แบ่งทรัพย์มรดก

คดีแบ่งทรัพย์มรดก #ทนายคดีแบ่งทรัพย์มรดกThanuLaw

มรดก คือ ทรัพย์สินสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ซึ่งผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ว.1 และ 1600

   ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงไม่ใช่ มรดก

 

หลักการแบ่งมรดก

1. แบ่งตามพินัยกรรมก่อน ที่เหลือตกแก่ทายาทโดยธรรม

2. หากเป็นสินสมรสต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาท

3. ทายาทลำดับชั้นก่อน ตัดทายาทลำดับชั้นหลัง โดย ลำดับชั้นที่ 1 และ 2 ไม่ตัดกัน

4. หากไม่มีทายาทชั้นที่ 6 ทรัพย์นั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน

5. ทายาทที่มีลำดับชั้นเดียวกันมีสิทธิรับมรดกคนละเท่าๆ กัน

6. ถ้าทายาทลำดับชั้นที่ 1 3 4 หรือ 6 ตายก่อนเจ้ามรดก ทายาทผู้ที่ตายมีสิทธิรับมรดกแทนที่

 

ลำดับชั้นของทายาทโดยธรรม (สายเลือด) ตาม ป.พ.พ. 1629

1. ผู้สืบสันดาน ลูก หลาน เหลน โหลน รวมทั้งบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง และบุตรบุญธรรม

2. บิดามารดา

3. พี่น้องร่วมบิดามารดา เดียวกัน

4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา เดียวกัน

5. ปู่ ย่า ตา ยาย

6. ลุง ป้า น้า อา

พิเศษ ***คู่สมรส***

 

วิธีการแบ่งมรดกระหว่าง ทายาทโดยธรรม VS คู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 อย่างง่ายๆ

1. ถ้ามีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ด้วย คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกเหมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

e.g. มรดก 1,000,000 บาท บุตร 4 คน รวมคู่สมรส เป็น 5 คน แบ่งคนละ 200,000

2. ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 มีเพียงทายาทลำดับชั้นที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของบิดามารดา (ชั้นที่ 2)

e.g. มรดก 1,000,000 บาท ถ้ามีเพียงแม่ คู่สมรสได้ไป 500,000 บาท แม่ได้ 500,000

   ถ้ามีทั้งพ่อกับแม่ คู่สมรสได้ 500,000 พ่อได้ 250,000 บาท แม่ได้ 250,000

3. ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 และที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 3 (พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน)

e.g. มรดก 1,000,000 บาท ถ้ามีพี่ชายคนเดียว คู่สมรสได้ไป 500,000 บาท พี่ชายได้ 500,000

   ถ้ามีพี่น้อง 5 คน คู่สมรสได้ 500,000 พี่น้องได้คนละ 100,000

4. ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 4 (พี่น้องพ่อหรือแม่เดียวกัน)

e.g. มรดก 900,000 บาท ถ้ามีพี่ชายคนเดียว คู่สมรสได้ไป 600,000 บาท พี่ชายได้ 300,000

   ถ้ามีพี่น้อง 3 คน คู่สมรสได้ 600,000 พี่น้องได้คนละ 100,000

5. ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 5 (ปู่ ย่า ตา ยาย)

e.g. มรดก 900,000 บาท ถ้ามีย่าคนเดียว คู่สมรสได้ไป 600,000 บาท ย่าได้ 300,000

   ถ้ามีครบทั้งปู่ย่าตายาย คู่สมรสได้ 600,000 ปู่ย่าตายายได้คนละ 75,000

6. ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 6 (ลุง ป้า น้า อา)

e.g. มรดก 900,000 บาท ถ้ามีลุงคนเดียว คู่สมรสได้ไป 600,000 บาท ลุงได้ 300,000

   ถ้ามีลุง ป้า น้า คู่สมรสได้ 600,000 ปู่ย่าตายายได้คนละ 100,000

7. ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมเลย คู่สมรสได้ทั้งหมด

 

การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทอาจทำได้ โดยวิธีดังนี้

1. ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ

2. โดยขายทรัพย์มรดก แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันระหว่างทายาท หรือ

3. โดยทำสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด (โดยนำหลักการในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับ)

   ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท (ไม่ใช่ไปแบ่งให้บุคคลอื่นหรือญาติของตัวเอง) ดังนั้นการที่ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดก จึงต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะอ้างเรื่องอายุความมายันทายาทไม่ได้

 

ข้อสังเกตุ สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกถอเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จะทำข้อตกลงแทนผู้เยาว์ ต้องได้รับอนุญาตจากศาล อ้างอิง ฎ.1072/2527

 

มรดก VS ไม่ใช่มรดก 

เป็นมรดก

1. สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมรดก ฎ.107-110/2543

2. สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ฎ.8479/2540

3. สิทธิในที่ดินครอบครองปรปักษ์ จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ฎ.7487/2538

4. เงินตามโครงการ early retire ฎ.1288/2533

5. สิทธิตามภาระจำยอม ฎ.1227/2533

6. สิทธิในการบังคับคดีแพ่ง ฎ.365/2532

7. เงินสะสมราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน ฎ.1953/2515

8. สิทธิในหุ้น(ตกทอดทันทีแม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น) ฎ.310/2510

9. สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ขายฝาก ฎ.919/2495

10. สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สิน ฎ.372/2549

11. สัญญายืมเงิน ค้ำประกัน ฎ.1268/2555

12. ที่ดินของคนต่างด้าว ฎ.6089/2558

13. สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้าง ฎ.426/2526

14. สิทธิฟ้องขับไล่ ฎ.2433/2538

15. สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ฎ.3208/2538

16. เช็คถึงกำหนดหลังตาย ฎ.3619/2543

16. กิจการของบริษัท ประกอบด้วย เงินลงหุ้น ค่าหุ้น ผลกำไร เงินปันผล ฎ.622/2543

 

ไม่เป็นมรดก

1. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ฎ.3776/2545

2. เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตันถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฎ.3656/2557

3. เงินประกันชีวิต ฎ.4714/2542

   แต่ถ้าในกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ จะถือเป็นทรัพย์มรดกทันที ฎ.4239/2558

4. เงินเพื่อนช่วยเพื่อน ช.พ.ค. ฎ.4714/2542

5. สิทธิเบิกเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี O/D ฎ.3074/2541

6. ดอกผลของทรัพย์มรดก ฎ.370/2506

7. เงินบำเหน็จบำนาญตกทอก เงินบำนาญพิเศษ ตาม พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฎ.4/2505

8. คำมั่นจะให้เช่าต่อจากสัญญาเช่าเดิม ฎ.1602/2548

9. สิทธิอาศัย ฎ.1180/2538

10. สิทธิการเช่า สิ้นสุดเมื่อผู้เช่าตาย ฎ.1008/2548, 5038/2557

   แต่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ตกทอดไปยังทายาท ฎ.2526/2531

11. เงินช่วยพิเศษ กรณีตายในระหว่างรับราชการ

12. สิทธิในการจัดการมรดก

13. สิทธิในการฟ้องคดีอาญา ฎ.2219/2520

 

ค่าธรรมเนียมศาล : 2% ของมูลค่าทรัพย์มรดกที่ต้องการเรียกร้องให้แบ่ง

 

อายุความ : 5 ปีนับแต่แบ่งเสร็จสิ้น (ไม่มีทรัพย์มรดกคงเหลืออีกแล้ว) หากยังมีอยู่ไม่ถือว่าเริ่มนับอายุความ อ้างอิง ฎ.670/2565

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ฟ้องผู้จัดการมรดก จัดการมรดกไม่ชอบ อายุความ 5 ปี นับแต่การแบ่งเสร็จสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12777/2558

   โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่นาง ต. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหรือ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์โดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม และผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาง ต. ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนาง ต. ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 นั้น เป็นวันที่ล่วงเลยระยะเวลาหลังจากที่นาง ต. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปีนั้น ซึ่งเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่เป็นทายาทฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แก่ตนกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความในมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกได้สิ้นสุดลง มิให้อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะในกรณีทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทด้วยกัน

 

ประเด็น : ฟ้องผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์ 10 ปีนับแต่วันยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2562

   โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ตาม ป.อ.มาตรา 354(เดิม) ประกอบมาตรา 353(เดิม) มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี  หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 95(3) ซึ่งการนับอายุความตามมาตรานี้ต้องนับแต่วันกระทำความผิด

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2543 และวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ตามลำดับ จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนและรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30180 และ 45641 ตามลำดับ อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาเป็นของตน โดยมิได้ทำการแบ่งปันให้แก่โจทก์และทายาทคนอื่น ๆ ของผู้ตาย และต่อมาจำเลยได้จำหน่ายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไป อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2543 และวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ตามลำดับ อันเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด หาใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่ ดังนั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ.มาตรา 95(3)

 

ประเด็น : แบ่งทรัพย์มรดกโดยการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว จะอ้างมาขอเรียกร้องใหม่อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2504 

   โจทก์จำเลยเป็นทายาทรับมรดกร่วมกัน ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัดกันไปแล้วนั้น การตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเช่นนี้ชอบด้วยมาตรา1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งใหม่ให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกหาได้ไม่

 

ประเด็น : สัญญาแบ่งทรัพย์มรดก แม้ทายาทลงชื่อไม่ครบ ก็หาเสียไปไม่ เพียงแต่ไม่ผูกพันทายาทที่ไม่ได้ลงชื่อเท่านั้นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2524

   สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น

 

ประเด็น : เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2546

   แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม จะห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่บทบัญญัติดังกล่าว ก็บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 และมาตรา 745 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะฟ้องบังคับชำระหนี้เกินกว่า1 ปี นับแต่ผู้ร้องรู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของเจ้าของมรดก ผู้ร้องก็ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้

 

ประเด็น : การแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ทายาทสามารถร้องขอศาลให้รับโอนมรดกได้ โดยไม่จำต้องนำออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560

   ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน

 

ประเด็น : ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเพียงวาจา ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ เช่นนี้ยังไม่ถือว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายได้มีการแบ่งปันกันแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรสอง อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2564

 

ประเด็น : อายุความคดีจัดการมรดก 5 ปีนับแต่การจัดการ(ทรัพย์สุดท้าย)สิ้นสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4408/2563

   อายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกันกฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตราโดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มีอายุความหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะเคยเป็นผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่ของตนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกโดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม   ขอให้เพิกถอนการโอน จัดการโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นกองมรดกของ ช. จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุ 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามมาตรา 1733 วรรคสอง

   โจทก์ทั้งสามยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมานับแต่ ช.ถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่จำเลยที่2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนขายต่อให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้ยินยอม การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ หามีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1720 และมาตรา 823 เมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกมิได้ดำเนินกการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกันก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จะนำอายุความ 5 ปีตามมาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกของ ช. การที่จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 เรียกคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องคดีเกินกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม คดีก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1732 ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงาน แสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ วันที่ระบุไว้ใน มาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดย จำนวนข้างมากหรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิดหรือข้อตกลงอื่นๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ ใน มาตรา 1732 นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนแล้ว

   คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

   ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำ มาตรา 850 มาตรา 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1748 ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แล้วก็ดี

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

   คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

   ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

   ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

   (1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

   (2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตามมาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

   (3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม

   (4) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ทายาทโดยธรรม สามารถรับมรดกได้ทั้งตามพินัยกรรม และในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1621

2. บุตรที่มีพฤติการณ์รับรอง เช่น ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู เป็นต้น

3. บิดาต้องโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก

รูปแบบคดี  

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการ จันทร์ถึงศุกร์ เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:43:44
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ดา [IP: 1.46.101.xxx]
เมื่อ: 2020-02-18 16:28:08
ถ้ารู้ว่าเค้ายักยอกทรัพย์ เราสามารถฟ้องได้ไม่เกินกี่ปี หรือกี่เดือน
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.23.xxx]
เมื่อ: 2020-11-01 22:18:02
ตอบ #2 โดย : ดา
ภายใน 10 ปีนับแต่วันยักยอกทรัพย์
#4 โดย: ท่านผู้ใดก็ได้ครับ [IP: 182.52.45.xxx]
เมื่อ: 2022-01-31 16:50:50
มรดกที่ยังไม่แบ่งกันทายาทคนหนึ่งคนใดไปทำโฉนดเป็นชื่อตนเองได้ไหมครับ
#5 โดย: นนท์ [IP: 49.228.105.xxx]
เมื่อ: 2022-07-29 13:54:24
ภรรยาแยกกันอยู่กับสามี ไม่ได้หย่า ต่อมา เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ญาติพี่น้อง สามีร้องให้แบ่งสินสมรสก่อน เราเป็นจำเลยจะทางต่อสู้อย่างไรครับ
#6 โดย: มายู [IP: 49.237.36.xxx]
เมื่อ: 2022-08-20 21:48:29
มรดก3ส่วน ทายาทบางคนไม่ยินยอมเซ็น ทั้งที่มีผู้จัดการมรดก
#7 โดย: เยาวภา [IP: 49.229.161.xxx]
เมื่อ: 2022-09-20 00:05:32
กรณีได้รับแบ่งที่ดินและปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าว แต่ได้รับไม่ครบตามสิทธิ์ ศาลตัดสินให้ได้รับส่วนที่ขาด คู่กรณีไม่ยอมโดยจะให้เอาที่ดินทั้งหมดขายทอดตลาด จะมีวิธีต่อสู้อย่างไรคะที่จะไม่ต้องเอาทรัพย์ทั้งหมดไปขายทอดตลาด เพราะต้องการให้คู่กรณีแบ่งในส่วนที่ขาดมาให้ครบตามสิทธิ์
#8 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.39.xxx]
เมื่อ: 2023-01-04 17:07:27
#4 โดย: ท่านผู้ใดก็ได้ครับ
ไม่ได้ ครับ
#9 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.39.xxx]
เมื่อ: 2023-01-04 17:08:20
#5 โดย: นนท์

ถ้าพิสูจน์ว่าได้มาระหว่างที่สมรสก็เป็นสินสมรส จะต้องแบ่งครับ
#10 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.39.xxx]
เมื่อ: 2023-01-04 17:09:04
#7 โดย: เยาวภา

ถ้าแบ่งไม่ได้ ปลายทางก็คือการขายทอดตลาด
#11 โดย: ทิชา [IP: 1.46.3.xxx]
เมื่อ: 2023-03-30 19:56:34
แล้วถ้าเกิดเจ้ามรดกตายไป3ปีแล้วแต่พี่น้องบางส่วนยังไม่ยอมพูดเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดก พอพูดก็ชวนทะเลาะ เราซึ่งมีส่วนในมรดกนั้นต้องทำยังไงแล้วมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง
#12 โดย: vichai [IP: 110.168.55.xxx]
เมื่อ: 2023-04-10 08:59:49
ฟ้องขอแบ่งมรดกต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลไหมครับ ถ้าเสียต้องเสียเท่าไหร่

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,558