ข้อต่อสู้คดีลูกหนี้

รวมข้อต่อสู้คดี ลูกหนี้คดีล้มละลาย #ทนายคดีล้มละลายThanuLaw

1. หนี้ขาดอายุความ แม้ลูกหนี้จะไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า หนี้ตามฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นหนี้ที่ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ตามมาตรา 94(1) ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2522

   จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาสินค้าและภาพยนตร์ซึ่งเป็นการจ้างทำของ หนี้รายนี้จึงมีอายุความให้ฟ้องร้องได้ภายในกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) (เดิม) เมื่อนับจากวันที่หนี้รายนี้เกิดขึ้นถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากค้างชำระสินจ้างดังกล่าวเป็นเวลาเกิน 2 ปีแล้ว หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงขาดอายุความ

   คดีล้มละลายจำเลยไม่จำต้องให้การสู้คดีเช่นคดีแพ่งสามัญจึงไม่มีประเด็นอย่างใดเกิดขึ้น การพิจารณาคดีล้มละลายผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 14  แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ. 2483 ว่าคดีมีเหตุที่ควรหรือไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหนี้ตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ  จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 ดังกล่าว ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้

 

2. ลูกหนี้มีทรัพย์สินเพียงพอ ไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6149/2548

   ภริยาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัท ม. มูลค่า 47,592,508.04 บาท ซึ่งเป็นสินสมรส หุ้นจึงมีส่วนที่เป็นของจำเลยอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง มูลค่า 23,796,254.02 บาท และมีมูลค่าต่ำกว่ายอดหนี้ตามฟ้องอยู่จำนวน 5,817,188.50 บาท จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำส่วนของจำเลยในหุ้นออกขายนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วนได้ จึงถือได้ว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดอันเป็นเหตุมิให้ต้องถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

 

3. มีหนี้สิน แต่ไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะมีเหตุอื่น อาธิเช่น มีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ มีความจริงใจในการชำระหนี้ เสนอประนอมหนี้แก่เจ้าหนี้มาโดยตลอด ทำมาหากินโดยสุจริต ยังมีโอกาสเงินมาชำระหนี้ได้ หรือไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นอีก เป็นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2542

   เมื่อโจทก์บังคับคดีแล้ว จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ครั้งละ 10,000 บาทบ้าง ครั้งละ 15,000  บาทบ้าง เป็นระยะเวลานานถึง 13 ครั้ง แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ขวนขวายรวบรวมเงินที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์  ยังมิได้ละเลยที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา แม้จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ แต่การที่จะให้บุคคลใดสมควรเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ใช่แต่ฟังว่าลูกหนี้เป็นหนี้แล้วต้องเป็นบุคคลล้มละลายเสมอไป ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ก็สืบเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบกิจการ หรือก่อหนี้โดยทุจริต หรือประพฤติเล่นการพนัน จำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่นๆ อีก โดยสภาพหากให้จำเลยทั้งสองต้องเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว นอกจากจำเลยทั้งสองต้องออกจากการทำงาน จำเลยทั้งสองยังต้องขาดสภาพที่จะหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์และยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ครอบครัวทั้งหมดอีกด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งมีที่ทำงานที่แน่นอน มีรายได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ที่จะยังชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีความสามารถในการรวบรวมเงินชำระหนี้ กรณีจึงเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย 2483 มาตรา 14

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7566/2545

   จำเลยประกอบกิจการรับจ้างทำสื่อโฆษณามาตั้งแต่ปี 2535 และในปัจจุบันยังประกอบการเป็นปกติ แม้ในช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2542 ผลประกอบการยังขาดทุนแต่ก็ยังสามารถลดยอดขาดทุนลงได้มากในปี 2542  ส่วนผลประกอบการในปี 2543 ดีขึ้นมาก แม้เอกสารหนังสือเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์ จะมิใช่เอกสารทางบัญชีที่แสดงรายได้และผลกำไรในปี 2543 แต่ก็ยังสามารถนำมาพิจารณาประกอบเพื่อแสดงถึงสถานภาพของจำเลยว่าการประกอบกิจการของจำเลยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เพียง 1 ปีเศษ และจำเลยเคยยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนหน้าถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่าจำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนหน้าถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่า จำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ละเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้น เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นฟ้องจำเลยและไม่ปรากฎในการประกอบกิจการและฐานะทางการเงิน มิใช่เป็นเพียงการคาดคะเน ฉะนั้นเมื่อจำเลยยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติ ยังมีรายได้และผลกำไร จึงอยู่ในวิสัยและมีลู่ทางที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2548

   จำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่า เป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหนี้ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรม มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท กรณีเห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ยังพยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพทันตแพทย์และมีรายได้ในการประกอบอาชีพแน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย

 

4. จำนองหนี้ค้ำประกันให้บุคคลอื่น ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์จำนอง ตาม ป.พ.พ. ม.727/1

มาตรา 727/1 ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด

   ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฎหมายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคลและผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก

 

ประเด็นคดี ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ฟ้องซ้ำมูลคดีเดิม ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้รายใหม่หรือรายเดิม > ยกฟ้อง อ้างอิง ฎ. 588/2535, 7137/2545 

ประเด็น : ฟ้องล้มละลายเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี > ยกฟ้อง อ้างอิง ฎ. 482/2536, 6176/2540

ประเด็น : ฟ้องล้มละลายภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี เป็นสิทธิที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ เมื่อใดก็ตาม จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ล้มละลาย อ้างอิง ฎ. 5035/2541, 266/2545

ประเด็น : ฟ้องหุ้นส่วนที่ออกจากห้างหุ้นส่วนแล้ว 2 ปี > ยกฟ้อง อ้างอิง ฎ. 463/2537

ประเด็น : ลูกหนี้อ้างจะได้รับมรดกเมื่อเจ้ามรดกตาย ถ้าพินัยกรรมไม่เปลี่ยนแปลง ถือว่ามีเงื่อนไขบังคับก่อน ไม่มีทรัพย์สินมาชำระหนี้ได้ ล้มละลาย อ้างอิง ฎ. 1319/2537

ประเด็น : คดีแพ่งศาลพิพากษาให้ชำระหนี้มีจำเลยหลายคน เจ้าหนี้เลือกฟ้องคนใดคนหนึ่งก็ได้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต อ้างรายได้เลื่อนลอย ไม่มีหลักฐาน ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2538

   เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและวินิจฉัยเฉพาะปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุไม่ควรพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

   จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีรายได้เดือนละ 200,000 - 300,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าเคยชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งห้าเลย ข้ออ้างจึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 มีรายได้ที่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด จึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

 

ประเด็น : กรณีที่ศาลจะยกฟ้อง เพราะมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4464/2552

   เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เป็นข้อที่ศาลชอบที่จะหยิบยกในชั้นพิจารณาเอาความจริงตามคำฟ้องโจทก์ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ดังนี้ แม้ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบจำนวนตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

 

ประเด็น : ลูกหนี้ได้รับปลดจากล้มละลายแล้ว มีผลให้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ โจทก์จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลาย ยกฟ้อง อ้างอิง ฎ. 4797/2553

 

ประเด็น : เจ้าหนี้ต้องนำสืบให้ได้ความจริงว่าลูกหนี้เป็นบุคคลหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2542

   ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเป็น เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงด้วยว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 โดยคำนึงถึงเหตุอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลย ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจริง เดิมศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 170,784 บาทแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด แต่โจทก์ไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งโจทก์นำสืบให้เห็นแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินในเขตจังหวัดนนทบุรีและไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ แต่หานำสืบให้เห็นด้วยว่าในเขตจังหวัดนครสวรรค์จำเลยก็ไม่มีทรัพย์สินเช่นเดียวกัน อีกทั้งเหตุที่โจทก์อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยให้ล้มละลายนี้ สืบเนื่องจากกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่น สนับสนุนหรือนำมาประกอบให้เพียงพอที่จะแสดงหรือพิสูจน์ ให้เห็นได้เป็นข้อสำคัญว่า จำเลยไม่มีความสามารถชำระหนี้ หรือเป็นบุคคลตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นลูกหนี้บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

 

ประเด็น : คดีล้มละลาย จำเลยสามารถยื่นคำให้การได้ภายในหรือก่อนวันนัดพิจารณา 7 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597/2523

   การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีฟ้องให้ล้มละลายนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนคดีแพ่งธรรมดา ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ยื่นก็ได้และหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การก็มีโอกาสยื่นได้ถึง 7 วันเป็นอย่างน้อยก่อนวันนั่งพิจารณา แต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลในวันนั่งพิจารณาและไม่ยื่นคำให้การ ทั้งมิได้ร้องขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน เพิ่งจะมาศาลภายหลังเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ฉะนั้นที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554

   ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว

   ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน" การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ

 

ประเด็น : หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ ถือว่าขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งหากจำเลยขาดนัดพิจารณา ก็สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้ เช่นเดียวกับคดีแพ่งทั่วไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายเเละวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย ฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2520

   คดีล้มละลายก็มีการขาดนัดพิจารณาได้เหมือนกัน เเละเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเเละพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายจำเลยก็ขอพิจารณาใหม่ได้ โดยศาลชั้นต้นจะต้องรับคำขอของจำเลยไว้พิจารณาเเละมีคำสั่งตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 ที่ให้นำ ป.วิ.พ.มาใช้โดยอนุโลม


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,480