เพิกถอนนิติกรรมลูกหนี้

คดีเพิกถอนการฉ้อฉล #ทนายคดีฟ้องเพิกถอนนิติกรรมลูกหนี้ThanuLaw

   ในกรณีที่ลูกหนี้รู้ตัวว่าเป็นหนี้ จะถูกเจ้าหนี้ติดตามยึดทรัพย์สิน จึงได้โยกย้ายทรัพย์โดนการโอนให้บุคคลอื่น

   เมื่อทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ที่จะบังคับคดี เจ้าหนี้สามารถฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ทำขึ้นได้ เพื่อกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อทำการยึดทรัพย์สินต่อไป

 

หลักเกณฑ์การพิจารณาการฉ้อฉล ดังนี้

1. ลูกหนี้ทำนิติกรรมโยกย้ายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

2. ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

3. ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าการทำนิติกรรมนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ

4. ผู้ได้ลาภงอกได้รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เว้นแต่เป็นการให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้ข้อความจริงนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็เพิกถอนได้

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้องคดี

1. คำพิพากษา หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

2. โฉนดที่ดิน

3. แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ทุกฝ่าย

4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ค่าขึ้นศาล : 200 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : โอนทรัพยสินให้ลูก เป็นการให้โดยเสน่หา เพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2551

   จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้

   ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ

 

ประเด็น : ฟ้องเพิกถอนผู้รับจำนองไว้โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ด้วยไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 10243/2556

   จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สมคบกันจดทะเบียนโอนขายและให้ที่ดินพิพาททั้งแปลงโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์บังคับคดีจากจำเลยที่ 1 ได้ การแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตา 155 วรรค หนึ่ง

   แต่จะยกขึ้นต่อสู้บุคคลหายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองดังกล่าวได้ คงเพิกถอนได้แต่เฉพาะนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายและยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561

   การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์

   เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนอง เหตุผู้จำนองมิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง แม้ผู้รับจำนองจะรับจำนองไว้โดยสุจริต ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2558

   โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก อ. และ อ. ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และ อ. จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันมีผลให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ อ. ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การโอนทรัพย์ให้แก่กันย่อมกระทำได้ โดยการส่งมอบการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 เมื่อ อ. ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดย อ. ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป อันถือเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ อ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เนื่องจากเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก อ. จึงไม่มีสิทธิดีกว่า อ. ผู้โอนเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้

   อ. ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับ บ. เพราะไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่า บ. รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. รวมไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนการจำนองจาก บ. ด้วยได้

   การที่ อ. โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่ บ. หลังจากนั้น บ. ได้โอนการจำนองที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 2 ย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทอยู่ในตัว โดยจำเลยทั้งสองหาจำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททราบเรื่องดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทอันเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

   แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 และการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. ไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทเสียได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในส่วนออกทับที่ดินพิพาท จึงพอถือได้ว่าเป็นการขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั่นเอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปไม่ได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

   แม้จำเลยที่ 1 จะเคยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นขอสละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2556 จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาในเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

 

ประเด็น : ผู้รับรู้อยู่แล้วว่าทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉล ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8466/2560

   จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางที่ทำให้เจ้าหนี้ทั้งหลายต้องเสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลตามป.พ.พ. มาตรา 237 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ. ศ. 2483 มาตรา 113ประกอบมาตรา 114 ส่วนผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นญาติกับจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้กับโจทย์หลายราย จึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ 2483 มาตรา 113

 

ประเด็น : คดีโกงเจ้าหนี้ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมทางแพ่ง และละเมิดเรียกค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563

   เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว

   โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง

   ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ.

   ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน

   ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

   บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. เมื่อนิติกรรมถูกเพิกถอน คู่สัญญาไม่สามารถขอเรียกเงินค่าธรรมเนียมการโอนคืนจากสำนักงานที่ดินได้ อ้างอิง คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.375/2563

 

ค่าบริการว่าความ คดีเพิกถอนนิติกรรม

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,922