โกงเจ้าหนี้

คดีโกงเจ้าหนี้ #ทนายคดีโกงเจ้าหนี้ThanuLaw

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่น ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

การใช้สิทธิฟ้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้

: โดยจะต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษ ก่อให้เจ้าหนี้ต้องเสียหายอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการะชำระหนี้บางส่วนหรือบางส่วน

: หากเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล จะต้องมีการแจ้งให้ชำระหนี้ (ส่งNotice) หรือใช้สิทธิเรียกร้องก่อน

 

เขตอำนาจศาล : ศาลแขวง

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. คำพิพากษาของศาล หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด หมายบังคับคดี บัญชีค่าฤชาธรรมเนียมศาล

2. คำขอ คัดสำเนาเอกสารโฉนดที่ดิน และถ่ายระวางแผนที่

3. บันทึกการประเมินราคาทรัพย์สิน

4. โฉนดที่ดิน

5. หนังสือสัญญาขายที่ดิน

6. หนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ (โนติส)

7. หนังสือมอบอำนา (ถ้ามี)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : หากมีการแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องส่งNotice

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2561

   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืน โดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)

 

ประเด็น : เป็นชู้ ก็ถูกฟ้องโกงเจ้าหนี้ได้ หนี้เริ่มทันทีที่เป็นชู้กับสามีภริยาชาวบ้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8774/2550

   ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

 

ประเด็น : หากยึดทรัพย์อื่นแล้ว มีเงินเหลือชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วน แม้ลูกหนี้จะโอนทรัพย์สินอื่น ก็ไม่ถือเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2562

   เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

 

ประเด็น : อายุความ 3 เดือนนับแต่รู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2560

   โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารตามฟ้องให้กับบริษัท พ. เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แม้การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับคำฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้

 

ประเด็น : หนี้ที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ หากในคดีแพ่งศาลพิพากษายกฟ้อง แล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6188/2562

   หนี้ที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจําเลยที่ 1 ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ คือหนี้ที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จําเลยที่ 2 โดยจําเลยทั้งสองมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของโจทก์ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคดีดังกล่าวศาลฎีการับฟังว่าโจทก์จดทะเบียนให้จําเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอีกกึ่งหนึ่งให้แก่จําเลยที่ 1 ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เพราะถูกจําเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโจทก์ยืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผลของคําพิพากษาศาลฎีกาทำให้โจทก์กับจําเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจําเลยที่ 1 ที่โอนที่ดินให้แก่จําเลยที่ 2 ขาดองค์ประกอบ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จําเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้อง

 

ประเด็น : ลูกหนี้ที่ยกเลิกการล้มละลาย แต่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ก็ถือว่าผูกพัน จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563

   ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายความถึง เจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงไม่ใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350

   ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ.มาตรา 350  ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตน ... ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คำว่า “เจ้าหนี้ของตน” หมายถึงเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้คนอื่นของจำเลยซึ่งมิได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย

 

ประเด็น : คดีโกงเจ้าหนี้ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมทางแพ่ง และละเมิดเรียกค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563

   เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว

   โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง

   ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ.

   ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน

   ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

 

ประเด็น : หนี้ละเมิดที่ยังไม่แน่นอน ไม่ถือว่าเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2539

   แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3 กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ผู้รับโอน หากสมรู้ร่วมคิดกันกับลูกหนี้ ถือว่ามีความผิดร่วมด้วย ฎ.143/2517

2. โจทก์ต้องพิสูจน์ด้วยว่า "ไม่พบทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้" ที่จะยึดบังคับคดีได้อีกแล้ว (เป็นข้อต่อสู้ของจำเลยได้)

 

ค่าจ้างว่าความ คดีโกงเจ้าหนี้

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ฟ้อง / ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

    

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 122.155.46.xxx]
เมื่อ: 2021-01-18 14:07:28
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: A [IP: 124.120.218.xxx]
เมื่อ: 2021-11-06 18:09:30
1.ถูกบังคับคดียึดห้องชุดติดจำนอง ประกาศขายทอดตลาดแล้ว ราคาประเมิน 360,000
2.เราขายห้องชุดให้กับญาติในราคา 300,000 เพื่อชำระหนี้ให้โจทย์ตามคำพิพากษา และเพื่อไถ่ถอนจำนอง ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ให้กับญาติ แต่เรายังมีหนี้ตามกฎหมายกับเจ้าหนี้รายอื่น
คำถาม
1.กรณีนี้เจ้าหนี้รายอื่นจะฟ้องโกงเจ้าหนี้ได้หรือไม่?
2.เจ้าหนี้รายอื่นจะสืบได้หรือไม่ว่าเราไม่มีเจตนาแอบแฝง
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.66.xxx]
เมื่อ: 2023-05-06 17:16:11
ตอบ #2 โดย: A

1. ฟ้องได้ครับ เพราะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบ
2. ไม่จำเป็นต้องสืบ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,892