รับสภาพหนี้

คดีผิดสัญญารับสภาพหนี้ #ทนายคดีรับสภาพหนี้ThanuLaw

รับสภาพหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ยอมรับว่าตนเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมูลหนี้มีอยู่จริง และสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย โดยจะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14 จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ (ยอมรับก่อนหนี้เดิมจะขาดอายุความ)

   มูลหนี้เกิดขึ้นมีได้หลายทาง เช่น นิติกรรมสัญญา (ซื้อขายสินค้า กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน) ละเมิด(รับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ) ลาภมิควรได้ เป็นต้น

 

วิธีการที่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) มี 5 กรณี คือ

   (1) ทำเป็นหนังสือสัญญา

   (2) ชำระหนี้บางส่วน

   (3) ชำระดอกเบี้ย

   (4) ให้ประกัน

   (5) ทำการใด ๆ ที่แสดงว่ายอมรับสภาพหนี้

 

การยอมรับสภาพหนี้ภายหลังขาดหนี้เดิมขาดอายุความ

   หรือจะเรียกว่าการ "รับสภาพความผิด" ถือเป็นเรื่องของการเริ่มนับอายุความใหม่ โดยมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35

 

วิธีการรับสภาพหนี้

: หนังสือรับสภาพหนี้ไม่จำเป็นจะต้องลงลายมือชื่อของเจ้าหนี้ หรือพยานก็ได้ กฎหมายกำหนดเพียงจะต้องลงลายมือชื่อของลูกหนี้เป็นสำคัญ เท่านั้น เพราะถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของลูกหนี้

 

อายุความฟ้องคดี

รับสภาพหนี้ก่อนอายุความเดิมสิ้นสุด : + ตามอายุความเดิม...ปี

รับสภาพหนี้หลังจากอายุความสิ้นสุด : + 2 ปีนับแต่วันผิดสัญญา

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. หนังสือสัญญาหนี้เดิม (ต้องบรรยายในคำฟ้องด้วย มิฉะนั้นถือว่าไม่ชัดเจน อ้างอิง ฎ.307/2550)

2. หนังสือรับสภาพหนี้ / หนังสือยืนยันยอดหนี้

3. บัตรประจำตัวประชาชน

4. หนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือเลิกสัญญา

5. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : หนังสือรับสภาพหนี้ ไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงไม่ต้องติดอากรแสตมป์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2546

   จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า เอกสารบันทึกข้อตกลงตามคำฟ้องมีข้อความว่าเป็นการกู้ยืมเงินและอยู่ในรูปสัญญา เมื่อมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลรัษฎากรฯ นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง

   ข้อความในบันทึกข้อตกลงที่ว่าผู้ให้สัญญายอมรับว่าได้เป็นหนี้ต่อผู้รับสัญญาจริงโดยระบุเท้าความให้เห็นว่าหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงิน อันจะเป็นลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 434/2523

   หนังสือรับสภาพหนี้มิได้ปิดอากรแสตมป์ ใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ แม้จำเลยมิได้ให้การไว้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

   ตามประมวลรัษฎากรเฉพาะใบรับรองหนี้ ที่บริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การ ทำต้องปิดอากรแสตมป์ ใบรับรองหนี้ที่บุคคลธรรมดาทำไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้

 

ประเด็น : ต้องทำการรับสภาพหนี้ ก่อนหนี้เดิมจะขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552

   เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ

 

ประเด็น : รับสภาพหนี้ โดยตกลงผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย มีอายุความ 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2562

   ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ตารางกำหนดชำระหนี้และหนังสือสัญญาค้ำประกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ รวม 103 งวด ดังนี้จึงถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าว จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันผิดนัดจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 32 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 1 มีนาคม 2553 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้คืนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มต้นตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 5 ปี ในวันที่ 2 มีนาคม 2558 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วย

 

ประเด็น : ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ต่อกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2538

   กรณีที่จะต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิด โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์มาก่อน การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอชำระหนี้แทนบริษัท บ. ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพความรับผิด โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 193/35 แต่กรณีเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากบริษัท บ.จำกัด มาเป็นจำเลย

   การฟ้องคดีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

ประเด็น : เพียงทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ แบบนิติกรรมฝ่ายเดียว ก็เพียงพอแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539

   มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิมนับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คือ อย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533 อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้ จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพ ความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : หนังสือยืนยันยอดหนี้ ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2562

   โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมฟ้องให้จําเลยรับผิดชําระค่าการงานที่ได้ทําและค่าดูแลกิจการของจําเลย ซึ่งมีกําหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) โจทก์กับจําเลยทําหนังสือสัญญาเพื่อยกเลิกสัญญาให้บริการ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาด้วยว่า โจทก์ทวงถามให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง จําเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริง โดยโจทก์แนบส่งสําเนาเอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2559 เป็นเอกสารท้ายคําฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคําฟ้องโจทก์ ประกอบกับจําเลยให้การยอมรับว่าได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากโจทก์ตามหนังสือยืนยันยอดหนี้ จํานวน 1,205,245.58 บาท จำเลยจึงตอบยืนยันยอดหนี้ไปยังโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนวน 1,205,249.58 บาท ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ตอบยืนยันความถูกต้องของจํานวนหนี้ดังกล่าวกลับไปยังจําเลย ย่อมมีผลเท่ากับจําเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงจํานวน 1,205,249.58 บาท หนังสือทําขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 หลังฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานที่จําเลยผู้เป็นลูกหนี้รับสภาพความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคสอง ซึ่งมีผลให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่จําเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ มีกําหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2559 ตามมาตรา 193/35 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : ยอมรับก่อนหนี้เดิมขาดอายุความ มีกำหนดเวลาเพิ่มเติมหนี้เดิม ส่วนยอมรับหลังหนี้เดิมขาดอายุความ มีกำหนดเวลาเพียง 2 ปีนับแต่วันรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2547

   สิทธิเรียกร้องตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความ ภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ซึ่งมีอายุความ 10 ปี โดยขณะที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นยังไม่ขาดอายุความจึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่มีการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และ 193/15

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2548

   จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

   การที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้มิใช่กรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วที่จะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10855/2546

   โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า จำเลยสั่งซื้อไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ตั้งแต่ปลายปี 2535 ถึงต้นปี 2536 จำเลยไม่ชำระค่าสินค้า ซึ่งอายุความให้ชำระหนี้ค่าของที่ได้ส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 มีกำหนด2 ปี และอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือนับตั้งแต่ปลายปี 2535 ถึงต้นปี 2536 ซึ่งเป็นเวลาส่งมอบสินค้า จำเลยทำบันทึกข้อตกลงยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2538 เกินกำหนด2 ปี นับตั้งแต่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลย จึงไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แต่เป็นหลักฐานที่จำเลยรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ซึ่งมีผลให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่วันทำบันทึกข้อตกลงตามมาตรา 193/35 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 จึงไม่ขาดอายุความ

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้

   (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

   (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้

   (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

   (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

   (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี

 

มาตรา 193/35 ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกัน ตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน

 

มาตรา 193/28 การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

   บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การบรรยายฟ้อง ต้องอ้างถึงมูลหนี้เดิมด้วยเสมอ

2. หนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ต้องติดอากรแสตมป์ก่อนนำมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง

3. การรับสภาพหนี้มีผลเพียงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิใช่เป็นการก่อสิทธิเรียกร้องขึ้นใหม่ หากไม่มีมูลหนี้เดิมต่อกันแล้ว ก็ไม่อาจรับสภาพหนี้ต่อกันได้

 

ค่าบริการว่าความ คดีผิดสัญญารับสภาพหนี้

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

 

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.228.20.xxx]
เมื่อ: 2021-07-03 02:35:14
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: lk [IP: 184.22.24.xxx]
เมื่อ: 2022-09-15 17:39:38
สอบถามหน่อยครับผมดันเซ็นหนังสือรับสภาพหนี้ไปแล้วครับ แล้วทางเจ้าหนี้สามารถดำเนินคดีกับเราได้ไหมครับ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 27.145.136.xxx]
เมื่อ: 2022-09-22 13:19:28
สอบถามคะถ้าเราเซ็นต์หนังสือรับสภาพนี้แทนไปแล้ว​ทางเจ้าสามารถดำเนินคดีกับเราได้ไหมคะ
#4 โดย: สำนักงานกฏหมายธนู [IP: 125.25.182.xxx]
เมื่อ: 2022-12-06 23:15:18
สอบถามคะลูกถูกบังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้โดยยังไม่ได้ไตร่ตรองหาหลักฐานว่าเอาเงินของเจ้านายไปจริงๆเปล่าและเอาไปจริงๆจำนวนเท่าไหร่แต่ถูกขู่บังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้ไปโดยมีแต่ฝ่ายเจ้านายเป็นพยานแบบนี้เราจะถูกดำเนินคดีอย่างไรบ้างคะ
#5 โดย: b [IP: 124.122.194.xxx]
เมื่อ: 2023-07-03 16:00:28
กรณีที่เจ้าหนี้ได้มีการทวงถามลูกหนี้ ปรากฏว่า ลูกหนี้ได้เข้ามาติดต่อและได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้โดยมิได้กำหนดวันชำระหนี้ตามวัน เดือน ปีปฏิทินไว้ เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ใหม่หรือไม่ครับ
#6 โดย: ทนายธนู [IP: 1.0.237.xxx]
เมื่อ: 2023-07-30 05:13:26
เรียนถามครับน้องเขย จ1กับญาติ จ2 เซนต์ยอมรับสภาพหนี้แต่ไม่มีเงินใช้หนี้ จะถูกดำเนินคดีอย่างไรบ้างครับ.รถยนต์ถูกยึดไปแล้วแต่ยังให้ชำระหนี้..ตอนนี้สงสารน้องมาก.จะติดคุกไหมถ้าไม่ชำระหนี้เพราะไม่มีจริงๆ
#7 โดย: สสส [IP: 202.28.67.xxx]
เมื่อ: 2023-11-07 11:41:54
อยากได้แบบฟอร์มสำหรับทำหนังสือรับสภาพหนี้กับลูกหนี้ครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,885