คดีลิขสิทธิ์

คดีลิขสิทธิ์

ข้อควรรู้ #ทนายคดีลิขสิทธิ์ThanuLaw

กฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

คำว่าลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวต่อผลงานนั้นๆ ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นประกอบด้วย ทำซ้ำ ดัดแปลง ปรับปรุง พัฒนา เผยแพร่ตามสาธารณชน ขาย ให้เช่า อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามม.4 โดยลิขสิทธิ์จะคุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายกำหนด 

ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ด้วยความรู้ ความสามารถ ความพยายามอุตสาหะ

 

9 ประเภทงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม ม.4 ม.6

   1. วรรณกรรม เช่น #หนังสือ งานนิพนธ์ นิทาน จุลสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ #โปรแกรมคอมพิวเตอร์

   2. นาฎกรรม เช่น ท่าเต้น ท่ารำ เป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้

   3. ศิลปกรรม เช่น

     3.1. จิตรกรรม : ภาพวาด

     3.2. งานประติมากรรม: งานปั้น งานหล่อ(Modling) งานแกะสลัก การประกอบขึ้นรูป

     3.3. งานภาพพิมพ์ : แสตมป์ไปรษณีย์

     3.4. งานสถาปัตยกรรม : ออกแบบอาคาร โมเดลแบบอาคารจำลอง ตกแต่งภายในภายนอกอาคาร

     3.5.#งานภาพถ่าย : ภาพนิ่ง ถ่ายด้วยกล้องบันทึกภาพ

     3.6. งานภาพประกอบ : แผนที่ โครงสร้างของสิ่งของ ภาพร่าง(Sketch) ภาพสามมิติ อันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์

     3.7. ศิลปะประยุกต์เป็นการนำ ข้อ 3.1. – 3.6. อย่างใดอย่างหนึ่งมารวมกันในชิ้นเดียว

     ทั้งนี้ งานตาม 3.1. - 3.7. จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ ก็ได้

   4. ดนตรีกรรม เช่น #เพลง โน้ตเพลง ทำนองและเนื้อร้อง แผนภูมิเพลง

   5. โสตทัศนวัสดุ (เสียงและภาพ) เช่น VCD DVD Karaoke

   6. ภาพยนตร์

   7. สิ่งบันทึกเสียง(เสียงอย่างเดียว) เช่น เทปคาสเซ็ท CD (เทปผีซีดีเถื่อน)

   8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานโทรทัศน์ เช่น รายการเกมส์โชว์ เคเบิ้ลทีวี(ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก) รายการวิทยุ

   9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปะ (กว้างๆ) เช่น Baby paint  แก้วลายมังกร

 

งานอันไม่มีลิขสิทธิ์ ม.6 ว.2 / ม.7

   1. ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

   2. ข่าวประจำวัน ที่เป็นข้อเท็จจริง ส่วนบทความข่าว ภาพถ่ายข่าว , ส่วนการวิเคราะห์ข่าวมีลิขสิทธิ์

   3. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย

   4. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ของรัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่น

   5. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย รายงานของทางราชการ

   6. คำแปลของ ข้อ 2. - 5. ที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐบาล (เอกชนแปล เป็นงานมีลิขสิทธิ์)

   7. งานที่หมดอายุลิขสิทธิ์

   8. งานที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้สละแล้ว

 

ประเภทที่มีคดีมากสุด คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพลง ภาพถ่าย หนังสือ และชิ้นงาน

 

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ ม.8 : งานลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นและได้รับการคุ้มครองทันที เมื่อมีการสร้างสรรค์ผลงานให้ปรากฎ #โดยไม่ต้องจดทะเบียน

 

ใครคือเจ้าของ (สามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้)

1. ผู้สร้างสรรค์

2. จ้างแรงงาน : พนักงานหรือลูกจ้างแต่นายจ้างมีสิทธินำงานออกเผยแพร่ได้ ม.9

3. จ้างทำของ หรือจ้างเหมา : ผู้ว่าจ้าง ม.10

4. จ้างโดยหน่วยงานของรัฐ : รัฐ ม.14

5. งานดัดแปลง รวบรวม ม.11 ม.12

6. การรับโอน (นิติกรรม) โดยกำหนดระยะเวลาหรือตลอดอายุ ก็ได้ ถ้าไม่ได้กำหนดมีอายุ 10 ปี ม.17

7. รับโอนทางมรดก

 

การจดแจ้ง : กรมทรัพย์สินทางปัญญา DIP ได้จัดให้มีการบริการ “รับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์” ลข.01 ขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลในการติดต่อขออนุญาตใช้ผลงาน ได้ที่สำนักลิขสิทธิ์

ประโยชน์ในการจดแจ้ง : เป็นหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งาน (ในทางศาลจะได้เปรียบ) และใช้เอกสารรับรองเพื่อการลงทุน ได้อีก

   ทั้งนี้การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ใช่เป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของที่แท้จริง

   การจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เป็นเพียงหลักฐานที่ใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นเท่านั้น การจดแจ้งมิใช่หลักฐานที่แสดงว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อย่างใด อ้างอิง ฎ.8824/2558

 

การคุ้มครองในต่างประเทศ : เป็นไปตามความตกลงระหว่างระหว่างด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่ประเทศเป็นภาคี

1. อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works, as amended by 1979)

2. ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS ; Agreement on Trade - Related Aspects of Intellectual Property Rights)

 

อายุการคุ้มครอง ม.19 – ม.23

1. บุคคลธรรมดา = ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ + 50 ปีนับแต่ตาย(มีหลายคนให้นับจากคนสุดท้าย)

2. นิติบุคคล รวมถึงหน่วยงานของรัฐ = 50 ปีนับแต่วันสร้างสรรค์

3. ศิลปะประยุกต์ = 25 ปีนับแต่วันสร้างสรรค์

4. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง และงานแพร่เสียงแพร่ภาพ = 50 ปีนับแต่สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นหรือโฆษณาเป็นครั้งแรก

5. เมื่อสิ้นสุด จะตกเป็นของสาธารณะ

 

การละเมิด (ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ) ม.27 - ม.31

1.1. ทำซ้ำดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารชน

1.2. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน

1.3. จัดให้ประชาชนฟังหรือชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า ม.28

1.4. ขาย ให้เช่า แจกจ่าย(ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของ) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ม.31

 

ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ม.32

1.1. วิจัยหรือศึกษางาน โดยไม่แสวงหากำไร

1.2. ใช้เพื่อประโยชน์ตัวเอง ครอบครัว หรือญาติสนิท

1.3. ติชม วิจารณ์ โดยมีการรับรู้ถึงเจ้าของ

1.4. เสนอรายงานข่าว

1.5. ใช้ในการพิจารณาของศาล

1.6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง โดยผู้สอนหรือสถาบัน เพื่อใช้ในการสอน แจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนโดยไม่แสวงหากำไร

1.7. ใช้ในการถามตอบในข้อสอบ

1.8. ทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ม.34

1.9. งานนาฎกรรมหรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารชน ไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อหากำไร ไม่ได้จัดเก็บค่าเข้าชมโดยทางตรงหรือทางอ้อม นักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทน มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ม.36

1.10. งานศิลปกรรม วาดเขียน ถ่ายภาพ แกะสลัก ภาพยนตร์ ซึ่งตั้งในที่เปิดเผยประจำ ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

   ทั้งนี้หลัก Fair use ใช้โดยไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของ และไม่กระทืบกระเทือนสิทธิถึงเกินไป

 

โทษของการละเมิดทางอาญา

ม.69 ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ตาม ม.27 ม.28 ม.29 ม.30 หรือสิทธิของนักแสดง ม.52 มีโทษปรับ 20,000 – 200,000 บาท

   หากทำเพื่อการค้าแสวงหากำไร จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม.69/1 ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โทษจำคุก 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับ 100,000 – 800,000 บาท ไม่ได้ใช้เพื่อการค้า ปรับ 10,000 – 100,000 บาท

ม.70 ขาย ให้เช่าเผยแพร่ แจกจ่าย นำหรือสั่งเข้ามาในประเทศ ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท

   ทำเพื่อการค้าแสวงหากำไร โทษจำคุก 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับ 50,000 – 400,000 บาท ไม่ได้ใช้เพื่อการค้า ปรับ 10,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม.71 ไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารให้ โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม.73 เพิ่มโทษ 2 เท่า หากพ้นโทษมายังไม่ครบกำหนด 5 ปี

 

และต้องรับผิดทางแพ่งด้วย ตามค่าเสียหายที่ศาลกำหนดหรือทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันเอง

 

ข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่สำคัญ

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

   "ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

   "ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

   "วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

   "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด

   "นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวและให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

   "ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

   (1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วย เส้น แสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

   (2) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

   (3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

   (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง

   (5) งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนส์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น

   (6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่างหรืองานสร้างสรรค์ รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

   (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

   ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

   "ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลง หรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลง หรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

   "โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

   "ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ นั้นด้วย ถ้ามี

   "สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของดนตรี เสียง การแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

   "นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่ง แสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด

   "งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีการอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

   "ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำ แม่พิมพ์บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนาหรือจากการโฆษณา ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึงคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

   "ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

   (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรมหรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่

   (2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึง ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่

   (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่ มิใช่นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่าในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน

   (4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่ เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ

   (5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับ เรียบเรียงเสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่

   "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดงการบรรยาย การสวด การบรรเลงการทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

   "การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูปหรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนาจำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดงหรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยาย หรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพเกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม

   "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

   "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย

   "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์

   "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรมศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด

   การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

   (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดีแผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

   (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

   (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือตอบโต้ของ กระทรวง ทบวง กรมหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

   (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

   (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

มาตรา 8 ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

   (1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งาน นั้น

   (2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักร หรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางาน ดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้ มีลักษณะตามที่กำหนด ไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางาน ครั้งแรก

   ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ใน งานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งการจ้างแรงงานนั้น

 

การคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรา 15 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียว ดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

(4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้

   การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

เหตุละเมิด

มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์

(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

 

ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา  ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

มาตรา 32/1 การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา 32/2 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำหรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำที่จำเป็นต้องมีสำหรับการนำสำเนามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการส่งงานอันมีลิขสิทธิ์ทางระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 

อายุความฟ้องคดี

แพ่ง : มาตรา 63 ห้ามมิให้ฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเมื่อพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง

อาญา : เป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 96 ที่ได้กำหนดให้ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเองภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ

 

บทกำหนดโทษ

มาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท

   ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็น การกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 800,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 70 ผู้ใดกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท

   ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 400,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 71 ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ตามที่คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการสั่งตามมาตรา 60 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 73 ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนด 5 ปีกระทำความผิด ต่อพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 74 ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็น ผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

มาตรา 75 บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามพระราชบัญญัติ นี้ และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 69 หรือมาตรา 70 ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ ในการกระทำความผิดให้ ริบเสียทั้งสิ้น

มาตรา 76 ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษา ให้จ่ายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของนักแสดง ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกิน จำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของ นักแสดงได้รับแล้วนั้น

มาตรา 66 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 272 ผู้ใด

   (1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น

   (2) เลียนป้าย หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันจนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง

   (3) ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของผู้หนึ่งผู้ใด โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน

   ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา 275 ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) หรือสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามความในมาตรา 273 หรือมาตรา 274 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : งานอันมีลิขสิทธิ์ ต้องเกิดมาจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง จึงจะถือเป็นผู้สร้างสรรค์ตาม มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533

   พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้น และมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่า หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานผู้อื่น ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอดรูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง

 

ประเด็น : การเขียนบทความที่อาศัยความวิริยะ อุตสาหะ ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551

   บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

   กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์

   จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด

 

ประเด็น : ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม ม.10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2543

   บริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นกรรมการ ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ว่าจะเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 อันถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการนั้นเสมอไป ต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นเป็นการกระทำในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือไม่ด้วย

   เมื่อสัญญาว่าจ้างถ่ายแสดงแบบมิได้ระบุห้ามจำเลยที่ 2 มิให้บันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ในรูปแบบอื่นนอกจากเป็นม้วนเทปวีดีโอไว้โดยชัดแจ้งและสัญญาว่าจ้าง ข้อ 3 กำหนดให้ลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานครั้งนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2จึงมีสิทธิในงานบันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ดังกล่าวอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 6 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะนำงานนั้นมาทำซ้ำหรือบันทึกภาพของโจทก์ดังกล่าวซ้ำในรูปแบบของม้วนเทปวีดีโอหรือแผ่นซีดีหรือแผ่นเลเซอร์ดิสก์อย่างหนึ่งอย่างใดออกจำหน่ายได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15(1) การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่เป็นการผิดสัญญาว่าจ้าง และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

   จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายม้วนเทปวีดีโอ แผ่นซีดีและแผ่นเลเซอร์ดิสก์นั้น ก็เป็นการจัดจำหน่ายสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว

 

ประเด็น : แต่เพียงการรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกัน ไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528/2546

   ผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์จากการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะในระดับหนึ่งโดยมิใช่เป็นการลอกเลียนงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จัดทำเอกสารเพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยลอกเลียนมาจากแคตตาล็อกของบริษัท พ. ทั้งหมด เพียงจัดเรียงองค์ประกอบให้สวยงามขึ้นเท่านั้น โจทก์มิได้ใช้ความริเริ่มของตนเองเพียงพอจนเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดงานรวบรวมขึ้นจึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ ดังนั้น แม้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำแคตตาล็อกมาจัดทำเป็นส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการเสนอราคาของจำเลยต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน โดยที่บริษัท พ. ไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้เพราะจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท พ. ซึ่งหากเป็นการไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท พ. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

 

ประเด็น : สถาบันกวดวิชาที่คิดค้นวิธีทำสูตรคณิตศาสตร์ ให้หาคำตอบได้รวดเร็วขึ้น และจัดทำเป็นรูปเล่ม ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557

   การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น

   ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

 

ประเด็น : Copy โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วนำออกจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6802/2553

   ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐได้ตรวจเปรียบเทียบคุณสมบัติเฉพาะระหว่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายกับของจำเลยทั้งสามที่พิพาทกันในคดีนี้สรุปความเห็นและจัดทำรายการไว้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 ชุด มีชื่อแฟ้มข้อมูลที่ตรงกัน และมีรายงานย่อยที่มีความเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากทั้งงานส่วนการออกแบบหน้าจอ ชื่อตัวแปรและหมายเหตุ คำอธิบาย รหัสต้นฉบับ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากต้นตอเดียวกัน เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปทำซ้ำดัดแปลงแฟ้มข้อมูล รายงานย่อย หน้าจอชื่อตัวแปรและหมายเหตุ รหัสต้นฉบับ ในส่วนสาระสำคัญแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกลาง นำออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายจริง

 

ประเด็น : ต่างคนต่างสร้างสรรค์งาน โดยไม่ได้ลอกเลียนกัน ถือว่าต่างคนต่างมีลิขสิทธิ์ในงานที่ทำขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2551

   ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน

 

ประเด็น : สินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จะต้องถูกริบให้ตกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8351/2547

   เสื้อยืดของกลางเป็นทรัพย์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งจำเลยนำออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป โดยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ต้องพิพากษาให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เสื้อยืดของกลางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดและพิพากษาให้ริบของกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบ

 

ประเด็น : หลักเกณ์พิจารณาความเสียหาย ต้องมาจากความเสียหายที่เกิดจากสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลกำไรจากการโดนละเมิดลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7206/2542

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำ โฆษณาและนำออกจำหน่ายเพื่อการค้าซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายทางการค้า จึงเท่ากับโจทก์อ้างว่า การกระทำของจำเลยซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นประกอบด้วยการทำซ้ำและการนำออกจำหน่ายเพื่อการค้าดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงในปัญหาว่าการกระทำซ้ำของจำเลยต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ จึงยังไม่ถูกต้อง ต้องวินิจฉัยด้วยว่าการที่จำเลยนำออกจำหน่ายเพื่อการค้าซึ่งเทปเพลงของกลางทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทางการค้าหรือไม่

   ความเสียหายจากการขาดรายได้ที่โจทก์จะได้รับเมื่อจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการนำเทปเพลงที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ออกจำหน่าย ย่อมเป็นความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลกำไรจากการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนออกจำหน่ายเท่านั้น หาใช่ความเสียหายที่คิดคำนวณจากราคาจำหน่ายเทปเพลงแต่ละม้วนซึ่งได้รวมต้นทุนการผลิตเอาไว้ด้วยแต่อย่างใดไม่

 

ประเด็น : งานภาพถ่าย ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ ก็ถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรม การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5422/2561

   งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานภาพถ่ายนั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายไว้มีใจความว่า

   งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนส์ไปยังฟิล์มหรือกระจกและล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้นหรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น ทั้งนี้ไม่ว่างานภาพถ่ายนั้น จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้ความหมายรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย ดังนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าว งานภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ ก็ถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรม ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพหรือการถ่ายภาพซึ่งการถ่ายภาพจนทำให้เกิดมีภาพดังกล่าวขึ้นมานั้น ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ภาพโดยมีการใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ตามสมควรแก่ลักษณะงานภาพถ่ายนั้นอาจเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานภาพถ่ายตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

   โจทก์ได้นำภาพที่โจทก์จัดทำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ในนามแบรนด์เครื่องสำอางซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ charisny”โดยใช้ในการโฆษณาออกทางสื่อต่างๆ จำเลยทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แล้วจำเลยและผู้สั่งผลิตสินค้ากับจำเลยนำภาพที่ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประกอบการวิจารณ์ (รีวิว) ผลการใช้สินค้าประเภทเครื่องสำอางของจำเลยและของผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลยในสื่อสังคมออนไลน์ในโปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า Facebook เพื่อให้ประชาชนผู้พบเห็นข้อความใน Facebook เข้าใจว่ารูปภาพของโจทก์เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยหรือของผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลย ทั้งนี้จำเลยเป็นผู้อนุญาตให้ผู้สั่งผลิตภัณฑ์สินค้ากับจำเลยสามารถใช้ภาพที่จำเลยทำซ้ำหรือดัดแปลงประกอบในการวิจารณ์ (รีวิว) ผลการใช้สินค้าประเภทเครื่องสำอางของผู้สั่งสินค้ากับจำเลยนั้น อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4 (1) ที่แก้ไขใหม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า ภาพตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และการกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) และพิพากษายกฟ้องของโจทก์โดยยังไม่ได้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบ

 

ประเด็น : ใช้งานเกินระยะเวลาได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ถือเป็นการละเมิด มีโทษทางอาญาด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2549

   จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เผยแพร่งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมได้ถึงวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวิดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง มิใช่เป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น

 

ประเด็น : แอบถ่ายในโรงภาพยนต์ จำคุก ไม่รอลงอาญา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6576/2551

   ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน... ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้... ก็ได้" ดังนั้น การที่ศาลจะรอการกำหนดโทษจำเลยได้นั้นต้องปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีโทษจำคุก เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 (1) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง คือ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทโดยไม่มีโทษจำคุก ดังนั้น การกระทำความผิดของจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงจึงเป็นความผิดที่ไม่อาจรอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรกได้

 

ประเด็น : ทำคลิปโป้ ถือเป็นการผิดศีลธรรมในไทย จึงไม่ถือเป็นการอันมีลิขสิทธิ์ เผยแพร่ ทำซ้ำ ทำขาย ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530

   ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง

   วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยไม่ริบวีดีโอเทปดังกล่าวได้

 

ประเด็น : การละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องเป็นไปเพื่อหากำไร หรือการค้า ตามมาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553

   ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. คดีลิขสิทธิ์เป็นคดีที่ยอมความได้ทุกกรณี ตามมาตรา 66

2. ความเป็นเจ้าของสิทธิ์จะต้องชัดเจน

3. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีเขตอำนาจทั่วประเทศ

 

ถาม - ตอบ คดีลิขสิทธิ์

1. การจะได้ความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องจดทะเบียนไหม

ตอบ : กฎหมายให้ความคุ้มครองอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่การจะเรียกร้องสิทธิ์จำเป็นจะต้องมีหลักฐานการเป็นผู้สร้างสรรค์งาน ผู้รับโอนลิขสิทธิ์ หรือการได้รับลิขสิทธิ์โดยวิธีอื่น

   ข้อแนะนำ ควรไปจดแจ้งข้อมูลไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะดีกว่า ตาม Link นี่เลย https://copyright.ipthailand.go.th/search

   ตรวจสอบข้อมูลลิขสิทธิ์ https://music.ipthailand.go.th/song

   อัตราค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง (ราคากลาง) ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของกรมฯ

 

2. Cover เพลง ผิดกฎหมายไหม

ตอบ : ถ้าไม่ได้รับอนุญาต ผิดทั้งนั้นแหละ อาจถูกฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่โดนหรอก เพราะถือเป็นการช่วยPromoteเพลงช้องทางหนึ่ง

 

ค่าบริการว่าความ คดีลิขสิทธิ์

รูปแบบคดี

ราคาเริ่มต้น

 ♦ ยื่นฟ้อง ร้องทุกข์

-X-

 ♦ ต่อสู้คดี ไกล่เกลี่ย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.244.xxx]
เมื่อ: 2022-10-02 13:15:43
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,827