คดีล้มละลาย / Bankruptcy Case

คดีล้มละลาย #ทนายคดีล้มละลายThanuLaw

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 กำหนดหลักเกณฑ์ ลูกหนี้ที่อาจถูกฟ้องล้มละลาย 

กรณี เจ้าหนี้ทั่วไป เป็นไปตามมาตรา 9

1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หมายถึง สภาพที่ลูกหนี้มี "หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน" จนกระทั่งไม่พอชำระหนี้)

2. จำนวนหนี้

   2.1. บุคคลธรรมดา ต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ไม่ว่าเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน

   2.2. นิติบุคคลต้องมีจำนวนหนี้ ไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ไม่ว่าเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน

3. เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

 

กรณี เจ้าหนี้มีประกัน เป็นไปตามมาตรา 10 (ภายใต้บังคับมาตรา 9)

1. มิได้เป็นผู้ต้องห้าม มิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

2. กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท

 

เขตอำนาจศาล : ศาลล้มละลายกลาง (ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A)

 

การคำนวณยอดหนี้ : ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง สามารถคำนวณจนถึงวันฟ้องคดีล้มละลายได้ เป็นหนี้ที่แน่นอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2558

   จำเลยทั้งสิบเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 8 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันในกระบวนพิจารณาของศาลนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิพากษาแก้ไขหรือกลับ จำเลยที่ 1 และที่ 8 ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ประกอบกับหนี้ดังกล่าวสามารถที่จะคิดคำนวณได้ถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว หาทำให้หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไปไม่ และเมื่อหนี้ดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ล้มละลายได้

 

หนี้ภาษีอากร

1. ถ้าเป็นหนี้ที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้ว ยังไม่ได้แจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ทราบ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธินำหนี้มาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2531

    หนี้ภาษีอากรซึ่งโจทก์ประเมินแต่มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบ ทำให้จำเลยไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามมาตรา 9(3) ของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย

2. หากได้แจ้งประเมินแล้ว ลูกหนี้ไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด หนี้ภาษีอากรนั้นกลายเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน หรือลูกหนี้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ได้คำวินิจฉัยชี้ขาดให้ลูกหนี้ชำระภาษีอากร ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2531

 

ข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

   ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร 

   ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ

   ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล

   ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ

(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้

(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

 

แนวทางการปฏิบัติของลูกหนี้ เมื่อได้รับหมายศาล ในการสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย เป็นหน้าที่ของจำเลย

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2537

   พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5) ได้แบ่งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็น 2 กรณี คือ ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งก็เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว การที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบว่าจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินดังกล่าวเพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

 

ข้อสังเกตุ ลูกหนี้ถูกทวงถามและขอผัดผ่อนการชำระหนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะมีความหมายเพียงแค่ไม่อาจชำระหนี้ได้ในวันที่นัดหมายเท่านั้น

 

หนี้ตามคำพิพากษาของศาล แม้คดียังไม่ถึงที่สุด ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว

การสืบหักล้างข้อสันนิษฐานเป็นหน้าที่ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8116/2557

   หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งได้กำหนดจำนวนเงิน ดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความให้จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ไว้ชัดเจน จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจคำนวณกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วซึ่งแม้แต่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม แต่โดยผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ย่อมผูกพันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลพิพากษานับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ 2542 มาตรา 14 จำเลยที่ 3 จึงต้องผูกพันในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อโจทก์และถึงแม้ว่าทรัพย์หลักประกันในคดีจะอยู่ในระหว่างดำเนินการบังคับคดียังมิได้นำออกขายทอดตลาดก็ตาม แต่เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว เช่นนี้ ถ้าหากต่อไปในภายภาคหน้าทรัพย์หลักประกันจะขายทอดตลาดได้ในราคาเท่าใด จำเลยที่ 3 ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดในจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีจึงหาทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไปไม่ จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันและจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 3 มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ตั้งแต่ปี 2545 เป็นจำนวนมากถึง 179,073,871.25 บาทภายหลังจากที่ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ 3 หาได้ขวนขวายชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ ทั้งๆ ที่อ้างว่าตนเองมีความสามารถที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย

 

ลูกหนี้ล้มละลายไปแล้ว เจ้าหนี้ยังสามารถฟ้องผู้ค้ำประกันได้อีก (ปกติจะฟ้องรวมกันไปในคดีเดียวกัน)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2512

   หนี้เงินกู้เป็นหนี้ที่จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันบริษัท ส.ซึ่งได้กู้เงินเจ้าหนี้ไปแต่ปรากฏว่าบริษัท ส. ถูกพิพากษาให้ล้มละลายเจ้าหนี้ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เอาจากกองทรัพย์สินของบริษัท ส. และศาลได้สั่งให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนดังนี้การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีแดงที่ 99/2507 ซึ่งบริษัท ส. เป็นลูกหนี้และล้มละลายให้ได้รับชำระหนี้นั้นมีผลเพียงให้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งผู้ขอรับชำระหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้รายนี้เลยจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีหน้าที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มตามจำนวนที่เป็นหนี้ โดยผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้เต็มตามจำนวนตามอำนาจของเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 และเมื่อปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยหนี้นั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 91 ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้ขอรับชำระหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้อีกในฐานะจำเลยผู้ล้มละลายเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ผู้ล้มละลายอีกคดีหนึ่งอยู่ถ้าจะให้ผู้ขอรับชำระหนี้รอไว้จนกว่าจะได้รับส่วนแบ่งชำระหนี้จากคดีล้มละลายแดงที่99/2507 เสียก่อนก็จะพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ไม่อาจจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทำให้ผู้ขอรับชำระหนี้เสียหายและลบล้างอำนาจของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่ฉะนั้น ผู้ขอรับชำระหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้อีกแต่ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีนี้และคดีแดงที่ 99/2507 รวม 2 คดีไม่เกินจำนวนเงินตามที่เป็นเจ้าหนี้อยู่

 

เอกสารสำคัญประกอบการฟ้องคดี

1. คำพิพากษาศาลคดีแพ่ง

2. หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

3. ตารางคำนวณยอดหนี้

4. รายการผลข้อมูลสอบหลักทรัพย์

5. บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน Passport

6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ค่าขึ้นธรรมเนียม

1. ค่าขึ้นศาล 500 บาท

2. เงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาล 5,000 บาท

3. ค่านำส่งหมายเรียกแก่จำเลย ตามระเบียบ 300-700 บาท

4. ค่าใช้จ่ายชั้นพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 10,000 บาท

 

ระยะเวลาการดำเนินคดี

ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อีกประมาณ 1 ปี 6 เดือน >> พิพากษาให้ล้มละลาย อีกประมาณ 8 เดือน >> คำแถลงปิดคดี

ครบ 3 ปีนับแต่วันพิพากษาให้ล้มละลาย 

 

ขั้นตอนการดำเนินคดี หลังจากศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา

มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง

อธิบาย : ศาลต้องพิจารณาคดีให้ได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบองค์ประกอบที่จะถูกฟ้องคดีล้มละลายหรือไม่ 

1. เจ้าหนี้ต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ว่าลูกหนี้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นนิติบุคคล และเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน หากเป็นกรณีเจ้าหนี้มีประกันก็ต้องนำสืบให้ได้ความตามมาตรา 10 ด้วย

ถ้าเห็นว่าครบ ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

2. ลูกหนี้มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้

   (1) ไม่ได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 กล่าวคือ ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ

   (2) ลูกหนี้นำสืบว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือ

   (3) มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย

ถ้าหากไม่ครบองค์ประกอบ หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะยกฟ้องทันที

3. ระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของเจ้าหนี้และก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้อาจมีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในการโยกย้ายทรัพย์สินไป เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้ ซึ่งศาลจะทำการไต่สวนโดยทันที เมื่อเห็นว่าคดีมีมูลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว วิธีการนี้เป็นการลดทอนความเสียหายของเจ้าหนี้ได้ในระดับหนึ่ง

4. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าไปดูแล ควบคุม กิจการหรือทรัพย์สิน หรือสิทธิต่างๆแทนลูกหนี้ทันที รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่ง การฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย โดยลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เอกสารต่างๆเกี่ยวทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นจริงด้วย มิฉะนั้น ต้องรับโทษอาญาปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล

5. เจ้าหนี้อื่นอาจแจ้งขอรับชำระหนี้ ในคดีล้มละลายร่วมด้วยตามประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งศาลจะมีกำหนดเวลาไว้

6. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดมีสิทธิในการเข้าเฉลี่ยรับคืนหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย จากนั้นจึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาว่าควรยอมรับคำขอประนอนหนี้ของลูกหนี้(กรณีลูกหนี้ยื่นเรื่องขอประนอมหนี้) หรือควรให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย รวมทั้งวิธีจัดการทรัพย์สินด้วย

7. ศาลจะทำการไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเพื่อทราบฐานะทางการเงิน เหตุผลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ความประพฤติ จากนั้นจึงมีการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าควรเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือไม่

8.หลังจากศาลพิจารณาเห็นชอบกับการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับแล้ว จะเริ่มกระบวนการจัดการทรัพย์สินตามข้อตกลงนั้นทันที หากลูกหนี้บิดพลิ้วไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในการประนอมหนี้ หรือทำการถ่วงเวลาโดยไม่มีเหตุอันควร หรือมีเจตนาทุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใด ย่อมมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เช่นกัน

 

การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษา

   กรณีศาลต้องพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดกฎหมายให้ทำเป็นคำสั่ง แต่กรณีศาลยกฟ้องกฎหมายให้ทำเป็นคำพิพากษา ทั้งนี้ ทั้งสองกรณีถือว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งหรือคำพิพากษานั้น โดยอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 (1), (4)

 

กรณีต่อไปนี้ ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 61 ดังนี้

1. เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวถัดไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

2. ไม่ลงมติประการใด

3. ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม

4. การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ

   ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ โดยให้ถือว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผลหลังจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

 

แนวทางปฏิบัติของลูกหนี้ หลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

1. ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กำหนดเงินเลี้ยงชีพ และหากมีรายได้ในอนาคต ต้องนำส่งให้เจ้าพนักงาน เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้

2. การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนเสมอ

3. ลูกหนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตเป็นหนังสือ แม้แต่การย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งให้ทราบด้วย

 

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดีศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานในได้ความจริง และจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้

ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

   ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของคดีล้มละลาย ซึ่งศาลจะยังไม่ได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันทีซึ่งกรณีดังกล่าว ทำให้ลูกหนี้ที่รับราชการยังไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และยังคงรับราชการต่อไปได้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ล้มละลาย

   และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ ไม่ว่าจะกรณีพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือเด็ดขาด ศาลจะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ

 

สิ่งที่ลูกหนี้ต้องปฏิบัติ

1. ติดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

2. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะมีหมายเรียก หรือหมายนัดให้ไปพบ

3. นำหมายนัดไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามกำหนดวันเวลาที่ระบุในหมายโดยเคร่งครัด

4. นำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้โดยมีรูปกำกับ หรือสำเนาทะเบียนบ้านไปด้วยทุกครั้ง

 

สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้

1. ไปสาบานตัว และให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการ และทรัพย์สินพร้อมทำบัญชีแสดงกิจการและทรัพย์สิน

2. ส่งมอบทรัพย์สิน บัญชี ดวงตราห้างฯ หรือบริษัท และเอกสารต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

3. ขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน กำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้ หรือขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายภายในเวลาที่กำหนด

4. ไปประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง เมื่อได้รับแจ้งกำหนดวันนัด

5. ไปให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เมื่อได้รับแจ้งวันกำหนดนัดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

6. ทำบัญชีรับ-จ่ายทุก 6 เดือน นับแต่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์แจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกครั้งเมื่อย้ายที่อยู่ใหม่

7. เดินทางออกนอกราชอาณาจักรต้องขออนุญาตจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามความจำเป็นและสมควรแก่ฐานะ

8. ขอค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้มาในระหว่างถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามความจำเป็นและสมควร

9. อาจขอให้ปลดตนเองจากการล้มละลาย หรือยกเลิกการล้มละลาย ตามวิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

10. รับเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือคืนเมื่อหลุดพ้นจากการล้มละลาย

สรุปเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์อำนาจในการจักการทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้ตกอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อจำกัดสิทธืหน้าที่ของลูกหนี้

1. ห้ามกระทำการใดๆ เดี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินเว้นแต่กระทำตามคำสั่ง หรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

2. ห้ามดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน

3. เดินทางออกนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

4. รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ต้องแจ้งให้ทราบว่าตนถูพิทักษ์ทรัพย์หรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย

 

การติดตามทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยการเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลภายใน 3 ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลาย

มาตรา 114 การโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลาย ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนนั้นได้ เว้นแต่ผู้รับโอนจะแสดงให้พอใจศาลว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

 

การปลดล้มละลาย

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายได้ 2 กรณี

1. ศาลได้มีคำสั่งปลดจากการล้มละลาย ตามมาตรา 71 เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า

   1.1. ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ

   1.2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

2. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 81/1 กฎหมายบัญญัติให้บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่

   2.1. บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้วและยังไม่พ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อน จนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี

   2.2. บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม(3)ให้ ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนด 10 ปี ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้

   2.3. บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลาย อันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี

   ในกรณีที่มีเหตุตาม (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนี่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว

 

ผลของการปลดจากล้มละลาย ตามมาตรา 71 หรือมาตรา 81/1

   ทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เว้นแต่หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือหนี้ซึ่งเกิดความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลายหรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้อง เนื่องจากความทุจริตฉ้อโกง ซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้ (พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 77 และมาตรา 81/1 วรรคท้าย) และไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลผู้ล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย (พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 78 และมาตรา 81/1 วรรคท้าย)

 

ข้อพึงระวังของลูกหนี้ในส่วนการปลดล้มละลาย

   บุคคลล้มละลายที่มิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในการรวบรวม ทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลจะมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลา ตามมาตรา 81/1 ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่ง จนถึงวันที่ศาลกำหนดโดยจะกำหนดเงื่อนไข หรือไม่ก็ได้เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกิน 2 ปี

 

วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

1. การประนอมหนี้ได้รับความเห็นชอบ และปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน

2. ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามมาตรา 135 เช่น

   2.1. เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

   2.2. ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

   2.3. หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว

   2.4. หลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้าย หรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้ว ต่อแต่นั้นมาภายใน 10 ปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้ขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก

3. ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย

4. ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดา และหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต

 

การยกเลิกการล้มละลาย

เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคำขอตามมาตรา 135 (1) ถึง (4) ต่อศาลว่ามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วย หรือยอมเสียค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่าย หรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นที่สามารถ และเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้วภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขัดขืนหรือละเลยนั้น

(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย

(3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว

   ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญา และให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบ แต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว

(4) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุดหรือไม่มี ทรัพย์สินทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนด เวลา 10 ปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย

 

ผลของคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย 

1. กรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) และ (2)

   แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่หลุดพ้นจากหนี้สินดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายมิได้ยกเว้นว่าหนี้ใดจะต้องหลุดพ้น เพราะคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย จึงแปลได้ว่าหนี้สินทุกชนิดที่ลูกหนี้ มีอยู่ก่อนฟ้องอย่างไรก็คงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธินำมาฟ้องบังคับคดีได้รวมถึงการนำมาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายคดีใหม่ด้วย

2. กรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) และ (2)

   แม้ว่าทำให้ลูกหนี้ไม่หลุดพ้นจากหนี้สินแต่อย่างใดแต่ถ้าเจ้าหนี้ มิได้นำหนี้ดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือเจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว แต่ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้เสียต่อมาเจ้าหนี้ กลับนำหนี้นั้นมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีก ศาลเห็นว่ามีเหตุไม่ควร ให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ (ดูฎีกาที่ 588/2535)

3. หากเป็นการยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135(3) และ (4)

   ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวง ไม่นำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 77 มาใช้กับการยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 135(3) และ (4)

 

ผู้ค้ำประกัน กับคดีล้มละลาย

1. เมื่อลูกหนี้ (บุคคลธรรมดา / นิติบุคคล) ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อปลดล้มละลายแล้วลูกหนี้จะพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายโดยผลของกฎหมาย และหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งปวง ส่วนผู้ค้ำประกันยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่ตนค้ำประกัน

2. การประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย มีผลทำให้ลูกหนี้เท่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิด แต่ไม่รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วย ผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่จนครบจำนวนหนี้

3. หากเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ย่อมสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้จากลูกหนี้ แต่ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่ตนประกันอยู่ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อีกต่อไป ถือว่าลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แต่ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไป

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ก่อนฟ้องคดีควรมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนสัก 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน อ้างอิง ฎ.253/2545

2. เจ้าหนี้ควรฟ้องภายในอายุความบังคับคดี หากลูกหนี้ต่อสู้ว่ายังมีทรัพย์สินอยู่ ก็สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ได้

3. การขอผ่อนชำระหนี้ในชั้นศาล สามารถผ่อนได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันฟ้อง เลื่อนนัดคดีครั้งละ 2-3 เดือนเพื่อฟังผลการชำระหนี้

4. การขอผ่อนชำระหนี้ในชั้นศาล จำเลยหรือทนายจะต้องแถลงสละข้อต่อสู้ในคำให้การ

5. การสืบพยาน หากประสงค์จะถามค้านหรือใช้เอกสาร ไม่สามารถขอออนไลน์ได้

 

ค่าบริการว่าความ คดีล้มละลาย

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

  ♦ ยื่นฟ้อง / ต่อสู้คดี

-X-

  ♦ ขอรับชำระหนี้

-X-

 

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
ลิงค์การค้นหาข้อมูลคดีล้มละลาย คลิปที่รูปด้านล่าง
 
 
ตัวอย่าง รายการกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
 
 
 
 
ตัวอย่าง ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
 
 
ตัวอย่าง ประกาศปลดล้มละลาย
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.241.xxx]
เมื่อ: 2019-06-09 20:32:33
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: Tarn [IP: 125.26.15.xxx]
เมื่อ: 2022-12-29 15:56:10
กรณีปลดลูกหนี้จากล้มละลายแล้ว สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือไม่คะ
#3 โดย: admin [IP: 49.228.38.xxx]
เมื่อ: 2023-01-12 07:44:02
ตอบ #2 โดย: Tarn

ได้ สามารถใช้ชีวิต และทำนิติกรรมทางกฎหมาย ได้ตามปกติทุกอย่างเลย
#4 โดย: ยาว [IP: 182.232.160.xxx]
เมื่อ: 2023-02-23 23:21:55
ศาลล้มฯพิพากษา ยกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ค้ำประกันถูกยึดบ้านไว้ อยากสอบถามว่าทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้น อยากได้บ้านคืน ขอบคุณค่ะ
#5 โดย: เอ [IP: 1.47.202.xxx]
เมื่อ: 2023-08-08 20:59:06
ศาลนัดครั้งแรกวันที่ 15 สิงหา 66 ต้องการประนอมหนี้ต้องทำอย่างไร ยื่นคำขอประนอมหนี้ทันหรือไม่คะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,669