100/2

พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

   บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้

   ดังนั้น เมื่อให้ความช่วยเหลือในการบอกข้อมูลสำคัญกับเจ้าหน้าที่ จะเป็นประโยชน์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิด"

 

ปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

มาตรา 153 ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งเป็นผู้จับกุม หรือพนักงานสอบสวนในคดีนั้น เมื่อพนักงานอัยการระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้

   กรณีที่ผู้กระทำความผิดได้เคยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการไม่ระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล ผู้กระทำความผิดนั้นอาจยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ได้

 

สาระสำคัญ กรณีศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนด

1. เป็นข้อมูลที่สำคัญ ทำให้มีการจับผู้กระทำผิดที่แท้จริงหรือรายใหญ่ได้ ซึ่งมิใช่ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วโดยทั่วไป

2. มีการขยายผลจนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดอื่นได้

3. สามารถให้ข้อมูลทั้งในชั้น บันทึกการจับกุม คำให้การชั้นสอบสวน หรือคำเบิกความในชั้นศาล

4. ต้องเป็นผลโดยตรงให้จับกุมคดีอื่นได้

5. เป็นสายลับ

 

วิธีการไต่สวน : ทำเป็นคำร้อง ปรากฎในคำฟ้อง บันทึกจับกุม หรือหนังสือรับรองของตำรวจ ก็ได้ ซึ่งศาลจะต้องไต่สวน เพื่อวินิจฉัยให้ได้ความ

 

ระยะเวลายื่นคำร้อง : ภายในวันนัดสอบคำให้การจำเลย

 

เอกสารสำคัญประกอบคำร้อง : บันทึกจับกุม / บันทึกการใช้ มาตรา 100/2 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ โดยต้องขอต่อศาลออกหมายเรียกไปยังตำรวจหรือ ป.ป.ส. ให้ส่งหลักฐาน เพื่อประกอบการไต่สวน

 

พยานบุคคล

1. จำเลย

2. ตำรวจผู้ได้รับแจ้งข้อมูล เบิกความยืนยัน

 

คำถามที่สำคัญ

1. พฤติการณ์การจับกุม

2. การแจ้งสิทธิ ตามมาตรา 100/2 เป็นไปด้วยการสมัคร ไม่ได้ถูกข่มขู่ใด ๆ

3. หากจำเลยไม่แจ้งข้อมูล ตำรวจก็ไม่สามารถไปจับกุมได้

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ต้องยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น จะมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2562

   แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี

   จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่เคยเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบกันไว้ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะปรากฏตามสำเนาบันทึกจับกุมเอกสารท้ายคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่เคยนำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

 

ตัวอย่าง คำวินิจฉัยศาลฏีกา ที่ไม่ถือเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ ตามมาตรา 100/2

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2547

   การที่จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นลอยๆ โดยมิได้มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ และพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 100/2

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3516/2549

   แม้จำเลยได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยซื้อฝิ่นมาจาก น. ตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวขยายผลจับกุมบุคคลที่จำเลยกล่าวอ้างได้หรือไม่อย่างไร คำให้การของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2553

   แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร มิใช่บทบังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งตำหนิรูปพรรณ ก. และ ป. ให้พนักงานสอบสวนทราบ จนมีการออกหมายจับบุคคลทั้งสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุม ก. และ ป. มาดำเนินคดีได้หรือไม่ อย่างไร คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะกำหนดโทษจำเลยให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายวาม

1. หลังจากไต่สวน ควรแถลงขอศาลให้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลย ก่อนพิพากษา

2. ขอหมายเรียกศาลให้ ผู้จับกุม ผู้รับแจ้ง มาเบิกความ (เสียค่านำหมาย)

3. ควรไต่สวนเกี่ยวกับฐานะบุคคล เพื่อให้ศาลปราณี

4. แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีของบุคคลที่ถูกแจ้ง

 

รับว่าความทั่วประเทศ 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทนายณัฐวุฒิ โทร 0962602711

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

#1 โดย: อำนาจ [IP: 27.55.66.xxx]
เมื่อ: 2023-02-22 00:54:26
ได้แจ้งติดตามพรบ. ยาเสพติด มาตรา 100/2 ให้กับผู้ต้องหาทราบแล้วมาหมายถึงอะไร

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,792