คำร้อง ขอให้ตรวจสารพันธุกรรม DNA

คำร้อง ขอให้ตรวจสารพันธุกรรม DNA

   ข้อ 1. คดีนี้ ศาลได้โปรดนัดไกล่เกลี่ย ชี้สองสถาน หรือสืบพยานโจทก์ ในวันนี้

   ข้อ 2. ด้วยโจทก์ได้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า เด็กหญิงน่ารัก น่าชัง เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าเด็กหญิงน่ารัก น่าชัง มิใช่บุตรของตน รายละเอียดปรากฎตามคำให้การของจำเลย ในสำนวนคดีของศาล

   ข้อ 3. เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กหญิงน่ารัก น่าชัง เป็นบุตรของจำเลยหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี และเป็นกรณีที่ทำให้ศาลวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก

   ด้วยเหตุดังที่ได้กราบเรียนต่อศาลข้างต้น ผู้ร้องขอศาลได้โปรดมีคำสั่งให้จำเลยไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา มารดา และบุตร อันประกอบด้วยโจทก์ จำเลย และเด็กหญิงน่ารัก น่าชัง ตามโรงพยาบาลที่ศาลได้กำหนด โดยให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจฝ่ายละครึ่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

         ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ    ธนู กุลอ่อน         ทนายโจทก์

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายโจทก์ เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ    ธนู กุลอ่อน         ผู้เรียงและพิมพ์

 

ป.วิ.แพ่ง

มาตรา 128/1 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

   ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้

   ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้

   ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง

   ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161

 

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

มาตรา 160 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอํานาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดําเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สําคัญแห่งคดี ทั้งนี้ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้

   ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย

   หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทําการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น

   ให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสั่งตามมาตรานี้ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกําหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ให้สันนิษฐานเป็นโทษแก่ฝ่ายนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10767/2558

   การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ตรวจพิสูจน์หาสารประกอบทางพันธุกรรมแล้วเห็นว่า กรณีจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ. หรือไม่ จึงได้มีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 แม้การตรวจพิสูจน์บุคคลตามที่ศาลมีคำสั่ง บุคคลที่ถูกศาลสั่งจะไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ก็ได้ แต่ตามมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ยินยอมและไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์มาโดยตลอด จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ข้ออ้างตามทางไต่สวนของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่กล่าวมาจึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ผู้ร้องได้รับประโยชน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ.

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 13689/2555

   ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ร้อง เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องได้คัดค้านและไม่ยินยอมให้ตรวจ ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคำร้อง คำสั่งศาลดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตามคำร้องของผู้คัดค้านซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล กรณีมิใช่ศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แล้วผู้ร้องไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ อันจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง

 

ประเด็น : ไม่ได้ตรวจกับบิดา คู่ความสามารถปฏิเสธได้ ไม่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

   พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,885