ผู้จัดการนิติบุคคล

คุณสมบัติของผู้จัดการ

มาตรา 35 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

   ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคล ในฐานะผู้จัดการ

 

มาตรา 35/1 ผู้จัดการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลล้มละลาย

(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(3) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่

(4) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(5) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการเพราะเหตุทุจริตหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องต่อศีลธรรมอันดี

(6) มีหนี้ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ในกรณีที่ผู้จัดการเป็นนิติบุคคล ผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้น ในฐานะผู้จัดการ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งด้วย

 

มาตรา 35/3 ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตายหรือสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล

(2) ลาออก

(3) สิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 35/1

(5) ไม่ปฏิบัติตาม พรบ หรือกฎกระทรวงหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาจ้างและที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติให้ถอดถอน

(6) ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติให้ถอดถอน

 

หน้าที่ของผจก.

มาตรา 36 ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 33 ตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

(2) ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ให้ผู้จัดการมีอำนาจโดยความริเริ่มของตนเองสั่งหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารดังเช่นวิญญูชนจะพึงรักษาและจัดการทรัพย์สินของตนเอง

(3) จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด

(4) เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด

(5) จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน

(6) ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 เกิน 6 เดือนขึ้นไป

(7) หน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

   ผู้จัดการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง เว้นแต่กิจการซึ่งตามข้อบังคับหรือมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตามมาตรา 49(2) กำหนดให้มอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนได้และต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

 

มาตรา 68 ผู้จัดการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 29 วรรคสาม และมาตรา 36 (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

ประเด็น : การถอดถอนผู้จัดการ ต้องได้เสียง 1 / 4 ของที่ประชุมใหญ่ เจ้าของร่วมทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5274/2557

   พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อเข้าเหตุในหลายกรณี มิใช่เป็นบทกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบุคคลในการถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไปแล้วด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่ได้บัญญัติไว้ทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการได้อีกต่อไป จึงขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ฟ้องโจทก์จึงมิเกี่ยวด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดี

   อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 (1) ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ต้องดำเนินการด้วยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ซึ่งหากจำเลยจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หรือข้อบังคับประการใด โจทก์และเจ้าของร่วมก็พึงต้องดำเนินการเพื่อให้มีการถอดถอนจำเลยทางมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บุคคลใดจะมาใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเมื่อตามคำฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้เช่นกัน

 

ประเด็น : อำนาจหน้าที่ เป็นตัวแทนนิติบุคคลอาคารชุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8292/2543

   พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงมีอำนาจดำเนินการใด ๆ แทนนิติบุคคลอาคารชุดได้ แม้ว่าในข้อบังคับของโจทก์จะกำหนดให้คณะกรรมการนิติบุคคลของโจทก์มีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอก หากมีการละเมิดจากการกระทำของบุคคภายนอกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง การเรียกร้องค่าเสียหาย และการเรียกเอาทรัพย์คืนนั้น ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวก็หาลบล้างอำนาจของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดไม่

#1 โดย: ผู้มีความรู้ด้านนี้ [IP: 101.108.127.xxx]
เมื่อ: 2021-06-11 03:47:18
ถ้ากรณีผู้จัดการนิติบุคคล มีมติคณะกรรมการให้ผู้จัดการนิติสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำหน้าที่แทนได้หรือไม่

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,063