กฎหมายการบังคับคดีขับไล่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 296 ทวิ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ ขับไล่ หรือต้องออกไปหรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครอง ถ้าลูกหนี้ตาม คำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว

    เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้

มาตรา 296ตรี ถ้าทรัพย์ที่ต้องจัดการตามคำสั่งศาลนั้นไม่มีบุคคลใดอยู่อาศัย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจมอบทรัพย์นั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองได้ทันที และถ้ามีความจำเป็นให้มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางอัน เป็นอุปสรรคในการที่จะจัดการให้เข้าครอบครองได้ตามสามควร

    ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ายังมีสิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือของบุคคลใดอยู่ในทรัพย์ดังกล่าวนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการมอบให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารักษาไว้ หรือจัดการ ขนย้ายไปเก็บรักษา ณ สถานที่ใดโดยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ ในการนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชี สิ่งของไว้และแจ้งหรือประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารับคืนไป ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่รับสิ่งของนั้นคืนภายในเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยได้รับอนุญาตจากศาล มีอำนาจขายทอดตลาดสิ่งของนั้นแล้วเก็บรักษาเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้แทนสิ่งของนั้น

    ในกรณีที่สิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือของบุคคลใดที่อยู่ในทรัพย์ตามวรรคสองมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะขายได้ทันที โดยวิธีขายทอดตลาด หรือวิธีอื่นที่สมควร

    ในกรณีสิ่งของนั้นถูกยึดหรืออายัดในการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจย้ายสถานที่เก็บรักษาตามที่เห็นสมควร ค่าใช้จ่ายในการนี้ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกบังคับคดีเป็นผู้เสีย

มาตรา 296จัตวา ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

    (1) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารดังกล่าวนั้น และศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีนี้ให้นำ มาตรา 300 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

    (2) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบริวารตาม (1) แล้ว หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารหลบหนี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ มาตรา 296ตรี โดยอนุโลม

    (3) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

    บุคคลที่เข้ามาอยู่อาศัยในทรัพย์นั้นในระหว่างที่เจ้าพนักงานบังคับคดี จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครอง ให้ถือว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

มาตรา 296เบญจ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทรัพย์นั้นด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น และให้มีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนนั้นด้วย ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสีย

    ในการรื้อถอน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณนั้นไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนนั้น

    เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ เว้นแต่จะได้กระทำโดยมีเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

    วัสดุก่อสร้างที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนย้ายออกจากสิ่งปลูกสร้าง ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้รับคืนไปเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจเก็บรักษาไว้ หรือขายแล้วเก็บเงินสุทธิไว้แทน ตัวทรัพย์นั้น ถ้าเจ้าของมิได้เรียกเอาทรัพย์หรือเงินนั้นภายในกำหนด 5 ปี นับแต่มีประกาศกำหนดการรื้อถอนให้ทรัพย์หรือเงินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน

    ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างนั้นถูกยึดในการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทอดตลาดสิ่งปลูกสร้างนั้น แล้วเก็บเงินสุทธิที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมไว้แทน

มาตรา 296ฉ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงาน บังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวและทดรองค่าใช้จ่าย ในการนั้น

มาตรา 296สัตต ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามมาตรา 296ตรี มาตรา 296จัตวา (3) และมาตรา 296เบญจ เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่าย ปกครอง หรือตำรวจเพื่อให้สามารถดำเนินการตาม มาตรา 296ตรี มาตรา 296จัตวา(3) และ มาตรา 296เบญจ ได้ และในการนี้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ ขัดขวางไว้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี

มาตรา 297 ภายใต้บังคับ มาตรา 296ทวิ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือคำสั่งขอให้มีการบังคับได้ล่วงพ้นไปจนถึงเวลาที่การบังคับคดี ได้เสร็จสิ้นลง ขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี

    ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตตามคำขอนั้น เว้นแต่จะเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานซึ่งผู้ร้องนำมาสืบที่ศาลเรียกมาสืบว่า

(1) ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสามารถที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ ถ้าได้กระทำการโดยสุจริต และ

(2) ไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้

มาตรา 298 เมื่อมีคำขอให้จับตัวลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเหตุจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาล

    ถ้าได้ออกหมายเรียกตามวรรคหนึ่งแล้ว ลูกหนี้นั้นไม่มาศาล และมิได้แจ้งเหตุอันสมควรในการที่ไม่มาให้ศาลทราบ หากศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับหมายเรียกแล้ว ศาลจะออกหมาย จับลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้หรือถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาล แต่แสดงเหตุอันสมควรในการปฏิบัติตามคำบังคับมิได้ ศาลมีอำนาจสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นทันที หรือตั้งแต่วันใดวันหนึ่งที่ ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษายังคงขัดขืนอยู่ จนถึงวันนั้น

    ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้รับหมายเรียก หรือได้แจ้งเหตุ อันสมควรต่อศาลในการที่ไม่มานั้น ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณา คำขอนั้นไปแต่ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลีกเลี่ยงไม่ รับหมาย ศาลจะออกหมายจับตามที่ขอทันทีก็ได้

    ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลและแสดงเหตุอันสมควรได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำขอหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

    ในกรณีเหล่านี้ ศาลมีอำนาจที่จะทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควร และลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมนำพยานมาสืบแก้ได้

มาตรา 299 การจับและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม มาตรา 296จัตวา และ มาตรา 298 และการจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวาง ตามมาตรา 296สัตต ไม่ตัดสิทธิที่จะดำเนินคดีในความผิดอาญา

มาตรา 300 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกจับกุมโดยเหตุจงใจ ขัดขืนคำบังคับจะต้องถูกกักขังไว้จนกว่าจะมีประกัน หรือประกัน และหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรกำหนดว่าตนยินยอม ที่จะปฏิบัติตามคำบังคับทุกประการ แต่ทั้งนี้ ห้ามไม่ให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้ง เกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี

    ในกรณีที่ผิดสัญญาประกัน ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกัน หรือตามจำนวนเงินที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องผู้ทำสัญญาประกัน

มาตรา 301 ในกรณีที่ศาลยอมรับบุคคลเป็นประกัน และบุคคล นั้นจงใจขัดขวางการบังคับคดีหรือร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับให้นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 297 มาตรา 298 มาตรา 299 และ มาตรา 300 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 302 ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้คือศาลที่ได้พิจารณา และชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น

    ถ้าศาลอุทธรณ์ได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม มาตรา 243 (2) และ(3) ให้ศาลที่มีคำพิพากษาหรือ คำสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเว้นแต่ศาลอุทธรณ์ จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

    ในกรณีที่ศาลได้ออกหมายบังคับคดีส่งไปให้อีกศาลหนึ่งบังคับคดีแทนให้ส่งทรัพย์ที่ยึดได้หรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่ออกหมาย เพื่อดำเนินการไปตาม กฎหมาย


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,106