ข้อควรรู้คดีล้มละลาย

รวบรวม คำถามยอดนิยม คดีล้มละลาย

1. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  หากลูกหนี้ต้องการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะต้องทำอย่างไร

ตอบ ต้องขออนุญาตจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

 

2. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว หากลูกหนี้ต้องการค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะต้องทำอย่างไร

ตอบ สามารถขอค่าเลี้ยงชีพต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยปกติจะอายัดเงินไว้ทั้งหมด แล้วสามารถไปขอได้โดยจะคืนประมาณ 70%

 

3. การปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายจะปลดเมื่อใด

ตอบ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายจะปลดจากการล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่

   1. บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้วและยังไม่พ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี

   2. บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม ข้อ 3 ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี  เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนด 10 ปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้

   3. บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี

   ในกรณีที่มีเหตุตาม ข้อ (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว

 

4. เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจะมีผลบังคับ ถึงทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรของลูกหนี้หรือไม่

ตอบ การฟ้องคดีล้มละลายเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่มีผลบังคับแก่ทรัพย์สินของคู่สมรส หรือบุตร ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรสก็จะมีผลบังคับเฉพาะในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้เท่านั้น

 

5. สามารถตรวจสอบบุคคลล้มละลายได้จากที่ใด

ตอบ https://www.egov.go.th/th/e-government-service/158/

 

6. เจ้าหนี้สามารถรวมตัวกันให้หนี้เกินกำหนดตามกฎหมาย ยื่นฟ้องคดีล้มละลายได้หรือไม่

ตอบ ได้ เช่น เจ้าหนี้ 5 ราย รายละ 200,000 บาท

 

7. หนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง ที่ยังไม่ถึงที่สุด ฟ้องล้มละลายได้ไหม

ตอบ ฟ้องได้ เพราะเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน แต่อาจถูกกลับหรือแก้ไขได้ ในศาลสูง ศาลอาจมีคำพิพากษาไม่สมควรให้จำเลยล้มละลาย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 177/2531

 

8. หนี้ตามสัญญา ที่กำหนดหนี้แน่นอน เจ้าหนี้สามารถนำมาฟ้องล้มละลายได้เลยไหม

ตอบ ความเห็นส่วนตัว ไม่ได้ เพราะศาลยังไม่ได้พิพากษาชำระหนี้

 

9. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการบำนาญ จะถูกอายัดเงินบำนาญไหม แล้วถ้าปลดล้มละลายแล้วจะยังมีสิทธิรับบำนาญต่ออีก หรือไม่

ตอบ ตั้งแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะถูกอายัดเงินบำนาญทั้งหมด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 121 ซึ่งการถูกอายัดบำนาญนี้ แตกต่างจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป ตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 302(2) เงินบำนาญของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐไม่อยู่ในข่ายการบังคับคดี

   แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อถูกอายัดเงินบำนาญแล้ว ลูกหนี้สามารถไปยื่นคำขอรับค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวได้ตามสมควรแก่ฐานะ

   ภายหลังศาลมีคำสั่งปลดล้มละลายแล้ว บุคคลดังกล่าวจะยังมีสิทธิกลับมารับเงินบำนาญ ต่อไปอีก อ้างอิงข่าวกรมบัญชีกลาง ตาม พ.ร.บ.บําเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2551 ซึ่งยกเลิกมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2524

   เงินบำนาญของลูกหนี้ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้จะเป็นเงินบำนาญที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่ก็เป็นเงินบำนาญที่ได้ส่งมาให้ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหน้าที่ต้องรับเงินบำนาญดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ได้มาระหว่างล้มละลายรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ และพิจารณาจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปต่อไปตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 กรณีมิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปก้าวล่วงจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

   จำนวนเงินค่าเลี้ยงชีพเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาสั่งจ่ายโดยพิเคราะห์ถึงความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในขณะที่พิจารณาสั่งจ่าย

พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 121 ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป

   บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย

#1 โดย: soupa-123@hotmail.com [IP: 171.96.221.xxx]
เมื่อ: 2023-07-06 12:12:36
ไอ้ห่าบ้านก็ขายทอดตลาดไปแล้วจะเอาอะไรกับคนทำมาหากินนักหนา คนชั่วๆโกงบ้านโกงเมืองทำอะไรมันไม่ได้เหรอคนหาเช้ากินต่ำทำเค้าได้
#2 โดย: เจ้าหนี้ตามตำพิพากษา [IP: 49.228.102.xxx]
เมื่อ: 2024-01-03 14:34:40
คนล้มละลายมีเงินทำธุรกิจโดยใช้ชื่อบุคคลอื่น เจ้าหนี้ควรทำอย่างไรค่ะ พ้นกำหนดล้มละลายตามศาลสั่งก็ไม่ต้องใช้หนี้อีก ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,772