ชู้

คดีฟ้อง หญิงชู้ ชายชู้ เรียกค่าเสียหาย ค่าทดแทน #ทนายคดีฟ้องชู้ThanuLaw

   การเป็นชู้ ถือว่าผิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม และผิดต่อกฎหมาย คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องบุคคลที่เป็นชู้กับสามีหรือภริยาของตนเองได้ เพื่อเรียกร้องค่าทดแทน จากความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ และผลกระทบในสถาบันครอบครัว

โดยสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้เฉพาะ

♦ สามีหรือภรรยา ที่ "จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย เท่านั้น" โดยไม่จำเป็นจะต้องฟ้องหย่าก่อน

   ส่วนชายหญิงที่อยู่กินฉันสามีภรรยา แต่ "ไม่ได้จดทะเบียนสมรส" ไม่สามารถดำเนินคดีได้

 

เหตุยกเว้น : ถ้าคู่สมรส ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายมีชู้ จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรค3

 

พยานหลักฐาน ที่สำคัญ

1. หลักฐานที่แสดงว่ามีความสัมพันธ์เกินเลยในฐานะเพื่อน อย่างชัดเจน เช่น ไปกินข้าวร้านอาหาร ดูหนัง เดินห้างสรรพสินค้า เดินตลาด เที่ยวสถานบันเทิง ออกงานสังคม โอบกอด มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดพิเศษเกินกว่าเพื่อนร่วมงานทั่วไป พักอาศัยในห้องเดียวกัน ค้างคืนในห้องเดียวกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กัน เป็นต้น

   การเข้าพักโรงแรม สามารถขอออกหมายเรียกคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดของโรงแรม ได้

2. รูปภาพเฟสบุ๊ก Facebook LINE Instagram ในลักษณะแสดงตนโดยอย่างเปิดเผย

2. คลิปวีดิโอ / คลิปเสียง (พร้อมถอดเทป) ข้อความแชท โต้ตอบอย่างคนรัก

3. สูติบัตรของบุตร อันเกิดจากชู้

4. หลักฐานการโอนเงินค่าเลี้ยงดูบุตร ชำระหนี้ให้ชู้ ซื้อทรัพย์สินให้กัน

5. พยานบุคคล ที่รู้เห็น และเคยอยู่ในเหตุการณ์

6. พยานหลักฐานรอบล้อมประกอบ เช่น GPS Google Maps เทปบันทึกเสียง (ฏ.2281/2555) เป็นต้น

7. ใบสำคัญการสมรส

8. พยานรู้เห็นไปพักอยู่อาศัยในห้องเดียวกัน (ป้าข้างบ้าน)

 

ดุลพินิจศาล ในการกำหนดจำนวนค่าทดแทน ประกอบด้วย

1. การศึกษา อาชีพ หน้าที่การงาน ธุรกิจ

2. ฐานะ ชื่อเสียงทางสังคม

3. สถานะครอบครัว มีบุตรร่วมกันหรือไม่

4. จดทะเบียนสมรส กันมานานแค่ไหน

5. ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับคู่สมรส เช่น อบอุ่น ทะเบาะเบาะแว้ง ไม่ราบรื่น ห่างเหิน ฟ้องร้องคดีกัน เป็นต้น

6. ชู้เป็นต้นเหตุทำให้ครอบครัวแตกแยก หรือไม่

7. ความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

8. ระยะเวลาที่เป็นชู้

9. การสำนึกผิดของชู้หลังจากถูกจับได้

 

อายุความ : 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ความจริง มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 เว้นแต่จะเป็นการกระทำต่อเนื่องตลอดมา

อ้างอิง ฎ.1620/2538

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว มาตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2558

   ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากชู้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ชายชู้หรือชายที่มาล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวจะต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นหญิงมีสามีแล้ว แต่ยังจงใจละเมิดสิทธิสามี จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เป็นอาจิณ โจทก์ซึ่งเป็นสามีย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง หมายถึง กรณีที่เหตุที่กล่าวอ้างนั้นมิได้เกิดเหตุนั้นอีก สิทธิฟ้องร้องจึงระงับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่จำเลยที่ 2 ยังคงประพฤติเหตุดังกล่าวภายหลังวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ อันเป็นการกระทำเหตุดังกล่าวต่อเนื่อง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

 

เขตอำนาจศาล : ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มูลคดีเกิด หรือจำเลยมีภูมิลำเนา

คำวินิจฉัยของประธานศาลฏีกาที่ ยช.20/2558

   โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับภริยาของโจทก์ในทำนองชู้สาว ดังนี้ มูลเหตุแห่งคดีเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1523 ไม่ใช่คดีละเมิดทั่วไป จึงเป็นคดีครอบครัวซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 4 และมาตรา 10(3)

 

วิธีเรียกสินสมรสคืนจากชู้

กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งยกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสให้ชู้โดยเสน่หา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (5) ซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิเรียกคืน ภายใน 1 ปีนับแต่รู้หรือ 10 ปีนับแต่วันทำนิติกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 โดยขอเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วนของตน

 

ค่าขึ้นศาล

: ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่เรียกร้อง กรณีไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท

 

บทลงโทษทางวินัยข้าราชการ : ถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงโทษคือ ออกจากราชการ ไม่ว่าจะปลดออก หรือไล่ออก แล้วแต่ดุลพินิจผู้บังคับบัญชา

ความผิดของลูกจ้างบริษัทเอกชน : ถือว่าร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่าด้วย ก็ฟ้องชู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมา จนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุด การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้น เป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

ประเด็น : จดทะเบียนต่างประเทศ ก็ฟ้องชู้ในประเทศไทยได้ เพราะถือเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6051/2540

   เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์และ ส. ผู้ตายเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐเนววาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง แล้ว ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับ ส. สามีโจทก์ตามกฎหมายไทยอีก จึงเป็นการจดทะเบียน ในขณะที่ ส. มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส.

 

ประเด็น : จะฟ้องเรียกค่าทดแทนเป็นรายเดือน จนกว่าจะเลิกแสดงตนเป็นชู้ ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6383/2537

   ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง มีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

 

ประเด็น : ต่อสู้เรื่องการยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2530

   การล่วงเกินในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1523 วรรคสอง มีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้ มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้ และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย

    โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นชู้กับ น.ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าหาก น. เป็นภริยาโจทก์โจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ ดังนี้ประเด็นที่ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย

 

ประเด็น : พฤติการณ์การแสดงออกต่อบุคคลภายนอก แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จัก แต่อยู่อาศัยในบ้านเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6516/2552

   แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผย อยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระ หรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

 

ประเด็น : คำฟ้องต้องบรรยายอย่างชัดเจนว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยในทำนองชู้สาว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

   ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้น หาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

 

ประเด็น : ตัวอย่างค่าทดแทนสูงสุดเท่าที่เคยเจอ จำนวน 500,000 บาท

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2498/2552

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทน กรณีศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้

 

ประเด็น : หลักฐานไม่ได้มาจากการกระทำของชู้ ความสัมพันธ์ไม่ได้เปิดเผย เช่น เลี้ยงดูยกย่อง แยกไปอยู่กินกัน พาไปเปิดตัวต่อผู้อื่นตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น แอบลักลอบกันในที่ลับ แม้เป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของภริยา แต่ไม่สามารถเรียกร้องค่าทดแทนได้ เพราะไม่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ศาลยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2561

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว โดยเปิดเผย

   หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์

   การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ช. สามีโจทก์ โดยได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ (Chat) ทางระบบเครือข่ายไลน์ มีการนัดหมายกันไปมีเพศสัมพันธ์กันตามสถานที่ต่างๆ และมีคลิปวิดีโอภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ช. รวมถึง ช. ได้ส่งดอกไม้ให้จำเลยเป็นประจำ และโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมจำเลยไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ก. เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย แต่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงปากเดียวว่า จำเลยกับ ช. มีพฤติกรรมดังกล่าว

   แม้จำเลยยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับ ช. จริง แต่จำเลยก็ไม่ได้รับว่าตนเองอยู่ในฐานะภริยาอีกคนของ ช. หรือ ช. ได้มีพฤติกรรมยกย่องตนเองฉันภริยาแต่อย่างใด ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอโจทก์ได้มาจาก ช. ทั้งสิ้น โดย ช. เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ก flashdrive และ external harddisk ช. เป็นผู้อธิบายให้โจทก์ฟังว่าสถานที่ต่างๆ คือที่ใด

   แสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เอง หาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผย จนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่ ไม่ปรากฏพฤติกรรมว่า ช. ได้เลี้ยงดูยกย่องจำเลยเป็นภริยา หรือแยกไปอาศัยอยู่กินด้วยกัน หรือพาจำเลยไปเปิดตัวต่อผู้อื่นในที่ชุมชน หรือพาไปตามสถานที่ต่างๆ แบบเปิดเผย ไม่มีการแสดงออกทั้งภาพถ่าย และการระบุสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองไม่ว่าพนักงานโรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย บิดามารดา เพื่อร่วมงานของจำเลยที่ธนาคาร ก. ที่สาขาพัทยา เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพื่อนของ ช.

   ลำพังเพียงรูปถ่ายของจำเลยกับ ช. ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ และคลิปวิดีโอที่โจทก์ได้มาจากสามีตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลทั้งสองว่าต้องการมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผย โจทก์กลับนำพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาได้ด้วยความยินยอมของ ช.

   โจทก์ส่งภาพการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับ ช. ไปให้ ส. น้องสาวจำเลยทางเครือข่ายไลน์ ทำให้เป็นที่เผยแพร่ไปในสังคม อันเป็นการกระทำด้วยตัวโจทก์เอง หาใช่จำเลยเป็นคนเผยแพร่ไม่ 

   การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ย่อมต้องปกปิด แอบลักลอบกระทำกันในที่ลับ แม้ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของโจทก์กับผู้เป็นภริยา แต่โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง

 

ประเด็น : การพิสูจน์ คดีฟ้องชู้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ พยานบอกกล่าวจะต้องนำมาเบิกความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2564

   การที่ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่หญิงดังกล่าวได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและได้แสดงตนโดยเปิดเผยถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าจำเลยมีความประพฤติอันผิดทำนองคลองธรรมกับสามีโจทก์ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและนำมาแต่ความเสื่อมเสียแก่ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบด้วยความระมัดระวังยิ่งกว่าการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งทั่วไป เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำมาสืบยังมีข้อโต้แย้งและเป็นพิรุธจึงทำให้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยมีความสัมพันธ์และแสดงตนโดยเปิดเผยว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว

---------- 

   ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า แม่บ้านของคอนโดมิเนียมแจ้งว่าเห็นสามีโจทก์พาผู้หญิงมาที่คอนโดมิเนียมดังกล่าว โจทก์ทราบจากเพื่อนว่า เห็นสามีโจทก์เดินจูงมือกับผู้หญิงในลักษณะคู่รักนั่งอยู่ที่ร้านกาแฟ โจทก์ได้ตามไปพบสามีโจทก์กับจำเลยอยู่ที่ร้านกาแฟจึงได้ถ่ายรูปไว้ พนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดมิเนียมให้การว่าเห็นสามีโจทก์พาจำเลยออกจากคอนโดมิเนียมในช่วงที่พยานปฏิบัติหน้าที่หลายครั้ง และสามีโจทก์ยอมรับว่าได้พาจำเลยไปที่ห้องชุดและมีเพศสัมพันธ์กัน

   จำเลยให้การปฏิเสธ

   ศาลฎีกาเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ได้รับคำบอกเล่ามาจากผู้อื่นทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้นำแม่บ้านมาเบิกความเป็นพยาน พนักงานรักษาความปลอดภัยคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ป้อมยาม แต่มิได้เห็นในขณะที่อยู่ภายในคอนโดมิเนียม ส่วนสามีโจทก์เบิกความว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับจำเลย ก็ไม่ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่แน่ชัดว่าเริ่มมีความสัมพันธ์กันเมื่อใด

   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืน

 

ประเด็น : เพียงสัญชาตญาณ ไม่พอนะ ต้องมีหลักฐานด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

 

ประเด็น : มาทีหลัง แต่มีทะเบียน ย่อมได้เปรียบ วันยืนค่ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552

   เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

 

ประเด็น : ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่สมรสในศาล ชู้พ้นการรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559

   โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

 

ประเด็น : ขู่จะเปิดเผยความลับชู้สาว เพื่อเรียกเงิน ถือเป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2558

   การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 338 หมายความว่า การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของความลับประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ ดังนี้ ความลับจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ก็ถือว่าเป็นความลับแล้ว เมื่อฎีกาของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาประมาณ 1 ปี ข้อเท็จจริงที่จำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน แสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะภริยาจำเลยรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องนั้นจึงเป็นความลับของผู้เสียหาย การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะนำเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยซึ่งมีครอบครัวแล้วกับผู้เสียหายไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338

 

ประเด็น : แม้จดทะเบียนหย่าแล้ว ก็ยังสามารถฟ้องชู้ได้อยู่ หากพบว่าเป็นชู้กันในขณะจดทะเบียนสมรสกันอยู่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2590/2561

   บทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ให้สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทางชู้สาวได้ แม้ภริยาสมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว สามีก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรคสองนี้ได้ เพราะการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรคสองนี้เป็นสิทธิของสามีโดยเฉพาะและสิทธิในการฟ้องของสามีย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่มีการล่วงเกินในทางชู้สาวกัน จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ทางชู้สาวอันเป็นการล่วงเกินในทางชู้สาวต่อจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ สิทธิของโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่ขณะที่ยังไม่มีการหย่า แม้ภายหลังมีการจดทะเบียนหย่ากันแล้ว สิทธิในการฟ้องก็หาได้หมดสภาพหรือถูกลบล้างตามไปด้วยไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

ประเด็น : หย่ากันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่สามารถมาฟ้องชู้ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

   ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

 

ประเด็น : ฟ้องบังคับชู้ให้ยุติความสัมพันธ์กับคู่สมรสไม่ได้ เพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2530 

   การที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวนั้น โจทก์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะโจทก์เพียงแต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองทั้งโดยสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ศาลบังคับคดีได้

 

ประเด็น : ข้าราชการ มีชู้หรือเป็นชู้ ถือว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออก

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.340/2549 

   วินิจฉัยไว้ว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดี เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 การสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษายกฟ้อง

และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.359/2563, อบ.61/2563

 

ประเด็น : บริษัทเอกชน การมีชู้ ถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2542

   ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโรงแรมจำเลยว่าด้วยกฎระเบียบทางวินัย ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานของจำเลยละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ทรัพย์สินผลประโยชน์ของโรงแรม หรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีงามพนักงานทุกคนของจำเลยจะต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวทั้งในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ขณะที่อยู่ภายในหรือภายนอกสถานที่ทำงาน ถ้าพนักงานกระทำการใดที่อาจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือในทางอื่นใดแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับได้

   โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรมจำเลยมีชู้กับพนักงานชายซึ่งเป็นช่างประจำโรงแรมของจำเลย แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรม หรือในเวลาทำงานก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติและเป็นการประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะภริยาของพนักงานช่าง ชู้ของโจทก์ทนพฤติกรรมดังกล่าวของสามีและโจทก์ไม่ไหว จึงได้ไปตามหาสามีถึงโรงแรมจำเลยและร้องเรียนต่อจำเลย ในที่สุดครอบครัวต้องแตกแยก และเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พนักงานโรงแรมของจำเลย การกระทำของโจทก์และชายชู้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปกครองบังคับบัญชาพนักงานโรงแรมของจำเลย รวมทั้งชื่อเสียงของโรงแรมจำเลยด้วย เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นถึงผู้จัดการแผนกต้อนรับ แต่กลับมีความประพฤติชั่วเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่น ๆ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และกรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

 

ประเด็น : นอนกอด คนที่นอกใจสามีมา ถือว่าเป็นชู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2522

   คำบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งการกระทำของจำเลยเฉพาะการนอนกอดกับภริยาโจทก์ แต่ที่ว่าจำเลยยังลักลอบเล่นชู้กับภริยาโจทก์เรื่อยมา จนในที่สุดได้พาภริยาโจทก์ไปอยู่กับจำเลยนั้น ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดพอที่จะถือเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงต้องถือว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยสำหรับการที่จำเลยไปนอนกอดกันกับภริยาโจทก์เป็นหลัก

   การนอนกอดกันกับภริยาของผู้อื่นเพราะรักใคร่กันในทางชู้สาว หรือกระทำถึงขั้นร่วมประเวณีกับภริยาของผู้อื่น ก็ล้วนแต่ต้องถือว่าได้ล่วงเกินภริยาของเขาไปในทำนองชู้สาวทั้งสิ้น โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง (ที่ได้ตรวจชำระใหม่)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1113/2514 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

 

ประเด็น : รู้ว่าเขามีคู่ แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ยังไปร่วมหลับนอนด้วย ต้องชดใช้ค่าทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2523

   จำเลยทราบว่า ต. เป็นหญิงมีสามี แต่ก็ยังร่วมหลับนอนด้วย เมื่อจำเลยล่วงเกิน ต. ภริยาโจทก์ในทำนองชู้สาวจึงถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องใช้ค่าทดแทน

 

ประเด็น : คู่สมรสยกทรัพย์สินให้ชู้หรือบุตรชู้ คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องเพิกถอนการให้ ภายในอายุความ 1 ปีนับแต่รู้ หรือ 10 ปีนับแต่ทำนิติกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542

   แม้การที่ ร. ให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส โดยเสน่หาแก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ ซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (5) และ 1479 และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่ ร. จดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตาม มาตรา 1480 ได้ก็ตาม แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ดังนี้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่และจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จาก ร. จำเลยจึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสดังกล่าวของ ร. ให้โจทก์

 

ประเด็น : เงินที่เป็นสินสมรส เมื่อคู่สมรสนำไปให้ชู้ (โดยเสน่หา) ถือเป็นการจัดการสินสมรสที่มิชอบ โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการจัดการสินสมรส ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 , 1476(5) อ้างอิง ฎ.3582/2564

 

ประเด็น : ตายในระหว่างพิจารณาคดี การเรียกค่าทดแทนถือว่าตกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2556

   ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนค่าทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น และการแบ่งสินสมรสหลังการสมรสสิ้นสุดเพราะการตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่นับแต่เวลาที่การสมรสสิ้นสุดไปด้วยเหตุความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฟ้องโจทก์อีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3)

 

ตัวอย่าง คดีที่วินิจฉัยเรื่อง "จำนวนเงินค่าทดแทน"

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6558/2542

   การที่จำเลยกับป. สามีโจทก์ พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชน โดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุลของ ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ป.ในทำนองชู้สาวแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับ ป. แต่อย่างใด ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหน มิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหน ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้องย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับ ป. ที่จังหวัดจันทบุรีและยังไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ป.ให้ว่ากล่าวตักเตือน ป.ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใดที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของ ป. อีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาว โดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับ ป.สมรส กันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน สถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว

 

ข้อสังเกต

1. เคยมีแนวคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยข้อเท็จจริง คือ ภริยาแอบไปเปิดดูมือถือของสามี ปรากฎว่าพบรูปสามีนอนกอดกับหญิงอื่นบนเตียง มีการสนทนาแชทผ่านไลน์ ด้วยความรักใคร่กัน และในระหว่างคุยโทรศัพท์ยังมีการเปิดลำโพง จนพ่อของภริยาได้ยิน ภริยาฟ้องหญิงชู้ เรียกค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากฝ่ายหญิงชู้ไม่ได้แสดงออกต่อบุคคลภายนอกอย่างเปิดเผย แม้พ่อของภริยาจะได้ยินการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ แต่ไม่ได้เป็นการกระทำของหญิงผู้นั้น

2. ชายกับชาย หญิงกับหญิง ไม่น่าจะฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ตามบทความนี้

3. ความยินยอม เช่น ให้ภริยาของตนไปขายตัว หาเมียน้อยให้สามี เป็นต้น

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยา และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

   สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
   ถ้าสามีหรือภริยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง

   เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

ทั้งนี้ การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง เป็นการเรียกได้จากคู่สมรสอีกฝ่าย และจากหญิงชู้หรือชายชู้ จึงมีเงื่อนไขว่าต้องมีคำพิพากษาให้หย่ากันก่อน กล่าวคือ ต้องฟ้องหย่าด้วยในคดีเดียวกัน 

   แต่ถ้าเป็นกรณีเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินหรือมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ทันที โดยไม่จำต้องฟ้องหย่าหรือหย่าขาดจากคู่สมรสเสียก่อน

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

   (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

   (2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

   (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

   (4) ให้กู้ยืมเงิน

   (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

   (6) ประนีประนอมยอมความ

   (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

   (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

   การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

   การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. หลักฐานที่แสดงว่า "ชู้" ทราบว่าบุคคลที่ตนมีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวอยู่นั้น มีคู่สมรสอยู่แล้ว

2. ต้องพิสูจน์เกี่ยวกับฐานะของตัวโจทก์เองด้วย เพราะเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนของศาล

3. กรณีที่โจทก์เองเคยมีสามี และบุตรมาแล้ว ย่อมทำให้เรียกค่าทดแทนได้เงินน้อย จากการฟ้องสามีในปัจจุบัน

4. ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานถึงขั้นที่ว่า คู่สมรสกับชู้มีเพศสัมพันธ์กัน

 

ค่าบริการว่าความ คดีฟ้องชู้

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

 ♦ ฟ้องชู้ เรียกค่าเสียหาย

-X-

 ♦ ฟ้องชู้ เรียกทรัพย์สินคืนกองสินสมรส

-X-

 ♦ หนังสือทัณฑ์บน

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ทนายธนู โทร. 0834248098

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
 
 
ตัวอย่าง คำพิพากษาคดีฟ้องชู้ (ชั้นต้น)
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.244.xxx]
เมื่อ: 2019-06-23 14:03:32
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ต้อม [IP: 110.168.180.xxx]
เมื่อ: 2019-07-15 22:06:59
ต้องการทราบราคาฟ้องค่ะ ราคาเท่าไร
#3 โดย: ออออออ [IP: 27.55.74.xxx]
เมื่อ: 2023-02-24 02:38:01
เคยฟ้องชู้พร้อมฟ้องหย่า แต่พับฟ้องชู้ เป็นฟ้องหย่าและเรียกค่าเลี้ยงดู อยากถามว่าถ้าเกิน1ปีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ที่ ถูกพีบเพราะทั้งคู่ปกปิดและให้การเท็จ แยกเพื่อหลอกศาล หย่าแล้ว5ปี ตอนนี้ทั้งคู่ยังคบเปิดเผย อย่างนี้ เท่ากับหลอกลวงศาลไหม เรายังสามารถฟ้องได้อยู่ไหม เพราะเกิน1ปีแล้ว
#4 โดย: admin [IP: 49.228.36.xxx]
เมื่อ: 2023-06-21 09:31:29
ตอบ #2 โดย: ต้อม

ราคาขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และค่าเสียหายจะต้องการจะเรียกร้องครับ
#5 โดย: admin [IP: 49.228.36.xxx]
เมื่อ: 2023-06-21 09:32:37
ตอบ #3 โดย: ออออออ

เกิน 1 ปีก็ฟ้องได้ เพราะอายุความเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีเข้ามา

ส่วนการถอนฟ้อง ตามที่คุณเรียกว่า "พับ" นั้นเป็นไปปด้วยความสมัครยินยอม

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,850