คำร้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น

คำร้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น

คดีผิดสัญญาบัตรเครดิต

   ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้นัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยานโจทก์ ในวันนี้

   ข้อ 2. คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 จำเลยได้สมัครสมาชิกบัตรเครดิตสยามพาณิชย์ และโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวิซ่า การ์ด โดยโจทก์ออกบัตรเครดิต หมายเลขบัตรที่ 1111-2222-3333-4444 และหมายเลขอ้างอิง 0000-9999-0000-8888 ให้แก่จำเลย และโจทก์ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตให้แก่จำเลยจำนวน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี โดยจำเลยสามารถใช้บัตรเครดิตดังกล่าวในการชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่างๆ แทนเงินสดให้แก่ร้านค้าหรือสถานที่ให้บริการที่เป็นสมาชิกของโจทก์ หรือใช้บัตรเครดิตดังกล่าวเบิกถอนเงินสด ที่เคาห์เตอร์ของธนาคารโจทก์ หรือธนาคารอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกร่วมกับโจทก์ หรือใช้บัตรเครดิตดังกล่าวพร้อมกับรหัสส่วนตัว ที่โทก์ออกให้เบิกถอนเงินสดจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ(เอทีเอ็ม) โดยจำเลยตกลงจะปฏิบัติตามสัญญาเงื่อนไข และข้อกำหนดการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ทุกประการ

   แต่จำเลยได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว โดยจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบประจำทุกเดือน ส่วนยอดหนี้ที่ค้างชำระในแต่ละเดือนโจทก์คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพื่อการชำระหนี้ล่าช้า ตามอัตราที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อตกลงในการใช้บัตรเครดิต อันเป็นการผิดนัดผิดสัญญาทำให้จำเลยมียอดหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยจำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 จำนวนเงิน 5,000 บาท และชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 จำนวนเงิน 7,000 บาท

   เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์ฟ้อง มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คือ วันที่ 10 สิงหาคม 2557 หรือวันที่ 10 กันยายน 2557 อันเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 3 เดือนกว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)

   ดังนั้นก่อนที่ศาลจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ขอศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งหากเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นคุณแก่จำเลยแล้ว ศาลไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาต

         ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ                            ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ                            ผู้เรียงและพิมพ์

 

คดีหย่า ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ

   ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 มีนาคม 2558 เวลา 13.00 นาฬิกา

   ข้อ 2. จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยข้อหาผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2556 เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

   จำเลย ให้การต่อสู้ว่า สัญญาดังกล่าว จำเลยไม่ได้รู้เห็น และไม่ได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความปลอม จำเลยและโจทก์ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือมูลใดๆต่อกัน สัญญาดังกล่าวไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยและโจทก์ ระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่จริงหรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไป สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 852 สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

   ด้วยเหตุผลดังที่จำเลยได้ประทานกราบเรียนข้างต้นนั้นมีประเด็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็จะเป็นคุณแก่จำเลย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย เบื้องต้นและพิจารณาพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย อันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องขอศาลได้โปรดอนุญาต

          ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ                            ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ                            ผู้เรียงและพิมพ์

 

คดีฟ้องหย่า ชาวต่างชาติ

   ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้นัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยานโจทก์ ในวันนี้

   ข้อ 2. โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลไทย โจทก์มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ให้ได้ว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่นของโจทก์ ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย เมื่อมีการจดทะเบียนสมรแล้ว คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ กล่าวคือเหตุในการที่ฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งโจทก์ต้องคัดลอกกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่น พร้อมคำแปลเสนอศาลไทย แต่ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ตามกฎหมายแห่งสัญชาติญี่ปุ่นได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า”

   ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงพอที่จะทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้ ซึ่งหากศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นปัญหาข้อกฎหมาย ก็จะเป็นคุณแก่จำเลย จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก อันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง

  จำเลยจึงขอประทานกราบเรียนต่อศาล ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย ดังกล่าวก่อนการดำเนินการพิจารณาคดีนี้ ตามระมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

          ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

   ลงชื่อ                            ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายธนู กุลอ่อน ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์

   ลงชื่อ                            ผู้เรียงและพิมพ์

 

ป.วิ.แพ่ง

มาตรา 24 เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

   ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

   คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247

#1 โดย: นายอภัยบูลย์ พวงคำ [IP: 203.150.115.xxx]
เมื่อ: 2023-01-26 06:06:36
เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างมากครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,408