ตรวจดีเอ็นเอ DNA

การตรวจสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ DNA ในคดีฟ้องให้บิดารับรองบุตร

มีระเบียบและเป็นวิธีการตรวจทางวิทยาศาสตร์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160

หลักการ : มีการตรวจในระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม โดยต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวด้วย เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมหรือปฏิเสธ โดยไม่มีเหตุอันสมควร กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่อีกฝ่ายกล่าวอ้าง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อฝ่ายที่ไม่ยินยอม

 

ขั้นตอน

1. คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

2. ยื่นคำร้องขอต่อศาลว่าต้องการขอให้มีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA

3. คู่กรณีทุกฝ่ายต้องให้ความยินยอม หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอม ศาลก็บังคับไปตรวจไม่ได้

4. พ่อเสียชีวิตแล้ว จะต้องขอตรวจกับญาติของพ่อ เช่น ปู่ย่า อา หรือลูกของพ่อ 

 

ค่าบริการตรวจ : เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น เช่น ร.พ.รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น ค่าตรวจคนละ 5,000 - 8,000 บาท อาจตรวจเพียงพ่อกับลูก หรือตรวจทั้งพ่อแม่ลูก ก็ได้

 

เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่

1. บัตรประชาชน

2. Passport (สำหรับชาวต่างชาติ)

3. ทะเบียนบ้าน

4. สูติบัตรบุตร

5. หนังสือคำสั่งศาล

 

วิธีการเก็บตัวอย่าง : ป้ายเยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือเจาะเลือด

 

ระยะเวลานัดฟังผล : ประมาณ 1 - 2 เดือน

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ให้สันนิษฐานเป็นโทษแก่ฝ่ายนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10767/2558

   การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ตรวจพิสูจน์หาสารประกอบทางพันธุกรรมแล้วเห็นว่า กรณีจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ. หรือไม่ จึงได้มีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 แม้การตรวจพิสูจน์บุคคลตามที่ศาลมีคำสั่ง บุคคลที่ถูกศาลสั่งจะไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ก็ได้ แต่ตามมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ยินยอมและไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์มาโดยตลอด จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ข้ออ้างตามทางไต่สวนของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่กล่าวมาจึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ผู้ร้องได้รับประโยชน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ.

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 13689/2555

   ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ร้อง เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องได้คัดค้านและไม่ยินยอมให้ตรวจ ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคำร้อง คำสั่งศาลดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตามคำร้องของผู้คัดค้านซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล กรณีมิใช่ศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แล้วผู้ร้องไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์อันจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง

 

ประเด็น : แต่หากศาลยังไม่ได้มีคำสั่ง จะผลข้อสันนิษฐานมาเป็นผลร้ายแก่ฝ่ายที่ไม่ยินยอม ยังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2558

   ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า "รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์" การที่เมื่อถึงวันตรวจ จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมไปตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วศาลล่างทั้งสองนำบทข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมาบังคับใช้นั้นไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคสาม เนื่องจากการจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการตรวจเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นได้ ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้ไปตรวจเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงรับคำร้อง รับคำคัดค้านและสำเนาให้อีกฝ่าย ยังมิได้มีคำสั่งเลยว่าให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ธ. ไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานเป็นผลร้ายตามมาตรา 160 วรรคสาม มาใช้บังคับในคดีได้

 

ประเด็น : ค่าใช้จ่ายในการตรวจอีเอ็นเอ คดีฟ้องรับรองบุตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม ผู้แพ้คดีมีหน้าที่ต้องจ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2558

   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคท้าย ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่ โดยหากศาลไม่มีดุลพินิจเป็นประการอื่นก็ต้องสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุด ตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 167 วรรคหนึ่ง การที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี โดยให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้ในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งด้วย สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า "ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวนี้ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ แต่ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแทนโจทก์ จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

   ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนแก่จำเลย

 

ประเด็น : ไม่ได้ตรวจกับบิดา คู่ความสามารถปฏิเสธได้ ไม่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

   พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

มาตรา 160 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอํานาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดําเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สําคัญแห่งคดี ทั้งนี้ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้

   ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย

   หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทําการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น

   ให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสั่งตามมาตรานี้ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกําหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 128/1 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

    ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้

    ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร  ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้

    ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง

    ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161

 

ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้

    ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161

    ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 นี้ เป็นการตรวจพยานหลักฐานโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นคู่ความ แต่ไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างส่วนประกอบจากร่างกายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง แต่ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจเป็นบุคคลอื่นมิใช่คู่ความ แล้วบุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อคดีและไม่เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าว

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. หากไม่แน่ใจไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ไม่มีข้อห้ามว่าห้ามตรวจซ้ำอีก เพียงแต่อาจร้องขอหรือว่าจ้างให้หน่วยงานแห่งอื่นตรวจใหม่ได้ แต่วิธีการตรวจถ้าให้ชัดเจนควรตรวจอย่างน้อย 2 แห่ง และทั้ง บิดา มารดา บุตร ควรไปตรวจพร้อมกัน

2. กรณีบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจเป็นบุคคลอื่น ที่มิใช่คู่ความ แล้วบุคคลนั้นไม่ยินยอม ก็ไม่มีผลต่อคดีและไม่เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าว

 

ตัวอย่างคำสั่งศาลให้ตรวจดีเอ็นเอ

 

#1 โดย: admin [IP: 171.4.43.xxx]
เมื่อ: 2020-08-12 13:24:59
สอบถามค่ะ ตอนแรกฝ่ายบิดาต้องการตรวจ DNA แต่พอมีค่าใช้จ่าย เค้าเลยไม่ตรวจค่ะ แต่รับเป็นบุตรเลยค่ะ
รับแบบตามกฎหมาย ซึ่งพฤตินัย เค้าไม่รับค่ะ ดิฉันอยากตรวจค่ะ แต่มีค่าใช่จ่ายค่ะ จะทำไรดีค่ะ
#2 โดย: Supawanlimsay [IP: 223.24.184.xxx]
เมื่อ: 2020-12-16 19:55:21
คือพ่อจะตรวจว่าเป็นลูกย่าแต่ย่าไม่ยอมตรวจทำไงดีคะ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.229.247.xxx]
เมื่อ: 2023-12-21 11:37:51
ตอบ #1 โดย: admin
รับก็จบครับ สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ

ส่วนพฤตินัย จะเป็นยังไง ก็ไปว่ากันเอง
#4 โดย: ทนายธนู [IP: 49.229.247.xxx]
เมื่อ: 2023-12-21 11:39:30
ตอบ #2 โดย: Supawanlimsay

ไม่น่าจะเกิดข้อพิพาทในลักษณะนี้ได้นะครับ

ตรวจจากพี่น้องก็ได้ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,111