ประเด็น คดียกฟ้อง

1. ปิดอากรแสตมป์ แต่ไม่ได้ขีดฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561

   โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

 

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2562

   โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้เงินกู้ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจําเลยให้การต่อสู้ ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า จําเลยไม่เคยลงลายมือชื่อทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ และหนังสือ สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนี้ การจะรับฟังว่าจําเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง จริงหรือไม่ย่อมต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐาน เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ โจทก์อ้างเป็นหลักฐานในการฟ้องบังคับจําเลยให้รับผิดต่อโจทก์ มีลักษณะเป็นตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 แต่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน คงปิดอากรแสตมป์เพียงเท่านั้น มิได้ขีดฆ่าเสียด้วย หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงถือเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 และเป็นผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ จําเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีแก่จําเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จําเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้จําเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

 

2. นิติกรรมอำพลางสัญญาอื่นๆ ที่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560

   โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

 

3. สมุดจดบันทึกรับเงิน เป็นหลักฐานการชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

   โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ยืม จำเลยทั้งสองยอมรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง แต่ชำระหนี้เป็นรายวันครบถ้วนแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลยทั้งสอง

   การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

 

4. ลงชื่อแบบแบบฟอร์มเปล่าผู้ให้กู้มากรอกข้อความ ไม่ถูกต้องภายหลัง ถือเป็นการปลอมเอกสารฟ้องร้องคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2547

   จำเลยได้กู้เงินไปเพียง 30,000 บาท แต่โจทก์กลับไปกรอกข้อความในสัญญาเงินกู้เป็นเงินถึง 109,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม สัญญากู้จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีได้ เมื่อเงินกู้จำนวนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้มาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ได้

 

5. เงินใต้โต๊ะ วิ่งเต้นเข้ารับราชการ เป็นหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย แม้แปลงหนี้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2561

   การทําสัญญากู้ยืมเงิน มีมูลกรณีแห่งหนี้สืบเนื่องมาจากจําเลยหรือ ก. ไม่สามารถวิ่งเต้นช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการได้ แต่จําเลยยังไม่สามารถนําเงินจํานวนดังกล่าวมาคืนฝ่ายโจทก์ได้ โจทก์ จึงให้จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อเป็นหลักประกันไว้ กรณี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้จําเลยกู้ยืมเงินและมีการส่งมอบเงินกู้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินกันจริงกับจําเลย และเงินจํานวน 1,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าวิ่งเต้นให้แก่จําเลย เพื่อช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการได้ พฤติการณ์ที่โจทก์มอบเงิน 1,000,000 บาท เพื่อขอให้จําเลยหรือ ภ. นําไปวิ่งเต้นกับคณะกรรมการสอบหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบ เพื่อช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการในวิธีการที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบในการสอบ มุ่งหวังใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายใช้เงินในการตอบแทนจูงใจ โดยมีเจตนาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติผิดต่อตําแหน่งการงานให้กระทําการทุจริตประพฤติมิชอบด้วยการช่วยเหลือบุตรสาว และบุตรเขยของโจทก์ เงินจํานวน 1,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยรับผิดชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องได้ หนี้ที่เกิดจากสัญญาอันเป็นโมฆะย่อมเสียเปล่ามาแต่ต้น จะแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้เงินกู้ยืมหรือหนี้อย่างอื่นที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ยืม

 

6. หลักฐานการกู้ยืม ต้องมีขึ้นก่อนหรือหลังกู้ยืมเงินก็ได้ แต่ต้องก่อนฟ้องคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

   หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

 

7. มอบบัตรเอทีเอ็มกับสมุดเงินฝากให้ ถือเป็นการชำระหนี้อย่างหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6823/2551

  จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือน และโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,700