ขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์

คดีขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ #ทนายคดีขอขายทรัพย์ผู้เยาว์ThanuLaw

   ทรัพย์สินของผู้เยาว์ หากยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจดทะเบียนสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปี) จะทำนิติกรรมย่อมต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ใช้อำนาจปกครองเสียก่อน หรือให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทนให้ เว้นแต่ "พินัยกรรม" ผู้เยาว์ทำได้เมื่ออายุ 15 ปี บริบูรณ์

 

เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ 13 ประการ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเสียก่อน เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 บัญญัติ ไว้ดังนี้

นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

   (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

   (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

   (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

   (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจาก ทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

   (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

   (6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)

   (7) ให้กู้ยืมเงิน

   (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อ การกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

   (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่ รับการให้โดยเสน่หา

   (10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับ ชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

   (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)

   (12) ประนีประนอมยอมความ

   (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา 1575 ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. สูติบัตร ผู้เยาว์

2. ใบสำคัญการสมรส / ใบสำคัญการหย่า บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า

3. ทะเบียนบ้าน ผู้ร้อง ผู้เยาว์

4. บัตรประจำตัวประชาชน ผู้ร้อง ผู้เยาว์

5. มรณบัตร (ถ้ามี)

6. โฉนดที่ดิน พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมิน ไม่เกิน 3 เดือน

7. ภาพถ่ายทรัพย์สิน

8. หนังสือรับรองเงินเดือน

9. เอกสารการเป็นหนี้สิน เช่น สัญญากู้ยืมเงิน ค่างวดเช่าซื้อรถยนต์ ใบแจ้งยอดหนี้ เป็นต้น

10. หนังสือรับรองสถานศึกษา บัตรประจำตัวนักเรียน

11. ตารางแสดงค่าใช้จ่ายของผู้เยาว

12. หนังสือให้ความยินยอมของผู้เยาว์ 

13. สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน (ถ้ามี)

 

ค่าขึ้นศาล : 200 บาท

 

เขตอำนาจศาล : ศาลเยาวชนและครอบครัว ตามภูมิลำเนาผู้ร้อง หรือที่ดินตั้งอยู่

 

แนวดุลพินิจของศาล

1. ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์มากที่สุด หากไม่จำเป็นจริง ๆ ศาลมักมีความเห็นไม่อนุญาต เช่น ขายที่ดินนำเงินไปเป็นค่าการศึกษาเล่าเรียน หรือค่ารักษาพยาบาลของบุตรผู้เยาว์ เป็นต้น

2. ผู้ปกครองมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่สามารถนำมาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาซื้อขาย ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 150/2507

   ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาอื่นซึ่งผูกมัดให้จำต้องขายที่ดินของผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลไม่ได้

 

ประเด็น : สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ของผู้เยาว์ไม่ได้กำหนดว่าต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ถือว่าไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2524

   สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายพิพาทของจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่มารดาทำกับโจทก์ ไม่มีเงื่อนไขว่าจะไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินนั้นต่อเมื่อศาลอนุญาตแล้ว เห็นได้ว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะขออนุญาตต่อศาล จึงไม่สมบูรณ์ผูกพันจำเลย แม้ต่อมามารดาจะยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินรายพิพาทแทนจำเลย และศาลมีคำสั่งอนุญาตก็หาทำให้นิติกรรมซึ่งไม่สมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นได้ไม่

 

ประเด็น : สัญญาประนีประนอมยอมความ ในทรัพย์สินของผู้เยาว์ ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4860/2548

   โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 2 แปลง ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ และระบุตำแหน่งที่ดินส่วนของโจทก์ไว้ด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 เท่ากับว่า กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วย เพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่า ๆ กันโดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 12 จะพึงได้รับ เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2539

   โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ การที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5แทนผู้เยาว์ทั้งสามซึ่งถือเป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1574(8) เดิม(มาตรา 1574(12) ที่ได้ตรวจชำระใหม่)เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าขาดไว้อุปการะจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 การใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่5 และที่ 6 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 5 และที่ 6

 

ประเด็น : ให้เช่าที่ดินผู้เยาว์เกิน 3 ปีต้องได้รับอนุญาตจากศาล

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2170/2516

   บิดาทำสัญญาต่างตอบแทนให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ตลอดชีวิตผู้เช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 การให้เช่ามีผลผูกพันบุตรผู้เยาว์เพียง 3 ปี

ข้อสังเกตุ แม้จะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา ก็ไม่ผูกพันธ์ผู้เยาว์

 

ประเด็น : หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้เยาว์ ถึงบิดาสละเจตนาครอบครอง ก็ไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2533

   การโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อผู้ขายสละเจตนาครอบครองให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ได้สิทธิครอบครองทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บิดาทำสัญญาขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์โดยฝ่าฝืน ป.พ.พ.มาตรา 1574(1) สัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันที่ดินของบุตร

 

ประเด็น : ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ค่าสินไหมทดแทนในศาล ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 326/2524

   สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาแทนเด็กจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)(เดิม) เมื่อบิดาโจทก์ทำสัญญาแทนโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์

   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : มารดาใช้เงินฟุ่มเฟือย ที่ดินลูกอยู่ในย่านชุมชน มีราคาสูง ศาลจึงไม่อนุญาตให้ขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2527

   ผู้ร้องเป็นมารดาผู้เยาว์ได้รับเงิน 4,000,000 บาท เพียงเวลา 2 ปี ก็ใช้จ่ายเงินไปจนหมด โดยไม่มีรายการใดที่แสดงว่าได้ใช้จ่ายไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้เยาว์นอกจากการเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามปกติเท่านั้นมิหนำซ้ำยังก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก 1,400,000 บาท ที่ดินมีโฉนดพร้อมตึกแถว 2 ชั้น อยู่ในแหล่งชุมชนและมีราคาสูง หากยังเป็นของผู้เยาว์อยู่ต่อไปจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าขาย ศาลจึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายทรัพย์ดังกล่าว

 

ประเด็น : สัญญาที่ทำในขณะเป็นผู้เยาว์ แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมและตัวผู้เยาว์เอง จะรู้เห็น ถือเป็นการเลี่ยงกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2537

   การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ ผู้เยาว์เองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และกรณีมิใช่โมฆียะกรรมแม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ทนายโจทก์ได้ย้ายสำนักงานจากที่เดิมไปอยู่สำนักงานแห่งใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้วแต่ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นออกหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ออกหมายนัดส่งให้ทนายโจทก์โดยการปิดหมาย ณ สำนักงานทนายโจทก์แห่งเดิม หาได้ส่งหมายนัดให้ทนายโจทก์ ณ สำนักงานแห่งใหม่ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ไม่ ทั้งมิได้ส่งหมายนัดให้แก่ตัวโจทก์ด้วยโจทก์จึงไม่ทราบวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2537

   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตนั้นเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สิน และกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจึงจะอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ ในเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฉะนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 จะทำสัญญาในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3และกรณีมิใช่โมฆียะกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ การที่จำเลยที่ 3 แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ ดังนั้นแม้สัญญาจะไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้นส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา

 

ประเด็น : สัญญาเช่าทรัพย์สินของผู้เยาว์ แม้ไม่ได้รับอนุญาตจากศาล มีผลเพียง 3 ปีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2516

   บิดาทำสัญญาต่างตอบแทนให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ตลอดชีวิตผู้เช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 การให้เช่ามีผลผูกพันบุตรผู้เยาว์เพียง 3 ปี

   จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแต่เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานและสั่งกำหนดประเด็นนำสืบ ไม่ได้กำหนดประเด็นนำสืบข้อนี้ไว้ และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนั้น ดังนี้ จำเลยจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226, 249

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้ว เห็นเป็นการสมควรก็จะสั่งอนุญาต ผูัแทนโดยชอบธรรมจึงอาศัยคำสั่งอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้เลย เว้นแต่ผู้เยาว์อายุเกิน 7 ปี ต้องให้ผู้เยาว์ไปร่วมลงชื่อ ณ สำนักงานที่ดินด้วย ซึ่งในวันขาย จะมีเจ้าหน้าที่สถานพินิจมาควบคุมกำกับดูแลด้วย

2. ผู้ร้องต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อศาล ภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานเสนอศาล

3. การเบิกจ่าย ศาลอาจมีคำสั่งให้ผอ.สถานพินิจฯมีอำนาจจัดการ ควบคุมดูแล และตรวจสอบได้ เว้นแต่ผู้ร้องจะแสดงให้ศาลเห็นว่าการเบิกจ่ายจากสถานพินิจฯนั้นไม่เป็นการสะดวก

4. ให้ผู้เยาว์เบิกความต่อศาล เพื่อยืนยันว่ายินยอมด้วย

5. ผู้จะซื้อทรัพย์สิน ควรไปให้การต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ และเบิกความยืนยันต่อศาลด้วยว่าซื้อขายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

6. สามารถขอขายที่ดินทั้งแปลงหรือบางส่วนก็ได้ กรณีขายบางส่วนต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดทำแผนที่พิพาทแสดงส่วนที่ดินที่จะขาย และแสดงส่วนที่ดินที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เยาว์

7. ผู้ร้องควรเป็นฝ่ายผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร

8. หากเกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลอนุญาต จะต้องมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา (ยื่นก่อนสิ้นสุดเวลา)

 

ค่าบริการว่าความ คดีร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ยื่นคำร้องต่อศาล

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

Cannot connect to DB
 
ตัวอย่างคำสั่งศาล อนุญาตให้ขายที่ดินของลูก
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.241.xxx]
เมื่อ: 2019-12-14 19:40:14
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: Tae [IP: 161.142.156.xxx]
เมื่อ: 2023-04-24 19:27:52
ขอถามเป็นความรู้ครับ ปกติตามหลักแล้ว ผู้ปกครองมีหน้าที่ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วยทรัพย์สินของตนเอง มิใช่ของบุตร เหมือนตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกา 522/2515 ดูจะขัดแย้งกับตัวอย่างข้างต้นที่ศาลมีอนุญาตให้ขายทรัพย์สินได้
#3 โดย: tik [IP: 1.47.136.xxx]
เมื่อ: 2023-07-09 18:46:13
ขอสอบว่า ฎีกา 5358/2544 สัญญาจะซื้อจะขายผู้เยาว์ทำเอง โดยผู้แทนโดยชอบธรรมเซ็นให้ความยินยอม ศาลฎีกาท่านวินิจฉัยว่าสมบูรณ์ คือแสดงว่าผู้เยาว์ทำนิติกรรมเองได้ใช่ไหมครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 191,936