ซื้อขายที่ดิน

คดีผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน #ทนายคดีซื้อขายที่ดินThanuLaw

   สัญญาจะซื้อจะขาย หมายถึง สัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาได้ทำสัญญาไว้ต่อกันฉบับหนึ่ง ว่าจะไปทำสัญญาซื้อขายให้สำเร็จตลอดไป โดยทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายภาคหน้า

 

หลักฐานการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 มีอยู่ 3 อย่าง คือ (มิฉะนั้น จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้)

1. หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด

2. การวางประจำ (วางมัดจำ)

3. การชำระหนี้บางส่วน (ส่งมอบทรัพย์สิน)

 

กรณีผิดนัดตามสัญญาจะซื้อจะขาย

ฝ่ายผู้จะขายผิดนัด : ผู้จะซื้อมีสิทธิ 2 ประการ

A : สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย กล่าวคือ บังคับให้ผู้จะขายไปยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และรับเงินส่วนที่เหลือ หักจากจำนวนเงินมัดจำ พร้อมส่งมอบโฉนดที่ดิน

B : สิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา และให้ผู้จะขาย คืนเงินมัดจำ พร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปี และค่าเสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 และ 222 (ถ้ามี)

 

ฝ่ายผู้จะซื้อผิดนัด : ผู้จะขายมีสิทธิรับเงินมัดจำ โดยต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ซื้อด้วย

 

เขตอำนาจศาล : ภูมิลำเนาจำเลยหรือสถานที่มูลคดีเกิด (ไม่ใช่ตามที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ฎ.8947/2547)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ผู้จะขายมีสิทธิรับเงินมัดจำ แต่เงินดาวน์ที่ชำระภายหลังวันทำสัญญา ไม่ถือเป็นเงินมัดจำ แม้ตามสัญญาระบุให้ถือเป็นมัดจำ จึงต้องคืนแก่ผู้จะซื้อ

คำพิพากษาฎีกาที่ 7175/2554

   โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอให้สิทธิรับเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกัน ให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2538

   มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2532 ระบุว่าในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน 200,000 บาท และในวันที่ 20 มีนาคม 2532 อีกจำนวน 3,300,000 บาท เงินสดจำนวน 200,000 บาท เท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำที่จะต้องริบ เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาส่วนเงินจำนวน 3,300,000 บาท นั้นไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้าซึ่งชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่านั้นจึงริบไม่ได้

 

ประเด็น : ผู้จะซื้อบังคับให้ผู้จะขายโอนเฉพาะที่ดินได้ แม้จะตกลงกันซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2555

   ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ระบุเนื้อที่ดินตามโฉนดแต่ละแปลง 16 ตารางวา และระบุราคาที่ดินตารางวาละ 150,000 บาท ทั้งยังระบุด้วยว่า หากว่ามีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นหรือลดลง คู่สัญญาจะคิดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามราคาที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยสามารถชำระหนี้ตามสัญญาในส่วนที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เมื่อครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์ตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา คือ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่ดินซึ่งจำเลยสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งไม่เป็นการบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้บางส่วนแต่อย่างใด

 

ประเด็น : ตกลงว่าถ้าธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ ผู้จะขายต้องคืนมัดจำทั้งหมด เมื่อสัญญาเลิกกัน ผู้จะขายจึงต้องคืนเงินมัดจำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540

   สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

   โจทก์ประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่มีร้านเป็นของตนเอง เหตุที่ต้องการซื้อตึกแถวจากจำเลยก็เพราะร้านเสริมสวยที่ทำอยู่จะหมดสัญญาเช่า เงิน 150,000 บาท ที่วางมัดจำให้จำเลยไว้ก็เป็นเงินที่ยืมมาจากมารดา ในขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ติดต่อกับธนาคารยังไม่แน่ว่าธนาคารจะให้กู้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด โดยปกติการทำสัญญาจะซื้อขายผู้ซื้อจะเอาเงินมาจากที่ใดเป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในสัญญา แต่สัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาทนี้เขียนไว้ว่าเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อธนาคารอนุมัติให้แสดงว่าได้มีการพูดถึงเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายครั้งต่อไปกันไว้แล้วว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวนดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกัน ต่อมาธนาคารอนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เพียง 1,000,000 บาท ไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาโดยมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนมัดจำที่ริบไว้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจะริบเสียมิได้

 

ประเด็น : เงินมัดจำที่ริบสูงเกินไป ศาลลดมัดจำลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559

   เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์

 

ประเด็น : ก่อนฟ้องผู้ขายต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญา เพื่อใช้สิทธิริบเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556

   การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

   ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

   สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท

   สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

 

ประเด็น : อายุความสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2534

   ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นอยู่ในเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างเป็นพยานคือเอกสารในคดีอื่นซึ่งโจทก์จำเลยส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำสำนวนคดีดังกล่าวมาผูกติดกับสำนวนคดีนี้ และเมื่อเห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยได้

   เงินมัดจำ 500,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้จำเลยซึ่งเป็นราคาที่ดินส่วนหนึ่งอันจะนำไปสู่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล โดยมีข้อตกลงกันว่าก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินนั้น เมื่อโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่กระทำกันมาแล้วเสียได้ และจะถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ แม้จะมีการชำระเงินมัดจำกันแล้วก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเงินมัดจำดังกล่าวคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญา ซึ่งต้องให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 หรือเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 การเรียกเงินมัดจำคืนดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ส่วนดอกเบี้ยในเงินค่ามัดจำดังกล่าวนั้นเมื่อกรณีไม่ใช่การเลิกสัญญาตามมาตรา 391 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 391 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2540

    ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีฐานะเป็นผู้จะซื้อซึ่งมีความผูกพันตามสัญญาในฐานะผู้จะซื้อทุกประการ และในสัญญาข้อ 6 มีใจความว่าคู่สัญญาตกลงกันว่าในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผู้จะขายยอมให้โจทก์ผู้จะซื้อลงชื่อบุคคลใดหรือนิติบุคคลใดเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญานี้ได้ แสดงว่าโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อมีสิทธิให้ผู้ใดเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิให้ลงชื่อผู้ใดเป็นผู้รับโอนก็หาทำให้ความผูกพันของโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์ยังคงเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยทั้งห้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า

    ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 5 เป็นเพียงข้อตกลงในชั้นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีอากรต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินฝ่ายใดจะเป็นผู้ชำระ แม้จะตกเป็นโมฆะเพราะโจทก์และจำเลยทั้งห้าตกลงกันว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในราคาประเมินของทางราชการซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าภาษีและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน แต่ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนก็มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 กำหนดให้ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้กันอย่างไรไว้แล้ว จึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งคดีว่าคู่กรณีได้เจตนาให้ข้อสัญญาข้ออื่นที่สมบูรณ์แยกออกจากข้อ 5 ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ตามนัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เว้นแต่ข้อ 5จึงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ

    เมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับ ตามสัญญากำหนดเบี้ยปรับไว้ 14,000,000 บาท แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายอย่างไรเป็นเงินเท่าใด ประกอบกับระยะเวลานับแต่วันทำสัญญากับวันยื่นฟ้องห่างกันเพียง 7เดือนเบี้ยปรับที่กำหนดไว้จึงสูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นจำนวนถึง 50,000,000 บาท นอกจากจะสูงกว่าเบี้ยปรับเป็นจำนวนมากแล้วยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ฟังว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใดอีกด้วยศาลฎีกาเห็นควรคำนวณค่าเสียหายให้โจทก์ 10,000,000 บาท ตามราคาที่ดินพิพาทที่น่าจะเพิ่มขึ้นในขณะยื่นฟ้องให้เหมาะสมได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

   สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

   บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

มาตรา 457 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย

มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

   ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

   ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

   การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

มาตรา 222 การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหม ทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

   เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือ ควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์แล้วไปรอ ณ สำนักงานที่ดิน แต่อีกฝ่ายไม่ไปให้รอจนถึงสำนักงานที่ดินปิดทำการ แล้วไปลงบันทึกรับแจ้งเป็นหลักฐานไว้

2. หากผู้จะซื้อนำแคชเชียร์เช็คไปด้วย ให้ระบุในบันทึกรับแจ้งเป็นหลักฐานของตำรวจไว้ด้วย

3. ฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีสิทธิบอกกล่าวบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามหรือบอกเลิกสัญญาได้

4. หากจะซื้อขายแบบเหมาแปลงหรือตามจำนวนเนื้อที่ ต้องระบุข้อตกลงในสัญญาเป็นให้ชัดเจน

6. สัญญาที่ทำภายในข้อกำหนดห้ามโอน แต่ระบุให้มีผล เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าโมฆะ

7. หากสัญญาไม่ได้ระบุวันโอนกรรมสิทธิ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถกำหนดได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังอีกฝ่ายให้ทราบ

8. เสนอคำฟ้อง ณ ศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาล หรือภูมิลำเนาของจำเลย

 

ค่าว่าความ คดีผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินบ้าน

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

♦ บริการร่างสัญญา

15,000 - 30,000

 

รับว่าความทั่วราชอาณาจักร

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:47:35
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ใส [IP: 184.22.214.xxx]
เมื่อ: 2020-01-19 22:27:22
กรนีตกลงชื้อขายที่ดิน 4ไร่จำนวนเงิน 69000บาทแต่คู่่กรนีจ่ายแค่ 60000บาทยังขาดอีก 9000 แต่โอนให้แล้ว 2ไร่ สัณญาทำมา แต่ปี 2538 เขาผิดสัณญาเขาไม่ยอมจ่าย เขายังมาบอกให้เราโอนที่ดินให้ เขาทำกินที่เรา 20ก่วาปีเราพอจะเอาที่ดินเราคืนใด้มัย ครับ
#3 โดย: Bb [IP: 223.24.164.xxx]
เมื่อ: 2020-08-09 23:58:05
ในกรณีที่ว่าเราจะขายที่ดินพร้อมบ้านแล้วมีการตกลงกันย่าจะซื่อจะขายและผู้ซื่อรออนุมัดจากธนาคารแต่ส่าเด่อนก่วาไม่เห็นติดต่อมาแม่ก็เลยขายให้คนอื่นไปโอนเส็รจแล้วต่อมาผู้ทึ่จะซื่อคนแรกมาบอกว่าธนาคารอนุมัดแล้วแล้วเขาจะมาฟ้อนแม่ในกรณีนี้ต้องทำนังไงครับ
#4 โดย: suparat [IP: 223.206.235.xxx]
เมื่อ: 2020-09-13 17:49:05
A กับ B ตกลงกันด้วยวาจา ว่าจะซื้อขายที่ดินกันและนัดกันไปสำนักงานที่ดินกันมน 15 วัน พอครบกำหนดไม่ไปตามนัด กรณีเช่นนี้มีความสมบูรณ์ในทางกฎหมาย หรือสามารถฟ้องร้องกันได้หรือไม่
#5 โดย: กัญญาพัชร [IP: 182.232.91.xxx]
เมื่อ: 2021-01-16 10:25:26
กรณีผู้ขายว่าขายที่ดินแปลงนี้ให้ผู้ซื้อ แปลงนี้ โดยที่ผู้ขายไม่รู้เลยว่ามีกี่ไร่
ผู้ขายว่าขายที่แปลงนี้ แล้วทำสัญญาขึ้นมาสองคนกับผู้ชื้อ พอผู้ซื้อมาทำสัญญาเขียนเองว่าจำนวน1ไร่ ส่วนผู้ซื้อนั้นไม่ได้หนังสือเลย แล้วผู้ขายบอกให้เซ็น
ผู้ชายนั้นไม่อ่านรายละเอียดให้ผู้ชื้อฟัง
เลย ทั้งที่ตกลงกันไว้ว่าแปลงนี้ ผู้ชื้อได้จ้างรังวัดไปวัดโอนกรมสิทธิ์เป็นของตนแล้วเรียบร้อยแล้วเวลาผ่านมา1ปี ผู้ซื้อขายนำใบสัญญาขึ้นมาฟ้องว่าผู้ชื่อทำผิดสัญญา ว่าโอนกรรมสิทธิ์เกิน
อยากทราบว่า ผู้ขายผิดข้อตกลงกันหรือเปล่าคะ แล้วเราต้องคืนส่วนที่เกินไปให้ผู้ขายหรือเปล่า ให้คำแนะนำหน่อยนะคะ หรือสัญญานั้นเป็นโมฆะและ แล้วเราจะอยู่ในฐานช่อโกงหรือเปล่า
#6 โดย: ทรงพล [IP: 119.76.51.xxx]
เมื่อ: 2021-09-12 21:20:52
าะญญาจะซื้อขายที่ดินระยุเงิ่อนไขว่าผู้ขายต้องเดินไฟฟ้าเข้าที่ดิน เสร็จสิ้น จึงจะโอนกรรมสิทธ์
ผู้ขายไปติดต่อการไฟฟ้า เพื่อเดินเสาและสายไฟฟ้า แต่ทีายว่ามีราคาสูง จึงจะไม่ทำตามเงื่อนไข และจะให้ไปจดทะเบียนโอน
ผู้ซื้อ สามารถบอกเลิกสัญญา และเรียกคืน เงินมัดจำ พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้ง ค่าเสียหายที่ระยุไว้ หาก ใ่านใดผิดสัญญา ได้หรือไม่ครับ
#7 โดย: สมหมาย [IP: 1.47.2.xxx]
เมื่อ: 2021-12-30 23:01:13
วางเงินมัดจำค่าที่ดิน50%แล้วขอเข้าทำการขุดบ่อในที่ดินก่อนต่อมามีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ ผซ แจ้งว่าจะจ่ายเงินหลังโอนแต่ก็ไม่จ่ายพอทวงถาม ผซ แจ้งยกเลิก
บังคับให้ ผข คืนมัดจำจึงจะโอนกรรมสิทธิ์คืน ผข ถือเป็นการสมัครใจยินยอมหรือไม่
#8 โดย: กวินทรา [IP: 223.206.228.xxx]
เมื่อ: 2022-07-01 09:27:18
ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตั้งแต่ปี 2538 จำนวน 40000 บาท ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่ยังไม่สามารถโอนได้ทันที แต่เขียนระบุในสัญญาว่าเอาออกจากสหกรณ์เมื่อไหร่จะโอนให้ภายในเดือนที่ใบออก แต่หลังจากนั้นเขาเอาที่ออกจากสหกรณ์ได้ เขาโอนไปให้ลูกสาว เราสามารถทำอะไรได้บ้างคะ
#9 โดย: ธงไชย [IP: 136.226.234.xxx]
เมื่อ: 2022-09-23 13:41:22
คำแนะนำข้อ6คืออะไรครับ งง อ่านแล้วตีความไม่ถูก
#10 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:00:18
#2 โดย: ใส
ฟ้องเรียกเงินที่ขาด อายุความ 10 ปีแล้ว
กรณีที่อาจจะโดนครอบครองปรปักษ์ได้ด้วยนะครับ
#11 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:01:27
ตอบ #3 โดย: Bb
ฟ้องเพิกถอนการขายให้คนที่ 2 ได้ครับ หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ซื้อก็ได้เช่นเดียวกัน
#12 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:02:12
ตอบ #4 โดย: suparat
ไม่มีผลใดๆเลยครับ
#13 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:03:45
ตอบ #5 โดย: กัญญาพัชร
ไม่ต้องครับ ถือเป็นการขายยกแปลง พื้นที่เท่าไหร่ก็รับไปเท่านั้น (เท่าที่ตาเห็น)
#14 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:04:52
ตอบ #6 โดย: ทรงพล
เรียกคืนเงินได้ครับ เพราะผู้ขายไม่ตามทำสัญญา แต่ควรมีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามสัญญาก่อน บอกเลิกสัญญา
#15 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:05:22
ตอบ #7 โดย: สมหมาย
ถือเป็นการลักทรัพย์ เลยนะเนี่ย
#16 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.16.xxx]
เมื่อ: 2022-12-07 07:06:09
ตอบ #8 โดย: กวินทรา
ฟ้องเพิกถอนการโอนได้ครับ หรือจะฟ้องเรียกเงินคืนก็ได้
#17 โดย: สมชาติ [IP: 49.230.177.xxx]
เมื่อ: 2023-01-07 10:31:48
ขอถามหน่อยครับ กรณีที่ผมจ่ายเงินครับแล้วคนที่ขายที่ดินให้ไม่ยอมไปใช้นี้ที่ธนาคาร แล้วไม่สามารถนำโฉนดที่ดินออกมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ผมต้องทำยังไงครับ
#18 โดย: ball [IP: 49.228.196.xxx]
เมื่อ: 2023-01-10 14:34:36
ผู้ขาย ผิดสัญญาสามารถฟ้องร้องเอาที่ดินได้มั้ยครับ ในกรณีที่ผู้ขาย ขายให้คนอื่นแล้ว หรือ ฟ้องได้แค่เอาเงินนที่มัดจำกับดอกเบี้ย
#19 โดย: เสาร์ [IP: 182.232.224.xxx]
เมื่อ: 2023-02-07 18:43:45
ขอถามหน่อยค่ะ กรณีพ่อขายที่ดินให้ญาติ เขาสองคนได้ทำสัญญาซื้อขายกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยที่ดินแปลงนั้นเป็นชื่อหนู โดยที่หนูไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วมาบอกว่าขายที่ดินไปแล้ว แล้วให้หนูโอนโฉนดให้ญาติ แล้วหนูก็พึ่งรู้วันโอนว่าเขาทำหนังสือสัญญากัน อันนี้ต้องทำอย่างไงค่ะ
#20 โดย: Lin99 [IP: 1.47.152.xxx]
เมื่อ: 2023-08-04 11:25:47
สอบถามครับ
ทำหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขาย แต่ไม่วางมัดจำ. ไม่ระบุวันโอน.
ผู้จะซื้อเอาไปกู้ธนาคารแต่เซ็นชื่อ4ช่องครบ ตอนนี้มีคนจะมาซื้อสดเราสมารถขายได้เลยไหมครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,036