อายัดเงินเดือน ลูกหนี้

ข้อควรรู้ การอายัดเงิน ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.แพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ. 2560

หลักเกณฑ์ การอายัดเงินเดือนตามฐานะเงินเดือน (Basic Salary)

1. สำหรับ ลูกหนี้ที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือบริษัททั่วไป จะถูกอายัดเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา ก่อนหักภาษี และประกันสังคม ดังนี้

   » เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท --- อายัดไม่ได้

   » เงินเดือนเกิน 20,000 บาท --- อายัดได้ทั้งหมดที่เกินตามที่เจ้าหนี้ร้องขอ (ส่วนใหญ่จะร้องขอทั้งหมดที่เกิน 20,000) แต่จะต้องเหลือไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น

   » เงินเดือน 19,500 บาท --- ไม่ถูกอายัด

   » เงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัดทั้งหมด ถูกอายัด 10,000 บาท เหลือไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท

   » เงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัด 5,000 บาท ถูกอายัด 5,000 บาท เหลือไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท

2. เงินโบนัส --- อายัดได้ ไม่เกิน 50%

3. ค่าล่วงเวลา(โอที) เงินเบี้ยขยัน ค่าคอมมิชชั่น --- อายัดได้ ไม่เกิน 30%

4. บำเหน็จ ค่าชดเชย เงินตอบแทนกรณีออกจากเงิน --- อายัดได้ทั้งหมด เฉพาะในส่วนที่เกิน 300,000 บาท

5. เงินค่าตอบแทน หรือ ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น --- อายัดได้ทั้งหมด

 

สิทธิเรียกร้องอื่น ๆที่ อายัดได้

1. เงินสหกรณ์ : ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท หากเจ้าหนี้สืบทราบว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ใด --- อายัดทั้งหมด ทุกปี ในส่วน เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์

2. ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ --- อายัดเฉพาะส่วน ที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด อาจดูเฉพาะส่วนของเงินปันผล ใบหุ้น เป็นต้นของผู้ถูกอายัด

3. หุ้น --- อายัดได้ทั้งหมด โดยสามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้

4. ค่าเช่ารายเดือน --- อายัดได้ทั้งหมด แจ้งไปยังผู้เช่า

5. สิทธิจำนองหรือจำนำเป็นประกัน --- อายัดได้ทั้งหมด

6. บัญชีเงินฝากธนาคาร --- อายัดได้ทั้งหมด (แต่ไม่เกิดจำนวนยอดหนี้)

 

สิทธิเรียกร้องที่ อายัดไม่ได้

1. เงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ

2. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

3. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)

   แต่ถ้าทำกองทุนต่างๆกับธนาคารต้องดูตามหลักเกณฑ์ของกองทุนว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ และมีข้อห้ามการบังคับคดีหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ และไม่มีข้อห้ามก็จะอายัดได้

4. เงินค่าวิทยะฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชน จะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน

5. เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ หรือลูกจ้างของรัฐบาล เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

6. เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง คนงาน ที่นายจ้างจ่ายให้รวมกัน ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร

7. บำเหน็จ ค่าชดเชยหรือรายได้ของลูกหนี้ ที่ไม่ใช่บุคคลกรในหน่วยงานราชการ ไม่เกิน 300,000 บาท

8. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับอันเนื่องมาจากความตายของบุคคลอื่น

9. เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชรา

10. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

การพิจารณาลดอายัดเงินเดือน ค่าจ้าง ***หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ในครอบครัว***

ตัวอย่าง เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร - บิดามารดา หรือค่ารักษาพยาบาลโรคประจำตัว สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่สำนักบังคับคดี เพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ โดยการยื่นเป็นคำร้องขอลดอายัดมีขั้นตอนดังนี้

1. ลูกหนี้ขอลดการอายัด ส่งหนังสือรับรองเงินเดือน หลักฐานค่าใช้จ่ายอันจำเป็น เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำ ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

2. เจ้าพนักงานพิจารณาลดอายัดเงินได้ไม่ เกินกึ่งหนึ่ง

3. เจ้าหนี้ / ลูกหนี้ไม่เห็นชอบให้ร้องต่อศาลเพื่อกำหนดจำนวนเงินที่อายัดใหม่

   เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเอกสารและหลักฐาน โดยลดให้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ถูกอายัด 10,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถลดให้ได้ 5,000 บาท หากต้องการให้ลดยอดอายัดมากกว่านี้ ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วันนับต่วันที่ทราบคำสั่ง

 

คำเตือน

- กรณีบริษัทหรือนายจ้าง ได้รับคำสั่งอายัด ไม่ส่งเงินหรือไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งเจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับผู้รับคำสั่งอายัดได้ ส่วนนายจ้างมีสิทธิคัดค้านได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 321

 

- การอายัดเงินเดือน ลูกหนี้จะถูกอายัดจากยอดเงินเดือนเต็ม หากลูกหนี้ผู้ถูกอายัดเงินเดือนมีภาระที่ต้องจ่ายเงินกู้ให้แก่หน่วยงานอื่น เช่น สหกรณ์ต่าง ๆ ลูกหนี้จะต้องคำนวณว่า เงินเดือนที่เหลือจากการถูกอายัดมีเพียงพอที่จะใช้จ่ายประจำวันตลอดเดือน และเหลือพอที่จะจ่ายเงินกู้คืนให้สหกรณ์หรือไม่

» หากลูกหนี้ถูกอายัดเงินเดือน และถูกหักเงินกู้สหกรณ์แล้ว ยังมีเงินพอใช้และเหลือเก็บบ้างก็ถือว่าไม่เป็นไรไม่ต้องกังวล

» แต่หากถูกอายัดเงินเดือน และถูกหักเงินกู้สหกรณ์แล้วเงินเหลือไม่พอใช้จ่ายก็ควรหาทางแก้ไข เพราะถ้าไม่แก้ไขมันอาจจะนำไปสู่ปัญหาการหมุนจ่ายแบบเดิมอีกรอบทำให้แก้ไขปัญหาหนี้ไม่หมดสักที โดยลูกหนี้ควรจะปฏิบัติดังนี้

เจรจากับทางสหกรณ์ หาทางลดหย่อนยอดเงินที่ต้องชำระคืนในแต่ละเดือนโดยอาจจะยืดระยะผ่อนชำระให้นานออกไป(ในกรณีที่ถูกหักบัญชีอัตโนมัติ)

อาจจะหยุดจ่ายและให้ทางสหกรณ์ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายและอายัดเงินเดือนต่อไป วิธีนี้อาจสร้างปัญหาให้กับสหกรณ์ได้ ลูกหนี้ยังสามารถใช้วิธีที่ 3 คือ

ลูกหนี้สามารถนำยอดเงินที่ถูกหักจ่ายคืนให้สหกรณ์มาขอ ลดหย่อนเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ (ขอลดหย่อนได้สูงสุด 50% เท่านั้น)หมายความว่า ให้ลูกหนี้นำยอดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ลูกหนี้ต้อง จ่ายรวมทั้งเงินที่ต้องชำระคืนแก่สหกรณ์มารวมยอดและขอลดยอด การอายัดเงินเดือน ไม่ให้กรมบังคับคดีอายัดเงินเดือนจาก ยอดเต็มถึง 30% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ในการขอลดยอดการถูกอายัดจะขอลดยอดได้มากที่สุด คือ ให้กรมบังคับคดีอายัดไม่ต่ำกว่า 15%

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2560

ส่วนที่ 2 ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

มาตรา 301 ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

   (1) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว โดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดให้ทรัพย์สินแต่ละประเภทดังกล่าวที่มีราคารวมกันเกิน 20,000 บาทเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

   (2) สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพเท่าที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ราคารวมกันโดยประมาณไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีความจำเป็นในการเลี้ยงชีพก็อาจร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตใช้สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพในกิจการดังกล่าวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีราคารวมกันเกินกว่าจำนวนราคาที่กำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหรืออนุญาตได้เท่าที่จำเป็นภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

   (3) สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยหรือแทนอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

   (4) ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น หนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมาย หรือสมุดบัญชีต่าง ๆ

   (5) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

   ทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดตามวรรคหนึ่ง ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งกำหนดใหม่ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร

   ในกรณีที่พฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่ศาลกำหนดไว้เดิมได้

   ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้ขยายไปถึงทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งอันเป็นของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลอื่น ซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้

มาตรา 302 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

   (1) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจำนวนไม่เกินเดือนละ 20,000 บาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

   (2) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น

   (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (๒) ที่นายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

   (4) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (3) เป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

   (5) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

   ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (1) (3) และ (4) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย และสำหรับในกรณีตาม (1) และ (3) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้นและไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น

   ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้

   ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (1) และ (3) ใหม่ก็ได้

2. คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 502/2560 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอายัดทรัพย์สิน

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การอายัดเงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนต่างๆ หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2, 3, 4 ... จะทำเรื่องขออายัดซ้ำไม่ได้ ต้องรอคิวให้รายแรกอายัดครบก่อน หรืออาจจะขอหารส่วนแบ่งเงินที่ถูกอายัดจากเจ้าหนี้รายแรกก็ได้ ถ้ารอก็จะรอได้ไม่เกิน 10 ปี หากเกิน 10 ปีก็จะหมดอายุความ

2. ในกรณีลูกหนี้ เงินเดือน ไม่ถึง 20,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน แต่มิได้หมายความว่าหนี้จะหมดไป เพียงแต่แขวนหนี้เอาไว้ก่อน

3. ลูกหนี้สามารถขอให้ทางบริษัทออกหนังสือรับรอง หรือหลักฐานเพื่อแยกให้เห็นว่า เป็นเงินเดือนเท่าไหร่ เป็นสวัสดิการเท่าไหร่ เพราะเงินสวัสดิการเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน เป็นต้น

4. การบังคับคดีตามคำพิพากษา ท่านห้ามมิให้บังคับคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษา

5. โดยการอายัดเงินเดือนจะให้บริษัทนำส่ง หรือลูกหนี้นำส่งกรมบังคับคดีเอง ก็ได้

 

เรียบเรียงและเขียนโดยธนู กุลอ่อน

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,839