ค่าจ้าง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้างในวันทำงาน” หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

“อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” หมายความว่า อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้

 

ถาม : นายจ้างจะหักเงินค่าจ้างลูกจ้าง ได้ในส่วนใดบ้าง

ตอบ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

   (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระ เงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

   (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

   (3) ชำระหนึ้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจาก ลูกจ้าง

   (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

   (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตาม มาตรา 70 เว้น แต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2548

   พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่ เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (4) นั้น มุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้างและลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่โจทก์เป็นเพียงภริยาของ อ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ มิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลย ย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้ จำเลยก็ไม่อาจหักค่าจ้างของโจทก์ได้

   คำว่าหนี้อื่นๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) หมายถึงหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นเอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีที่สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์เป็นผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย มิใช่หนี้อื่นๆ ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์

 

ถาม : นายจ้างจะลดเงินเดือนพนักงาน ได้หรือไม่

ตอบ ไม่ได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยเป็นโทษแก่ลูกจ้าง ซึ่งขัดต่อมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

ยกเว้น กรณีที่ลูกจ้างยินยอมโดยสมัครใจ (ทำเป็นหนังสือยินยอม) หรือตกลงโดยปริยาย (ประกาศไปฝ่ายเดียว แล้วลูกจ้างไม่โต้แย้ง)

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545

   การตกลงกำหนดค่าจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ การที่จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์ เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,552