จดทะเบียนสมรส เพื่อหวังมรดก ตกเป็นโมฆะไหม

โดย: ทีมงานทนายThanulegal [IP: 58.8.159.xxx]
เมื่อ: 2017-08-24 09:59:28
มีผู้หญิงสาวมาจดทะเบียนสมรสกับคุณพ่อ ซึ่งมีอายุห่างกันมาก

โดยขณะจดทะเบียนสมรส คุณพ่อเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย

อีกทั้งในระหว่างการรักษาพยาบาล ผู้หญิงคนดังกล่าวก็ไม่เคยมาช่วยดูแล และไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลให้ สามารถเพิกถอนการจดทะเบียนสมกันได้ไหม
#1 โดย: ทีมงานทนายThanulegal [IP: 58.8.159.xxx]
เมื่อ: 2017-08-24 10:03:39
การจดทะเบียนสมรส โดยปกติก็เพื่ออยู่กันกินฉันสามีภริยา ดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถของตน
แต่การจดทะเบียนสมรสดังกล่าว ไม่มีการเลี้ยงดูกัน แสดงว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก เป็นการเพื่อหวังมรดกเท่านั้น
การสมรสดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ
ฉะนั้นผู้หญิงสาวจึงไม่มีสิทธิรับมรดก หากรับไปแล้วก็ต้องคืนให้ฐานลาภมิควรได้
อ้างอิง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1067/2545
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 58.8.159.xxx]
เมื่อ: 2017-11-02 10:11:12
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,788