เช่าซื้อรถยนต์

คดีเช่าซื้อรถยนต์ หรือที่เรียกว่า "ลิสซิ่ง" ปัจจุบันมีการฟ้องคดีผู้เช่าซื้อรถยนต์กันเป็นจำนวนมาก 

ทางสำนักงานฯ ขอสรุปประเด็นสำคัญ ผ่านการถาม - ตอบ ในแง่กฎหมาย ดังนี้ #ทนายคดีเช่าซื้อรถยนต์ThanuLaw

คำถาม 1. ผ่อนต่อไม่ไหว ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

ตอบ : ผู้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ พร้อมชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้ครบถ้วน ถ้ายังไม่คืนรถ ถึงแม้จะบอกเลิกสัญญา ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 อ้างอิง ฎ.3149/2530

 

คำถาม 2. รถยนต์หายในระหว่างผ่อนชำระ ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดอยู่ไหม

ตอบ : ยังต้องรับผิดอยู่ อ้างอิง ฎ.155/2535

   เพราะโดยส่วนใหญ่ ในสัญญาลิสซิ่ง ทางไฟแนนซ์มักจะเขียนไว้ให้ผู้เช่าซ้อต้องรับผิดอยู่ แม้รถยนต์จะสูญหาย ถูกโจรกรรม หรือเสียหายโดยเหตุสุดวิสัยใดๆ ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้กัน ไม่เป็นโมฆะ อ้างอิง ฎ.3295/2533

   ซึ่งถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดได้ ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เรียกร้องไม่ได้ อ้างอิง ฎ.5819/2550

   หากมีการรับประกัน ผู้ใช้เช่าซื้อได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันครบถ้วนแล้ว ไม่สามารถเรียกค่าผู้เช่าซื้อได้อีก อ้างอิง ฎ.4819/2549

 

คำถาม 3. ค่าขาดประโยชน์ คือ ค่าใช้รถยนต์หลังผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไหม เพียงใด

ตอบ : ต้องรับผิด ซึ่งไฟแนนซ์สามารถเรียกร้องได้ ในระหว่างที่รถยนต์อยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ โดยนับตั้งแต่วันผิดนัดไปจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์คืน อ้างอิง ฎ.1960/2545

   แต่ค่าขาดประโยชน์ ไม่ถือเป็นหนี้ค้างชำระ จึงไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ แม้สัญญาจะระบุไว้ก็ตาม อ้างอิง ฎ.3668/2532

 

คำถาม 4. ค่าติดตามยึดรถ ค่าทวงถาม ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าซ่อม ไฟแนนซ์สามารถเรียกได้ไหม

ตอบ : ได้ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ที่สมเหตุสมผล ซึ่งจะขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล

 

คำถาม 5. การยึดรถคืนของไฟแนนซ์ มีขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร

ตอบ : ผู้เช่าซื้อจะต้องค้างชำระ 3 งวดติดต่อกัน และอีก 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ รวมทั้งสิ้นเป็น 4 เดือน แล้วผู้เช่าซื้อไม่ชำระ จึงถือว่าสัญญาเลิกกัน ไฟแนนซ์จึงจะมีสิทธิสามารถติดตามยึดรถกลับคืนได้

: ถ้ายึดก่อนสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อมีสิทธิไม่คืนรถให้ได้ การยึดรถต้องเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อให้ยินยอมเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากถูกยึด ผู้เช่าซื้อควรถ่ายรูปหรือคลิปวิดิโอไว้ แล้วนำไปแจ้งความต่อตำรวจไว้เป็นหลักฐาน เพราะไฟแนนซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เว้นแต่จะตกลงกันในสัญญา ระบุผิดนัดเพียงงวดเดียวสามารถบอกเลิกสัญญาได้ อ้างอิง ฎ.3842/2526

   ถ้ามีการบังคับขู่เข็ญใด ๆ จากผู้ตามยึด ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดต่อเสรีภาพ ตาม ป.อ. มาตรา 309

: ถ้าติดตามยึดรถคืน หลังสัญญาสิ้นสุดลง ไฟแนนซ์สามารถเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคารถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ ได้ เพราะถือว่าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา

 

คำถาม 6. สถานที่ยึดรถ

ตอบ : เฉพาะในที่สาธารณะ ที่คนทั่วไปเข้าไปได้ ที่ส่วนบุคคล ไม่สามารถเข้ายึดได้

 

คำถาม 7. ยึดแล้ว จะนำรถไปไหนต่อ

ตอบ : เมื่อยึดรถแล้ว ทางไฟแนนซ์จะนำรถไปขายทอดตลาด โดยจะมีหนังสือแจ้งผู้เช่าซื้อก่อน นำรถยนต์ขายทอดตลาด เพื่อให้ใช้สิทธิในการปิดบัญชี หกผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันไม่ใช้สิทธิ ก็จะนำขายทอดตลาดให้กับบุคคลทั่วไป หากมีเงินขาดทุนไฟแนนซ์ก็อาจจะฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดในค่าขาดราคารถยนต์

 

คำถาม 8. ไฟแนนซ์ยึดรถยนต์ไปขายทอดตลาด แล้วมีราคาที่ยังขาดอยู่ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไหม เพียงใด

ตอบ : ยังต้องรับผิดชอบอยู่ ในส่วนของค่าขาดราคารถยนต์ แต่เป็นจำนวนที่ขาดจากราคารถยนต์ที่แท้จริง มิใช่ ราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่

   แต่ในทางปฏิบัติ ไฟแนนซ์ซื้อมักจะฟ้องมาเท่ากับจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อในสัญญาที่ยังขาดอยู่ อ้างอิง ฎ.5363/2545

   เมื่อไฟแนนซ์ได้รับรถคืน ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้เช่าซื้อนำรถไปคืนเอง หรือถูกตามยึดรถได้ เมื่อไฟแนนซ์นำรถไปขายทอดตลาด (ซึ่งต่ำกว่าราคาในท้องตลาดมาก) หากได้เงินเกินกว่าหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ประกอบด้วย ค่างวดส่วนที่เหลือ ค่าปรับ ค่าทวงถาม ค่าติดตามยึดรถ ค่าขายทอดตลาด ดอกเบี้ย ไฟแนนซ์จะคืนเงินส่วนที่เกินให้ แก่ผู้เช่าซื้อ (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก) แต่หากได้ราคาน้อยกว่าหนี้ส่วนที่ขาดตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำ (ถ้ามี) จะต้องรับผิดชำระเงินส่วนต่างที่ขาดอยู่

   โดยสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงในผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบ โดยถือเป็นลักษณะเบี้ยปรับ ที่ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร อ้างอิง ฎ.45/2530

โดยไฟแนนซ์ ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ

: ก่อนขาย ไฟแนนซ์ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ค้ำประกัน ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ สามารถซื้อรถยนต์คืนได้ในราคาที่ค้างชำระ

: หลังจากขายแล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบว่า ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ราคาเท่าไหร ยังเหลือหนี้อยู่อีกเท่าไหร หรือขายได้กำไรกี่บาท ภายใน 15 วัน นับจากวันขายทอดตลาด

   ถ้าไม่แจ้งให้ทราบตามกฎหมาย ก็เรียกค่าเสียหายค่าขาดราคารถไม่ได้ ยกเว้นจะระบุไว้ในสัญญา

 

คำถาม 9. ค่าขาดราคารถยนต์นั้น คิดคำนวณจากอะไร

ตอบ : ศาลจะคิดคำนวณจากราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อในราคาตลาดในขณะที่ขาย หักด้วยค่างวดค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่จ่ายมาแล้ว หักด้วยราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อที่ขายทอดตลาดได้

 

คำถาม 10. การเรียกค่าขาดประโยชน์ มีอายุความกี่ปี

ตอบ : 10 ปี อ้างอิง ฎ.2576/2546

 

คำถาม 11. การเรียกให้ชำระราคาส่วนที่ขาดทุน โดยมิได้เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อายุความกีปี

ตอบ : 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อ้างอิง ฎ.1643/2546

 

คำถาม 12. การเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ มีอายุความกี่ปี

ตอบ : 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(6) อ้างอิง ฎ.3358/2530

 

คำถาม 13. เรียกค่าเสียหาย กรณีผู้เช่าซื้อให้ทรัพย์ชำรุดบุบสลาย มีอายความกี่ปี

ตอบ : 6 เดือนนับแต่วันส่งคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563

 

คำถาม 14. การฟ้องติดตามเอารถนต์คืน มีอายุความกี่ปี

ตอบ : ไม่มีอายุความ

 

คำถาม 15. เมื่อสัญญาเลิกกัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดหรือไม่

ตอบ : ไม่รับผิดชอบ อ้างอิง ฎ. 550/2543

 

คำถาม 16. เมื่อสัญญาเลิกกัน ดอกเบี้ย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบเพียงใด

ตอบ : ไฟแนนซ์เรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก แม้สัญญาจะกำหนด 15 ต่อปี ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญา อ้างอิง ฎ.4265/2535, 7812/2540, 1713/2546

 

คำถาม 17. หลังจากแพ้คดีแล้ว ไฟแนนซ์สามารถบังคับคดีได้อย่างไรบ้าง

ตอบ : ถ้าผู้เช่าซื้อ มีทรัพย์สินในนามของตน ก็จะถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรืออายัดเงินเดือนได้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีได้ และก็ไม่ติดคุก เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา

 

คำถาม 18. ผู้เช่าซื้อผ่อนต่อไม่ไหว ส่งรถคืนได้ไหม

ตอบ : ได้ เพราะเป็นกรณีผู้เช่าซื้อสมัครใจคืนรถ โดยการเซ็นต์เอกสารส่งมอบรถยนต์ ถือว่า เป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา

 

คำถาม 19. คืนรถยนต์ โดยไฟแนนซ์ยินยอมรับ ก่อนบอกเลิกสัญญาหรือในระหว่างขั้นตอนบอกเลิกสัญญา ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดในส่วนขาดราคาเช่าซื้อ หรือไม่

ตอบ : ไม่ต้องรับผิด เพราะถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกกัน อ้างอิง ฎ. 2734/2561

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญา ซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

   สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 คราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

   อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญา เพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงิน ได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

 

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555

ข้อ 3. ในประกาศนี้

(4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้น ภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น

(5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อ และกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น

   ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (10)

   ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องมีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน เวลา สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (ถ้ามี) รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ในกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขาย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. เมื่อได้เงินขายทอดตลาดมาไม่เพียงพอกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ไฟแนนซ์จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้เช่าซื้อ ซึ่งมักเรียกมา Over เกินจริงมาก แนะนำให้แต่งตั้งทนายสู้คดี ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาให้ไม่เกิน 50%

2. ในการพิสูจน์ค่าเสียหายในคดีเช่าซื้อ ค่าขาดประโยชน์ ต้องมีพยานบุคคลที่เคยเช่ารถจากผู้อื่น มาเบิกความต่อศาลยืนยันในเรื่องค่าเช่า แต่ส่วนมากโจทก์ก็จะอ้างว่าสามารถเอาออกให้คนอื่นเช่าได้ในแต่ละเดือนเป็นเงินเท่ากับค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งผู้เช่าซื้อสามารถโต้เถียงได้ว่าไม่ใช่ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ของโจทก์ ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจลดให้ได้ตามสมควรในค่าเสียหายส่วนนี้ แม้เราไม่สู้คดี

3. ค่าติดตามยึดรถ ต้องมีหลักฐานการชำระเงินค่ายึดรถ และผู้ยึดรถ ต้องมาเบิกความต่อศาล ก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลตามสมควร

4. ความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายในตัวรถ จะต้องมีภาพถ่ายที่เห็นชัดเจนมาส่งศาล บิลค่าซ่อมหรือค่าเปลี่ยนอะไหล่และต้องมีช่างมาเบิกความต่อศาล

5. การลากจูงรถยนต์ที่เช่าซื้อ เนื่องจากใช้การไม่ได้ ต้องมีใบเสร็จค่าลากจูงมาส่งศาล

 

เช่าซื้อรถยนต์กับคดีอาญา ยักยอก/ลักทรัพย์/ยาเสพติด

ปัจจุบัน มีการดำเนินคดีอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์ กับผู้เช่าซื้อรถยนต์ กันเป็นจำนวนมาก ทางสำนักงาน ฯ จึงขอสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

คำถาม 1. ยักยอกรถยนต์ที่เช่าซื้อ แล้วนำไปจำนำหรือขาย มีความผิดฐานยักยอกไหม

ตอบ : มี

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7727/2544

   จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด มีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

 

คำถาม 2. ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ครอบครองทรัพย์ ถือว่าเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์ต่อตำรวจไหม

ตอบ : มี ถือเป็นผู้เสียหาย เพราะเป็นผู้มีสิทธิใช้สอยใช้ประโยชน์ เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ (แม้จะยังผ่อนชำระราคาไม่ครบ)

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2531

   ผู้ครอบครองทรัพย์ แม้มิใช่เป็นเจ้าของ ก็เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556

   จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

คำถาม 3. อายุความ ต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดี ภายในระยะเวลานานเท่าใด

ตอบ : 3 เดือนนับแต่รู้

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551

   แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96

 

คำถาม 4. ผู้ตามยึดรถ ข่มขู่จะยึดรถ และเรียกค่าติดตามทวงถาม โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากไฟแนนซ์ มีความผิดฐานใด

ตอบ : มีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ อ้างอิง ฎ. 5146/2557

 

คำถาม 5. ผู้เช่าซื้อ นำรถไปจำนำเต๊นท์ แล้วหลุด หากไม่คืนรถแก่ไฟแนนซ์ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไหม

ตอบ : มี

 

คำถาม 6. ผู้ค้ำประกัน ถูกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ ได้ด้วยไหม

ตอบ : ไม่ได้ แต่ถ้าถูกพนักงานทวงหนี้ข่มขู่ แนะนำให้สอบถามชื่อ และบันทึกเสียงไว้ด้วย ถือว่าผิด พ.ร.บ.ทวงหนี้ 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

 

คำถาม 7. ผู้เสียหายร้องทุกข์ในคดียักยอก เมื่ออัยการฟ้องจำเลยแล้ว ผู้เสียหายจะสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ ค่าเดินทางไปแจ้งความ ค่าติดตามรถ และค่าซ่อมรถ โดยอ้าง มาตรา 44/1 ได้ไหม 

ตอบ : ไม่ได้ เพราะมิใช่ค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องไปฟ้องคดีแพ่งต่างหาก อ้างอิง ฎ. 4265/2563

 

คำถาม 8. ผู้เช่าซื้อสามารถขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีอาญาได้ไหม

ตอบ : ไม่ได้ การขอคืนของกลางในคดีอาญา ตาม ป.อ. ม. 36 เป็นสิทธิเฉพาะของ "ผู้ให้เช่าซื้อ" ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เท่านั้น อ้างอิง ฎ.5783/2537

 

คำถาม 9. รถยนต์ถูกลักขโมย ผู้เช่าซื้อ มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ไหม หรือต้องรับมอบอำนาจจากไฟแนนซ์ก่อน

ตอบ : ได้ เพราะถือเป็นผู้เสียหาย อ้างอิง ฎ.2481/2562

 

คำถาม 10. เมื่อถูกฟ้องยักยอก สามารถขอเจรจาผ่อนชำระได้ไหม

ตอบ : ได้ ใจจริงไฟแนนซ์ ก็อยากได้เงินมากกว่าได้รถคืนอยู่แล้ว ผ่อนจ่ายครบ ไฟแนนซ์ก็ถอนฟ้อง

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

   (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด

   (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

   (3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37

   (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

   (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น

   (6) เมื่อคดีขาดอายุความ

   (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

 

เรียบเรียงและเขียนโดย ทนายธนู กุลอ่อน

 

ตัวอย่าง สัญญาประนีประนอมยอมความคดีเช่าซื้อ

 

#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.245.xxx]
เมื่อ: 2019-05-31 17:06:39
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: สุธี [IP: 1.47.234.xxx]
เมื่อ: 2019-08-05 07:08:51
สวสัดีครับ ผมโดยเรียกค่าขาดประโยชน์จากไฟแนนช์ คือ ผมโทรให้ไฟแนนช์มาเอารถไปเพราะผ่อนไม่ไหว ไม่ค้างค่างวดนะครับ ต่อมา2-3เดือนมีจม.จากไฟแนนช์มาว่าขายรถไปในส่วนที่ถูก จะเรียกเก็บเพิ่ม โดยที่ไม่มีจม.แจ้งก่อนขายเลย ผมต้องทำยังไงครับ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 58.8.234.xxx]
เมื่อ: 2019-08-12 10:30:25
ตอบ #2 สุธี
เจรจาตกลงตัวเลขกันได้ครับ หากไม่พอใจก็ให้ไฟแนนซ์ไปฟ้องศาลแ้วค่อยไปไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาลอีกทีครับ
#4 โดย: Korn [IP: 49.49.26.xxx]
เมื่อ: 2019-08-14 10:52:50
การเรียกค่าขาดประโยชน์อายุความ 10 ปี เริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ
#5 โดย: drakside [IP: 49.230.17.xxx]
เมื่อ: 2019-08-17 11:28:40
อะไรว่ะพอโทรไปบอกไม่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องไฟแนนซ์​ แล้วจะลงว่าปรึกษาฟรีทำไมว่ะ​ งง​ ไม่เชื่อลองโทรดูน่ะเป็นเหมือนกันป่าว
#6 โดย: บ๊อบ [IP: 171.101.102.xxx]
เมื่อ: 2019-08-19 16:35:46
กำลังจะโดนยกเลิกสัญญา​แต่ถ้าเราส่งไปงวด1​ ก่อนได้ไหมคร๊
เงินไม่มีพอปิดถึง3งวดคร๊
#7 โดย: Wannisa [IP: 27.55.71.xxx]
เมื่อ: 2019-12-12 22:22:28
สอบถามค่ะ เจรจากับไฟแนนแล้วเราติดค้าง 3 งวดค่ะซึ่งเราเสนอไปว่าวันที่ 27 ธ.ค เราจะจ่ายให้ 4 งวดเลยให้เป็นปัจจุบันเราสะดวกจ่าย ณ วันนั้นแต่ทางไฟแนนเค้าไม่ยินยอมเค้าบอกต้องจ่ายภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ช้าสุด เค้าพูดจนกดดันจนเราคิดจะตัดชีวิตเลยเพราะหามาให้ทันตามที่เค้าต้องการไม่ได้ อยากทราบว่าเราเจรจาต่อรองกับเค้าได้มั้ยค่ะ เค้าสามารถเลื่อนตามกำหนดให้เราได้หรือป่าว เราเพิ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่วันนี้ครั้งแรกค่ะ
#8 โดย: 3570100178359 [IP: 184.22.64.xxx]
เมื่อ: 2020-01-10 22:02:25
สวัสดีคะปรึกษาเรื่องรถคะคือแฟนผ่อนส่งรถไม่ไหวติดค่างวดรถเขาโทรไปถามทางบริษัทบอกคืนรถถามว่าจะเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างทางบริษัทไฟแนนช์ทางสินเชื่อบอกเสียค่าส่วนต่างไม่มากแฟนเลยคืนรถไปแต่คืนรถได้เพียงสองเดือนกับถูกทางไฟแนนช์ทวงเงินค่าเสียหายแสนกว่าบาทเขาไม่บอกเราเลยว่าเอารถไปขายแล้วยังมาบอกเลิกสัญญาทีหลังติดต่อกับไปเขาจะให้เราจ่ายแต่ทางเราบอกว่ามันมากเกินไปขอเจรจาเขาบอกจะติดต่อมาทีหลังจนผ่านมาจะเข้าปี่ที่สามแล้วยังหายเงียบไม่ติดต่อมาเลยอยากทราบว่าเราควรทำยังไงดีคะรบกวนสอบถามหน่อยคะ
#9 โดย: นก [IP: 27.55.70.xxx]
เมื่อ: 2020-06-18 13:47:34
ขอสอบถามค่ะ ในกรณีรถยนต์ไฟแนนช์ได้ยึดรถไปขายทอดตลาด แต่มาเรียกเก็บค่าขาดโดยทางเรามีเหตุผลว่าตอนนี้คนใช้รถเกิดประสบอุบัติเหตุยังทำงานไม่ได้จะขอผ่อนผัน แต่เขาให้ผ่อนผันเดือนละหมื่นซึ่งเราไม่มีในกรณีนี้เราสามารถทำไรได้บ้างค่ะ
#10 โดย: ต่อโชค [IP: 182.232.58.xxx]
เมื่อ: 2020-06-30 23:38:10
ขอปรึกษาเรื่องไฟแนนซ์ และขอวิธีแกไข ครับ
คือ ทางผมค้างส่งค่างวดรถ 7 งวด ผมจึงโทรไปถามไฟแนนซ์ ซึ่งทางไฟแนนซ์บอกว่าได้ทำการยกเลิกสัญยาเช่าซื้อแล้ว และทางไฟแนนซ์ได้บอกอีกว่าได้ส่งเอกสารแจ้ง มาทางผม 2 ฉบับแล้ว. แต่เอกสารฉบับแรกผมยังไม่ได้รับเลย จึงไม่ทราบเรื่อง. แต่มาทราบเรื่องจริงๆของฉบับที่ 2 และโทรศัพย์ของทางไฟแนนซ์ผมก็ไม่เห็นมีการโทรมาแจ้งทางผมเลย ขอคำปรึกษาและแนวทางแก้ไขหน่อยครับ
ขอบคุนครับ
#11 โดย: เดีย [IP: 49.229.233.xxx]
เมื่อ: 2023-10-29 21:25:00
ขอคำปรึกษาหน่อยค่พอดีเราเขาโรงพยบาทแต่ญาติไม่มีรถใช้เอารถเราไปใช้ แล้วเขาบอกว่าจะผ่อนต่อ แต่สามงวดเขาไม่ผ่อน แล้วรถเราก็หาไม่เจอ เราจะทำอย่างไรดีค่ะ ไฟแนนซ์มาตามทวงค่ะรถไม่รู้อยู้ใหน โทรติดต่อญาติก็ติดต่อไม่ไ
ด้ค่ะ
#12 โดย: เจต [IP: 223.24.153.xxx]
เมื่อ: 2024-02-07 09:47:31
ขายทอดตลาด ไปเกิน10ปีแล้วยังโทรมาทวงถามค่าขาดราคาอยู่ได้หรือไหม

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,780