไม่อยากไปหาฝั่งเขาเเล้ว
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.248.xxx]
เมื่อ: 2021-10-19 07:23:57
ตอบ #2 โดย: ทิพย์ธัญญา ทองอินทร์
สามารถเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ จากพ่อ มาเป็นแม่ ได้
#4 โดย: ทนายธนู [IP: 223.206.219.xxx]
เมื่อ: 2021-11-30 01:15:53
ใบหย่า ระบุว่า มารดามีสิทธิในการปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องการแก้ไข บันทึกการหย่าเป็น ..ปกครองและเลี้ยงดูร่วมกัน..เพื่ออนาคตเด็ก จะต้องดำเนินการอย่างไรคะ..อยากจ้างทนายความดำเนินการให้อะคะ จะทำได้มัยคะ ค่าดพเนินการเท่าไรคะ..รบกวนโทรกลับ..0842911544
#5 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.68.xxx]
เมื่อ: 2022-01-17 16:49:17
ตอบ#4 โดย: ทนายธนู
สามารถทำได้ครับ ตามตัวอย่างคำสั่งศาลในลงไว้
#6 โดย: ศศิชา [IP: 182.232.40.xxx]
เมื่อ: 2022-05-20 20:53:57
ลูกจะไปเรียนต่างประเทศ(กับแม่)แต่ในใบหย่าพ่อเป็นคนปกครองบุตร จะเปลี่ยนให้แม่ปกครองบุตรต้องทำอย่างไรบ้างคะ
#7 โดย: ศศิชา [IP: 182.232.40.xxx]
เมื่อ: 2022-05-20 20:57:01
มารดาอยู่ต่างประเทศไม่สามารถมาได้บิดาจะดำเนินเรื่องเองได้หรือไม่คะ
#8 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.250.xxx]
เมื่อ: 2023-01-15 11:18:58
ตอบ #6 #7 โดย: ศศิชา

ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองต่อศาล เท่านั้น
โดยให้แม่ยื่น สามารถออนไลน์มาจากต่างประเทศ ได้ครับ
#9 โดย: sita [IP: 122.155.46.xxx]
เมื่อ: 2023-04-04 11:04:06
บันทึกท้ายหย่าของสามีกับภรรยาเก่า ระบุว่าจะจ่ายเงินรายเดือนๆ ละ 10,000 บาท ตั้งแต่ปี 52 ปัจจจุบันเกษียณ จะขอปรับลดยอดเงินได้ไหม
#10 โดย: worapong1991 [IP: 182.232.115.xxx]
เมื่อ: 2023-07-17 19:15:36
ถ้าลายเซ็นหนังสือสัญญาการหย่าเกิดมีข้อผิดพลาดละคับทำไงได้บ้างคับช่วยชี้แนะด่วยคับ
#11 โดย: J [IP: 1.47.137.xxx]
เมื่อ: 2024-02-16 20:42:55
ใบหย่าของผมมันถูกปลอมปลอมจนไม่เหลือตราคุรต
ผมว่าผมไปอำเภอดีกว่า
#12 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.34.xxx]
เมื่อ: 2024-03-16 07:19:44
ตอบ #9 โดย: sita

สามารถแก้ไขปรับลด-เพิ่ม ได้ตามความเหมาะสม ครับ
#13 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.34.xxx]
เมื่อ: 2024-03-16 07:20:52
ตอบ #10 โดย: worapong1991
หมายถึงถูกปลอม หรอครับ - กรณีถูกปลอมลายเซ็น สามารถฟ้องเพิกถอนสัญญานั้นๆได้ครับ
#14 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.34.xxx]
เมื่อ: 2024-03-16 07:21:31
ตอบ #11 โดย: J

เช่นเดียวกันครับ - เอกสารที่ถูกปลอม สามารถฟ้องเพิกถอนในคดีแพ่ง และแจ้งความดำเนินคดีอาญา ได้อีก

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,645