คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย

คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย (คดีบัตรเครดิต)

   ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้นัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยาน ในวันนี้

   ข้อ 2. คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 จำเลยได้สมัครและโจทก์อนุมัติให้ใช้บริการบัตรเครดิตเลขที่ 1234567890112233 โดยมีกำหนดชำระทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี

   โจทก์ได้ส่งใบแจ้งหนี้ (PAYMENT ADVICE) ให้จำเลยทราบทุกรอบเดือนที่ครบกำหนดชำระหนี้ โดยจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 จำนวน 100 บาท และได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 จำนวน 5,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยก็มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์

   เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์ฟ้อง มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คือ วันที่ 5 กรกฎาคม 2558 อันเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 9 เดือนกว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/34 (1) (7) ประกอบมาตรา 193/12

   ดังนั้นก่อนที่ศาลจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ขอศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งหากเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ศาลไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาต

          ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

    ลงชื่อ                         ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์

    ลงชื่อ                         ผู้เรียงและพิมพ์

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 24 เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

   ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

   คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247

#1 โดย: วันทนีย์ [IP: 122.155.47.xxx]
เมื่อ: 2024-01-01 15:18:12
กราบขอบพระคุณมากค่ะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,898