คำวินิจฉัยอื่นๆที่น่าสนใจ

ประเด็น : โจทก์ฟ้องในขณะที่จำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาภายหลังศาลจะอนุญาตให้จำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2559

   จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1273/3 ภายหลังบทบัญญัติ มาตรา 1273/3 มีผลใช้บังคับ ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเสียก่อนที่จะฟ้อง ตามมาตรา 1273 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2559

ประเด็น : เจตนารมณ์ของกฎหมาย นิติบุคคลจะเลิกกันต้องเป็นการชำระบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

   ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชี เพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาท แก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง

   การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้

   โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,130