จำนอง

คดีจำนอง ที่ดิน บ้าน อาคาร ห้องชุด เรือ เครื่องจักร #ทนายคดีจำนองThanuLaw

จำนอง คือ การที่ "ผู้จำนอง" เอาทรัพย์สินของตนตราไว้แก่ "ผู้รับจำนอง" เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง

   ซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วก็ตาม

 

ทรัพย์ที่จำนองได้

อสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 703 : ที่ดิน โฉนด น.ส.3 บ้าน อาคาร ตึก ห้องชุด

สังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 703 ว.2 : เรือระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ(ที่คนอยู่อาศัย) สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ) เครื่องจักร

 

หลักเกณฑ์และวิธีการ

1. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 อ้างอิง ฎ.5537/2557

2. สัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะสมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 714 มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ

3. สถานที่จดทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจ ดังนี้

   » ที่ดิน โฉนด น.ส.3ก : สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินตั้งอยู่

   » น.ส. 3 : ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่

   » เฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่รวมที่ดิน : ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่

   » เรือขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปที่เดินด้วยเครื่องจักรกล : กรมเจ้าท่า สำนักงานมาตรฐานทะเบียนเรือ

   » เครื่องจักร : สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กระทรวงอุตสาหกรรม

 

ผลของสัญญาจำนอง

1. ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ

2. เจ้าของทรัพย์สามารถนำไปจำนองกับผู้รับจำนองได้หลายคน โดยเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เรียงตามลำดับวันที่จดทะเบียน

3. สิทธิจำนองย่อมมีผลไปถึงทรัพย์สินที่จำนองทุกสิ่ง แต่ไม่รวมดอกผล

4. ถ้าจำนองกันหลายคน โดยมิได้ระบุลำดับการจำนองไว้ ผู้จำนองคนหนึ่งคนใดได้ชำระหนี้ไปแล้ว ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองรายอื่น

5. การโอนทรัพย์สินที่จำนองไปให้ผู้อื่น สิทธิในการจำนองย่อมโอนติดไปกับทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

6. ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอากับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ อ้างอิง ฎ.6149/2557

 

การระงับของสัญญาจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744

1. หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นซึ่งมิใช่เหตุอายุความ 

2. ปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

3. ผู้จำนองหลุดพ้น

4. ไถ่ถอนจำนอง

5. ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1

6. ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด

 

การหลุดพ้นจากสัญญาจำนอง

1. ผู้รับจำนองยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ โดยทำเป็นหนังสือ และผู้จำนองไม่ยินยอม ผู้จำนองหลุดพ้น

2. ผู้จำนองขอชำระหนี้ ผู้รับจำนองไม่ยอมรับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้จำนองหลุดพ้น

 

***เงื่อนไข / วิธีการบังคับจำนอง สามารถทำได้ 3 วิธี

วิธีที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728

1.1. กรณีลูกหนี้นำทรัพย์ของตนมาจำนอง ตามวรรค 1 : ผู้ร้บจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน

   หากกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 60 วัน ผู้รับจำนองไม่มีอำนาจฟ้อง อ้างอิง ฎ.5702/2562

1.2. กรณีบุคคลอื่นนำทรัพย์มาจำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ ตามวรรค 2 : ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวแก่บุคคลภายนอกผู้จำนองภายใน 15 วันนับแต่วันส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้ทราบ หากเจ้าหนี้ฝ่าฝืนไม่ส่งภายใน 15 วัน บุคคลภายนอกผู้รับจำนองหลุดพ้นความรับผิด ในส่วนดอกเบี้ย ค่าสินไหมซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ค่าภาระติดพัน  และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการทวงถามให้ชำระหนี้ บรรดาเกิดพ้นกำหนด 15 วัน ***ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตกเป็นโมฆะโดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 714/1***

   เมื่อครบกำหนดตามคำบอกกล่าว(ไม่น้อยกว่า 60 วัน) ลูกหนี้ไม่ชำระเงิน ผู้รับจำนองในฐานะเจ้าหนี้ จะต้องฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เอาทรัพย์ที่จำนองนั้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ของตน

 

วิธีที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 729 ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์จำนองนั้น หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตน(เจ้าหนี้)

หากเข้าเงื่อนไข ดังนี้

2.1. ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้ว 5 ปี และ

2.2. ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินที่จำนองนั้น น้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

***ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตกเป็นโมฆะโดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 714/1***

 

วิธีที่ 3 ขายทอดตลาดโดยความยินยอมของผู้จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 729/1

โดยวิธีการ : ให้สิทธิผู้จำนองมีหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้เอาทรัพย์ของตนเองที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล โดยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับหนังสือดังกล่าว ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาด มิเช่นนั้น ผู้จำนองหลุดพ้นในเรื่องดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 1 ปีไปแล้ว

 

ยอดหนี้ค้างชำระ ภายนอกบังคับจำนอง

การจำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 727/1 หากมีการบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดแล้ว หนี้ประธานยังคงค้างชำระ ผู้รับจำนองหลุดพ้นความรับผิด และหากตกลงแตกต่างจากมาตรานี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

   แต่ในส่วนของการทำข้อตกลงยกเว้น กรณีนำทรัพย์มาจำนองหนี้ของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 หากบังคับจำนองแล้วยังคงค้างชำระ ลูกหนี้ยังคงรับผิด ยังคงยึดถือใช้ได้ต่อไป

 

การบังคับจำนองแก่ผู้ที่รับโอนทรัพย์ที่จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 735

1. ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 714/1 

2. ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองจะไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนองเมื่อใดก็ได้ แต่หากได้รับการบอกกล่าวตามข้อ 4. มาตรา 735 ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองต้องไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนองภายใน 60 วัน

***ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตกเป็นโมฆะโดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 714/1***

 

แนวทางการฟ้องคดี

: โดยทั่วไปการฟ้องบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะมีสัญญา 2 สัญญา คือ สัญญากู้(ประธาน) และสัญญาจำนอง(อุปกรณ์) เจ้าหนี้สามารถฟ้องตามสัญญาเงินกู้ หรือสัญญาจำนองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองสัญญาพร้อมกันก็ได้

» เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จึงสามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ โดยฟ้องเรียกเฉพาะสัญญากู้ยืมเงินก็ได้ ซึ่งหากฟ้องเฉพาะสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อชนะคดีแล้ว ก็สามารถบังคับยึดทรัพย์สินทุกประเภทรวมทั้งทรัพย์ที่จำนองได้จนกว่าจะครบจำนวนหนี้

» แต่ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองมาพร้อมกัน หากไม่มีข้อตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ เมื่อนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกไม่ได้

 

รูปแบบคดี

1. หากเจ้าหนี้เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืม รับจำนอง เป็นคดีผู้บริโภค

2. หากไม่เคยปล่อยกู้หรือรับจำนองรายอื่นมาก่อน เป็นคดีแพ่งมโนสาเร่

 

ค่าขึ้นศาล : 2 % ของทุนทรัพย์

 

เขตอำนาจศาล : ตามภูมิลำเนาผู้จำนอง

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. หนังสือสัญญาจำนอง

2. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2 ใบทะเบียนเรือไทย หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เครื่องจักร

3. สัญญากู้ยืมเงิน

4. สัญญาค้ำประกัน (ถ้ามี)

5. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองบริษัท

6. หนังสือทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนอง พร้อมใบตอบรับEMS

7. ตารางคำนวณยอดดอกเบี้ยค้างชำระ

8. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาล

   "พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองยึดที่ดิน โฉนดเลขที่ 1234 หน้าสำรวจ 567 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดียึดทรัพย์อื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก"

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : การบังคับจำนองได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง หากไม่มีข้อตกลงให้ลูกหนี้ยังผิดในเงินที่ยังขาดอยู่ จะยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2525/2557

   ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินจำนวน 8,000,000 บาท จากโจทก์ โดยทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฏีกาของโจทก์ว่า หากนำที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้หรือไม่ ที่โจทก์ฏีกาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยอย่างลูกหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนองแต่เพียงอย่างเดียว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบนัั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานมาด้วย แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอากับที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองดังกล่าวด้วย กรณีจึงเป็นการฟ้องบังคับจำนอง ซึ่งต้องอยู่ในบังคับของป.พ.พ.733 ซึ่งบัญญัติว่า"ถ้าเอาทรัพย์ซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบในเงินนั้น" ซึ่งลูกหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมหมายถึงลูกหนี้ชั้นต้นในหนี้ประธาน เมื่อสัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยลูกหนี้ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2553

   ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้รวม 36,130,856.01 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ตกลงร่วมรับผิดในหนี้ 27,265,664.86 บาท โจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสามเหลือจำนวน 19,152,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีในยอดหนี้เต็มจำนวนและยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่มีข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก และไม่อาจนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2541

   ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมกำหนดไว้ว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทซึ่งจำนองไว้และให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทน โดยไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้ด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก

 

ประเด็น : หนี้ประธานขาดอายุความ แม้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ แต่เมื่อได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็จะบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นอีกไม่ได้ แม้มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ผู้จำนองยึดทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551

   เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป

 

ประเด็น : มีหากข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองว่า เมื่อบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ผู้รับจำนองยอมชดใช้เงินที่ขาด มีผลบังคับใช้ ได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6188/2561

   ข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองที่ระบุว่า เมื่อบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ผู้จำนองยอมชดใช้ เงินที่ขาดจำนวนให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ แม้เป็นการตกลงยกเว้นให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 733 ก็ตาม แต่เป็นข้อตกลงที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นลูกหนี้ที่จำนองที่ดินเป็นประกันในการชำระหนี้ของตนเอง และหนี้ของจำเลยอีกคน การกำหนดให้ผู้จำนองและลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวน หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาจำนองซึ่งจำเลยทั้งสองต้องทราบและคาดหมายไว้อยู่แล้ว ส่วนการจะเรียกให้ผู้จำนองนำทรัพย์อื่นมาจำนองเพิ่มเติมต้องเป็นกรณีทรัพย์จำนองที่มีราคาต่ำลงกว่าในเวลาที่จำนองหรือทรัพย์จำนองบุบสลายหรือเสื่อมราคา จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจำนองที่จะต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองวางหลักประกันเพิ่มหาได้ไม่ เมื่อข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองที่ยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 733  ไม่มีผลให้จำเลยทั้งสองต้องรับภาระเกินที่พึงความคาดหมาย จะไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ 2540 การที่โจทก์ขอบังคับให้ยึดทรัพย์สินอื่น ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด กรณีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้เป็นข้อบังคับที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

ประเด็น : เจ้าของทรัพย์หลายคน ไม่ยินยอมให้จำนองในส่วนของตน จึงไม่ผูกพันเจ้าของรายอื่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2553

   ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยจำนองทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลยเท่านั้นเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ตัวทรัพย์ทั้งหมดนั้นจำเลยจะก่อภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของรวมคนอื่นยินยอมให้จำเลยทำนิติกรรมจำนอง การจำนองดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์ทั้งหมด การที่จำเลยเจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนต่อโจทก์จึงเป็นการจำนองเฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่กระทบถึงส่วนแห่งสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น

 

ประเด็น : การบอกกล่าวบังคับจำนอง จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้จำนอง แม้ไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819/2556

   การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว

 

ประเด็น : ผู้รับจำนองมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี เมื่อผู้จำนองชำระเงินต้น และดอกเบี้ย 5 ปีครบถ้วนแล้ว ถือเป็นอันหลุดพ้นหนี้ทั้งปวง ผู้จำนองจึงมีสิทธิฟ้องไถ่ถอน และบังคับให้ส่งมอบโฉนดที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559

   ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331

 

ประเด็น : แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่หนี้จำนองหาได้ระงับด้วยไม่ ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับบุริมสิทธิจำนองได้พร้อมกับดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2547

   การที่จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิจะบังคับจำนอง แม้หนี้ที่ประกันนั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 เมื่อโจทก์เสนอขอชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปี แต่จำเลยไม่ยอมรับชำระหนี้ การที่โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง เพื่อชำระหนี้จำนองแก่จำเลย จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนถอนจำเลยที่ดินพิพาทและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์

   คดีก่อน จำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองที่ดิน แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินดังกล่าวหลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีเดิมได้ล่วงหน้าพ้นไปแล้ว หาเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2552

   เมื่อผู้ร้องฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองจนศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ส่วนที่ว่าในขณะที่ผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดี ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 22 นั้น แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีจนล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ สิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นหนี้ประธานนั้นเป็นอันสิ้นไป แต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ในหนี้จำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี เช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องในจำนวนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95

 

ประเด็น : ดอกเบี้ย ผู้จำนองจะนำสืบให้แตกต่างจากสัญญาจำนอง ว่าเกินร้อยละ 15% ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6169/2547

   สัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งระบุให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน รวมทั้งบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนอง มีข้อความว่า จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไว้ชัดเจนแล้ว การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า ตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้นำสืบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

 

ประเด็น : บอกกล่าวบังคับจำนอง มาตรา 728 วรรค 2 ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน ไม่ปฏิบัติตามถือว่าไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5702/2562

   โจทก์และจำเลยทั้งสามจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 แต่การที่โจทก์ผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองนับจากนั้น โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสามลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่จำเลยทั้งสามลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ซึ่งกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 อันเป็นการกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 60 วัน ซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจนแน่นอนแล้ว จึงนำระยะเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่า เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันแล้วหาได้ไม่ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรค 1 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

 

ประเด็น : ไม่ได้รับเงินกู้ สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ ผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ลูกหนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7855/2559

   จำเลยให้การรับว่า จำเลยทำสัญญาจำนองระบุว่า เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยผู้จำนองกู้ไปจากโจทก์ผู้รับจำนอง และให้ถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมด้วย และผู้จำนองได้รับเงินเป็นการเสร็จแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธว่าทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จำเลยจะกู้ยืมเงินภายหลัง  ดังนี้ เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จำเลยไม่ต้องห้ามนำสืบพยานบุคคลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 วรรคท้าย และจำเลยมีภาระการพิสูจน์

   จำเลยทำสัญญาจำนองระบุว่ากู้ยืมเงินจากโจทก์ไว้เป็นประกัน แต่จำเลยมิได้รับเงินกู้ตตามสัญญาจำนองซึ่งให้ถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองตามฟ้องแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ โจทก์บังคับจำนองแก่จำเลยมิได้

 

ประเด็น : ต้องจำนองเป็นประกันหนี้ของตนเท่านั้น ประกันหนี้ของบุคคลอื่น ผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545 

   การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้

   การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล. และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกัน แล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องเป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายหาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

 

ประเด็น : บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม่สามารถจำนองทรัพย์ได้ เจ้าของที่แท้จริงสามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2558

   อ. ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับ บ. เพราะไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่า บ. รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. รวมไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนการจำนองจาก บ. ด้วยได้

 

ประเด็น : รับโอนทรัพย์สินติดจำนองมา หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ย่อมเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2545

   การที่ลูกหนี้ซื้อที่ดินบางส่วนจากบริษัท อ. ในขณะที่ที่ดินจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัท อ. และ/หรือบริษัท ส. มีต่อธนาคาร ม. ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ได้รับโอนกิจการมา เป็นการซื้อขายติดจำนอง สิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิย่อมติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสองลูกหนี้จึงต้องรับภาระจำนองมาด้วย เจ้าหนี้จึงยังมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าว การที่ธนาคาร ม. จดทะเบียนปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัท อ. ในเวลาต่อมา โดยส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองอยู่และภาระหนี้ยังคงเป็นของบริษัท ส. ตามเดิม ที่ดินส่วนของลูกหนี้จึงติดจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัท ส. ที่มีต่อธนาคาร ม. ต่อไปเจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินส่วนของลูกหนี้ในวงเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6

   การที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์ซึ่งติดจำนองมา ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ ลูกหนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันจะมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 5 มิได้ทำให้ลูกหนี้มีฐานะเป็นผู้จำนอง เมื่อประสงค์จะให้จำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ด้วยจะต้องมีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตามมาตรา 714 การที่เจ้าหนี้ที่และลูกหนี้ตกลงให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ซื้อมาโดยติดจำนองนั้นเป็นการจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้จดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะเจ้าหนี้จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันในส่วนนี้

   นอกจากมีบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย เช่นนี้หากผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่งการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วางเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระหนี้ในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง

 

ประเด็น : สิทธิในของผู้จำนองในการเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 724

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2552

   ตามข้อตกลงซื้อขายหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนเดือนละ 1,000,000 บาท ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดอันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนรายเดือนดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าหากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป คดีได้ความว่า หลังจากพ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 ยังมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมขาดไป

   สิทธิของของโจทก์ที่ 1 ที่จะไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันนั้นจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ส่วนสิทธิของผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จะไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้เสียเองแทนจำเลยที่ 1 หรือมีการบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 724 เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 หรือธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ได้บังคับจำนองแล้วแต่อย่างใด สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จำนองจึงยังไม่เกิดขึ้น

 

ประเด็น : การบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์สิน  (ผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนอง กรมบังคับคดี)

ผู้รับจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้ ตามมาตรา 735

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2561

   การที่จำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองจากการขายทอดตลาดคงทำให้จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์จำนอง หาทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ และจำเลยในฐานะผู้รับโอนทรัพย์จำนองมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 5  จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมรับ โจทย์ซึ่งยังทรงสิทธิจำนองต้องฟ้องคดี ต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 และ 739  และหากจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิเสนอไถ่ถอนจำนองและโจทก์ประสงค์จะบังคับจำนอง ก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน  แล้วจึงจะบังคับจำนองได้ ตามมาตรา 735 ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า จำเลยไม่ไถ่ถอนจำนอง และโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยตาม ป.พ.พ มาตรา 735 แล้ว  จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

 

ประเด็น : ผู้รับโอนประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินเป็นเงินอันสมควรกับราคารทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2561

   จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยมีการจำนองติดไปด้วย จำเลยจึงอยู่ในฐานะ ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง การไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 738 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ต้องเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียนไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์พิพาท ส่วนจำนวนเงินอันสมควรจะเป็นเท่าใดนั้นต้องพิจารณาจากราคาทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ

   ทรัพย์พิพาทซึ่งเดิมเป็นของ ส. นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.8402/2553  ของศาลแขวงนนทบุรี ได้ประเมินราคาไว้เป็นเงิน 635,680 บาท  การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้มีหน้าที่ในการยึดและประเมินราคาทรัพย์พิพาทได้ประเมินราคาไว้ดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่าทรัพย์พิพาทมีราคาที่แท้จริงไม่แตกต่างไปจากราคาที่ประเมินไว้ ทั้งราคาประเมินดังกล่าวได้ระบุไว้ในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยในฐานะผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทก็ย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่าราคาทรัพย์ประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีใกล้เคียงกับราคาที่แท้จริง การที่จำเลยขอไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทโดยเสนอจะใช้เงินจำนวน 400,000 บาท  ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี 235,680 บาท  จึงถือไม่ได้ว่าเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์พิพาท เมื่อถือไม่ได้ดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันมีคำเสนอ แม้จะถือเท่ากับว่าโจทก์สนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยโดยปริยายตาม ป.พ.พ มาตรา 739 และ 741  แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยการไถ่ถอนตาม ป.พ.พ มาตรา 744 (4)  ก็ต่อเมื่อจำเลยรับจะใช้เงินให้แก่โจทก์ผู้รับจำนองเป็นจำนวนเงินอันสมควรกับราคาทรัพย์พิพาท เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการโจทก์ก็หาจำต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 739 ไม่  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยึดทรัพย์พิพาทซึ่งจำนองไว้แก่โจทย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้

 

ประเด็น : ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเดินกว่า 5 ปีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6149/2557

   ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่หนี้ประกันหรือหนี้ประธานขาดอายุความแล้วโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจะใช้สิทธิบังคับให้นำเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมาชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังขึ้นไปเกิน 5 ปีไม่ได้เท่านั้น แต่ดังกล่าวไม่ได้ห้ามโจทก์คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องบังคับจำนองดอกเบี้ยภายหลังฟ้องที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนอง ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

 

ประเด็น : แอบปลอมหนังสือมอบอำนาจ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตและเสียค่าตอบแทน เจ้าของที่แท้จริงก็มีสิทธิขอเพิกถอนการจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548

   จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705

 

ประเด็น : หากเจ้าของลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ถือวาประเมินเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพิกถอนการจำนองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2552

   จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้ อ. และ ว. ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่บุคคลทั้งสองกลับสมคบกับโจทก์ไปกรอกข้อความจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ จำเลยจะต้องรับผลในความเสียงภัยที่ตนก่อขึ้นดังกล่าว และถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน การที่ อ. และ ว. ปลอมหนังสือมอบอำนาจเป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์มิได้ล่วงรู้ถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ อ. และ ว. ผู้รับมอบอำนาจ ทั้งไม่อาจทราบว่า อ. และ ว. สมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงยอมรับจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หากให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างมาก การที่โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จึงชอบแล้ว

 

ประเด็น : เจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เจ้าของบ้าน ไม่มีสิทธินำบ้านไปจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2541

   บ้านพิพาทเป็นบ้านที่ผู้ร้องกับนาง ห. ร่วมกันปลูกเป็นเรือนหอบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยได้รับอนุญาตจาก จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146(มาตรา 109 เดิม)จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำบ้านพิพาทไปจดจำนองไว้กับโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์รวมในบ้านพิพาท จึงสามารถใช้สิทธิอันเกิดจากกรรมสิทธิ์ครอบไปถึงบ้านพิพาททั้งหมดเพื่อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ปล่อยบ้านพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359แม้เจ้าของรวมคนอื่นจะมิได้ร่วมดำเนินการดังกล่าวก็ตาม

 

ประเด็น : การหลอกลวงให้ทำสัญญาจำนอง มีสิทธิบอกล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549

   จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176

 

ประเด็น : เจ้าของที่แท้จริง ยินยอมให้บุคคลอื่นมีชื่อในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ บุคคลอื่นนำทรัพย์ไปจำนอง ย่อมผูกพันเจ้าของที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2533/2560

   การที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแทนทางทะเบียน จำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นตัวแทนของผู้ร้องและผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์นำที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์  ถือว่าผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการในการจำนองที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน  และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่ผู้ร้องจะอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 การจำนองที่ดินพิพาทจึงมีผลผูกพันผู้ร้อง ไม่ว่าผู้ร้องจะทราบเรื่องการจดทะเบียนจำนองหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ผู้คัดค้านซึ่งซื้อที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยสุจริตย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 จัตวา(3) มาใช้ยันต่อโจทก์และผู้คัดค้านไม่ได้และต้องถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะบริวารของจำเลยที่ 1

 

ประเด็น : ผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ หากยังไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มา ย่อมไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ผู้รับจำนองที่สุจริต และเสียค่าตอบแทน ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5570/2533

   ผู้ร้องได้ที่ดินและตึกแถวที่โจทก์นำยึดมาโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการได้มาซึ่งสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตนไว้ จึงไม่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ทั้งต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท

 

ประเด็น : เพียงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ยังไม่ถือเป็นการปลดจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2508

   เจ้าหนี้ฟ้องบังคับจำนอง ต่อมาเจ้าหนี้ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยลูกหนี้ยอมชำระเงินให้เจ้าหนี้ศาลพิพากษาตามยอม แม้สัญญายอมจะระบุให้คดีเป็นอันเลิกกันก็ตาม ก็หมายความได้แต่เพียงว่ายังไม่ขอบังคับตามสัญญาจำนองเท่านั้น หาใช่เป็นการปลดจำนองไม่ ฉะนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญายอม มีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้อื่นย่อมไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยหนี้ได้

 

ประเด็น : ตัวอย่าง คดีจำนองเรือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2545

   เมื่อนำข้อตกลงในสัญญากู้ยืมที่ระบุว่า "ถ้าข้าพเจ้าล้มตายหรือหลบหายไปเสียข้าพเจ้ายอมให้เอาทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าขายทอดตลาดเงินต้นและดอกเบี้ยให้ท่านจนครบ" มาพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเลฯที่กำหนดว่า "ถ้าเอาเรือที่จำนองออกขายหรือขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระแก่ผู้รับจำนอง... เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ถือว่าเป็นหนี้สามัญซึ่งผู้รับจำนองอาจเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผู้จำนองไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้จำนองไม่ได้" แล้ว เห็นชัดเจนได้ว่า เมื่อโจทก์ผู้รับจำนองนำเรือที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่จำเลยผู้จำนองยังคงต้องรับผิดเพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้สามัญไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบได้

   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้การที่โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

   ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 703 อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใด ๆ

   สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย คือ

   (1) เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป

   (2) แพ

   (3) สัตว์พาหนะ

   (4) สังหาริมทรัพย์อื่นใด ๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ

มาตรา 705 การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 714/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจาก มาตรา 728 มาตรา 729 และมาตรา 735 เป็นโมฆะ

มาตรา 727 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 691 มาตรา 697 มาตรา 700 และมาตรา 701 มาใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 727/1 ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด

   ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก  ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฎหมายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคลและผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก

มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

   ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว

มาตรา 729 ในการบังคับจำนองตามมาตรา 728 ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้

   (1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

   (2) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ

มาตรา 729/1 เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้รับจำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

   ในกรณีที่ผู้รับจำนองไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว

   เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิจำนวนเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 733 และในกรณีที่ผู้จำนองเป็นบุคคลซึ่งจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ผู้จำนองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่มาตรา 727/1 กำหนดไว้

มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

มาตรา 735 เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้

มาตรา 737 ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายใน 60 วันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว

มาตรา 744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป

   (1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ

   (2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

   (3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น

   (4) เมื่อถอนจำนอง

   (5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1

   (6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

มาตรา 745 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีที่ผู้จำนองตาย เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวแก่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกก่อนฟ้อง หากไม่ฟ้องภายใน 1 ปี ขาดอายุความรดก ก็ยังบังคับจำนองได้

2. แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองได้

3. ถ้าเอาทรัพย์สินจำนองหลุด เอาออกขายทอดตลาด ได้ราคาเท่าใด ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ผิดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

4. การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์ที่จำนองซ้อน ให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันเวลาผู้รับจำนองก่อนจะได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

5. การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการจำนอง ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น มิฉะนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้

6. การทำหนังสือบอกกล่าวของทนายความ ควรต้องมีหนังสือมอบอำนาจแนบไปด้วยเสมอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 กำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน

7. ถ้าไม่มีการบอกกล่าวก่อน เจ้าหนี้ผู้รับจำนองไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง

8. คดีจำนองเรือ ต้องพิจารณาพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537 ด้วย

9. การเรียกดอกเบี้ยสัญญาจำนอง ให้ถือตามหนี้กู้ยืมเงินไม่เกินร้อยะ 15 ต่อปี เว้นกู้ยืมเงินธนาคารอาจสูงกว่า กรณีไม่ได้มีการระบุไว้กฎหมายให้คิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

10. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองของสำนักงานที่ดิน เสีย 1% ของจำนวนเงิน

11. ส่วนใหญ่ ศาลมักกำหนดค่าทนายความแทนโจทก์ 8,000 บาท

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องบังคับจำนอง

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี เจรจาไกล่เกลี่ย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

    

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
ตัวอย่าง หมายบังคับคดีจำนอง
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:46:42
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ผู้รับจำนอง [IP: 171.5.75.xxx]
เมื่อ: 2019-10-27 12:44:09
เคยฟ้องบังคับจำนองไป แล้วไม่ได้บังคับคดีภายใน 10 ปี จะฟ้องบังคับจำนองได้อีกมั้ยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,503