คำร้อง ขอศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำร้อง ขอศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

   ข้อ 1. ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายธนู กุลอ่อน เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน รายละเอียดปรากฎตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1

   คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งตามคำร้องฉบับนี้ เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด รายละเอียดปรากฎตามหนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2

   ข้อ 2. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ผู้ร้องกับคู่พิพาท ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เมื่อถึงกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา ปรากฎตามคู่พิพาท ยังก่อสร้างห้องชุดไม่แล้วเสร็จ ผู้ร้องจึงได้บอกเลิกสัญญา และเรียกเงินคืน แต่คู่พิพาทไม่ปฏิบัติตาม

   เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับคู่พิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นผู้เรียกร้อง และคู่พิพาทในฐานะเป็นผู้คัดค้าน ขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้คู่พิพาท ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 800,000 นับแต่วันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้ผู้ร้องเสร็จสิ้น

   คู่พิพาทได้ยื่นคำคัดค้าน ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา

   อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาด ดังต่อไปนี้

   1 ให้ผู้คัดค้าน ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 800,000 นับแต่วันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้ผู้เรียกร้องเสร็จสิ้น

   2 ให้ผู้คัดค้าน ชดใช้ค่าป่วยการอนุญาตโตตุลาการ จำนวน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท และค่าทนายความ แทนผู้เรียกร้องจำนวน 10,000 บาท

   รายละเอียดปรากฎตามสำเนาคำชี้ขาดดอนุญาโตตุลาการ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3

   สถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่คู่กรณีทุกฝ่ายรับทราบแล้ว แต่คู่พิพาทไม่ชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ภายในเวลาที่กำหนด แต่อย่างใด

   ข้อ 3. อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น ขอศาลได้โปรดนัดไต่สวนคำร้องและมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้ชำระเงินให้ผู้คัดค้าน ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 800,000 นับแต่วันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้ผู้เรียกร้องเสร็จสิ้น ให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าป่วยการอนุญาตโตตุลาการ จำนวน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท และค่าทนายความ แทนผู้เรียกร้องจำนวน 10,000 บาท

   อนึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และ มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เนื่องจากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลนี้ ผู้ร้องจึงได้นำข้อพิพาทมายื่นต่อศาลนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งต่อไป

        ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ                         ผู้ร้อง  

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายผู้ร้อง เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ                         ผู้เรียงและพิมพ์

 

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

มาตรา 42 เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าวให้รีบทำการไต่สวน และมีคำพิพากษาโดยพลัน

   ผู้ร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ มาแสดงต่อศาล

   (1) ต้นฉบับคำชี้ขาด หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

   (2) ต้นฉบับสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือสำเนาที่รับรองถูกต้อง

   (3) คำแปลเป็นภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตัวแล้วหรือปฏิญาณตนต่อหน้าศาลหรือต่อหน้าเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่มีอำนาจในการรับคำสาบาน หรือปฏิญาณหรือรับรองโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการรับรองคำแปล หรือผู้แทนทางการทูตหรือกงสุลไทยในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดหรือสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น

 

มาตรา 9 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้

 

ตัวอย่าง ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9691/2554

   สิทธิเรียกร้องของคู่พิพาทฝ่ายชนะคดีที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากคู่พิพาทฝ่ายแพ้คดีเป็นสิทธิเรียกร้องที่จะพึงโอนกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง การที่บริษัท บ. คู่พิพาทฝ่ายชนะคดีทำหนังสือ ขอโอนสิทธิการรับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องตกลงชำระค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิการรับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นสัญญาการโอนหนี้อันผู้คัดค้านจะพึงต้องชำระแก่บริษัท บ. โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อมีการแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทราบแล้ว จึงถือว่าบริษัท บ. และผู้ร้องได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 306 บัญญัติแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงตกเป็นของผู้ร้อง ที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะได้ทำขึ้นในประเทศใดให้ผูกพันคู่พิพาท และเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น" และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาล..." นั้น คำว่า "คู่พิพาท" ตามบทมาตราดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะคู่สัญญาในสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้นแต่หมายรวมถึงผู้ที่สืบสิทธิตามสัญญาทั้งโดยผลของกฎหมายและโดยผลของสัญญาด้วย


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,656