ซื้อขายสินค้า

คดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้า #ทนายคดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้าThanuLaw

หลักกฎหมายเบื้องต้นที่ผู้ซื้อและผู้ขายควรเข้าใจ เพื่อไม่ให้ถูกคู่ค้าเอารัดเอาเปรียบ

   สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ดังนี้

» ผู้ขาย มีสิทธิ - หน้าที่ คือ รับชำระราคา โอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย(ตามวันเวลาที่กำหนด) ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง รอนสิทธิ ข้อสัญญายกเว้นความรับผิด

» ผู้ซื้อ มีสิทธิ - หน้าที่ คือ รับมอบสินค้า ชำระราคา จัดการรับโอนกรรมสิทธิ์

 

สิทธิของผู้ซื้อ กรณีผู้ขายผิดสัญญา

   ผู้ซื้อย่อมบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกมัดจำ หรือเงินชำระหนี้บางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา และอาจเรียกค่าเสียหายด้วยก็ได้ 

 

สิทธิของผู้ซื้อ ในกรณีผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขาดตกบกพร่อง หรือล้ำจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 465

» ส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่า(<)ที่ได้สัญญาไว้ : บอกปัดเสียไม่รับเอาเลย หรือจะรับไว้และใช้ราคาตามส่วน

» ส่งมอบทรัพย์สินมากกว่า(>)ที่ได้สัญญาไว้ : รับไว้แต่เพียงตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือบอกปัดเสียไม่รับเอาเลยทั้งหมด หรือรับไว้ทั้งหมดและใช้ราคาตามส่วน

» ส่งมอบทรัพย์สินระคน(%$@)กับทรัพย์ที่กำหนดในสัญญา : รับไว้เฉพาะตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือหรือบอกปัดเสียทั้งหมดก็ได้

 

ความรับผิดของผู้ขาย หากทรัพย์ที่ขายนั้น ชำรุดบกพร่อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472-473

ในกรณีทรัพย์ที่ส่งมอบถูกต้องแล้ว แต่มีความชำรุดบกพร่อง : ความชำรุดบกพร่องอันผู้ขายต้องรับผิด ต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดก่อน หรือขณะทำสัญญาซื้อขาย ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่

 

ลักษณะของความชำรุดบกพร่อง ที่ผู้ขายต้องรับผิด ในกรณีดังนี้

1. การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เช่น สีของรถยนต์ไม่เหมือนกันตลอดทั้งคัน เบาะที่นั่งไม่ตรงตามแบบของรุ่น เป็นต้น

2. การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เช่น อาหารที่ซื้อขายมีสารปนเปื้อน เป็นต้น

3. การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์มุ่งหมายโดยสัญญา เช่น พระเครื่องมีตำหนิและมีการซ่อมแซมใหม่ให้เหมือนเดิม เป็นต้น

 

กรณีผู้ขายส่งมอบสินค้า ล่าช้า : ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และเรียกเงินคืนได้

 

อายุความคดีซื้อขาย (นับแต่วันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง)

1. ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญา 10 ปี

2. ซื้อไปใช้เอง 2 ปี

3. ซื้อไปเพื่อดำเนินกิจการต่อ 5 ปี

4. ฟ้องให้รับผิดความชำรุดบกพร่อง 1 ปี

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง ที่สำคัญ

1. สัญญาซื้อขายสินค้า

2. ใบสั่งซื้อสินค้า P/O

3. ใบรับของ

4. ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี / ใบวางบิล

5. หลักฐานการโอนเงิน

6. หนังสือบอกกล่าวทวงถาม

 

รูปแบบการฟ้องคดี

1. ผู้ขาย : เรียกเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระ

2. ผู้ซื้อ : เรียกเงินคืนกรณีชำระเงินแล้วไม่ได้สินค้า หรือได้รับแต่สินค้าชำรุดบกพร่อง

 

ค่าขึ้นศาล : 2 % ของจำนวนเงินที่เรียกร้อง

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : สิทธิเรียกร้องเริ่มนับตั้งแต่ฝ่ายผู้ซื้อยอมรับสินค้าไว้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2014/2542

   สินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ต้องจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ แล้วนำไปติดตั้งในสถานที่ของจำเลย ทั้งต้องมีการทดสอบการใช้ระยะหนึ่ง โจทก์นำสินค้าไปติดตั้งให้และดำเนินการแก้ไขให้สมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย โดยจำเลยลงลายมือชื่อรับสินค้าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่ซื้อขายติดตั้งเรียบร้อยและผ่านการทดสอบว่าใช้งานได้ดีและจำเลยยอมรับมอบสินค้านั้นแล้ว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536

 

ประเด็น : ตามราคาที่ตกลงกันไว้ แม้น้อยกว่าราคาตลาด จะปฏิเสธไม่ขายไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 308/2507

   ผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อขาย ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายโอนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นได้ในราคาที่ซื้อขายกันเดิม ถ้าราคาเดิมนั้นเป็นราคาที่ไม่น้อยเกินสมควร ผู้ขายจะปฏิเสธไม่ยอมโอนโดยอ้างว่าราคาที่ทรัพย์สินในขณะฟ้องนั้นสูงขึ้นมากหาได้ไม่

 

ประเด็น : ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขายกัน ก็สามารถฟ้องคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555

   ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า "...หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..." ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

 

ประเด็น : อายุความฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาซื้อขาย 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่

   การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

 

ประเด็น : อายุความกรณีซื้อไปใช้เอง 2 ปี แต่ถ้าซื้อไปเพื่อกิจการ 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2551

   กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่

   จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอรกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14887/2551

   กรณีผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 191/34 (1) บัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองนั้น คำว่า "กิจการของฝ่ายลูกหนี้" หาได้มีความหมายจำกัดเพียงว่า ต้องเป็นการซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายอีกต่อหนึ่งหรือต้องเป็นการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าเท่านั้นไม่ แต่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการประกอบกิจการของลูกหนี้เป็นกรณีไป

   จำเลยที่ 1 ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงสีข้าวอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่า เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) แห่ง ป.พ.พ.

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560

   โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

 

ประเด็น : ฟ้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า 1 ปีนับแต่วันรับรู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2995/2561

   โจทก์ฟ้องว่าเดือนพฤศจิกายน 2555 บริษัท อ. ตัวเเทนโจทก์จะนำอะลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยส่งมอบให้ไปบรรจุยา ได้ตรวจพบว่าอะลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยส่งมอบไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยเเละมีคุณสมบัติไม่ตรงต่อความเหมาะสมอันมุ่งจะใช้ตามปกติ ไม่สามารถนำมาใช้บรรจุยาขายเเก่ประชาชนทั่วไปเพื่อบริโภคได้ ซึ่งการสั่งซื้อนี้จำเลยทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์จะนำไปใช้บรรจุยาเเอสไพรินขายเเก่ประชาชนเเละโรงพยาบาล อลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยผลิตขายจึงต้องมีคุณภาพดีสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดภายใน 1 ปีนับเเต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474

 

ประเด็น : การซื้อขายกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต สามารถฟ้องต่อศาลที่ผู้ซื้อมีภูมิลำเนาได้ l ซื้อขายสินค้า ผู้บริโภค ไม่จำเป็นมีหลักฐาน เพราะกฎหมายให้การคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1630/2563

   โจทก์ทราบว่ารถยนต์บรรทุกคันที่พิพาทได้มีการเสนอขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และโจทก์มีความสนใจจนมีการต่อรองราคากันกับจำเลยผ่านทางโปรแกรมไลน์ จนสามารถตกลงกันได้ในราคา 270,000 บาท และจากข้อความทางโปรแกรมไลน์ที่ตอบกลับมาว่า ไม่น่าเชื่อเจ้านายผมลดให้พี่เกือบ 3 หมื่น สงสัยคุยถูกคอกันครับ อันแสดงให้เห็นว่า คำเสนอราคาของจำเลยในตอนแรกคงมากกว่าราคา 270,000 บาท โจทก์ต่อรองจึงกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ จำเลยตกลงขายโดยส่งข้อความ ซึ่งถือว่าเป็นคำสนองไปถึงโจทก์โดยผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโปรแกรมไลน์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง คือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อันฟังได้ว่า คำเสนอเดิมของจำเลยที่เสนอขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตย่อมตกไป การที่โจทก์เสนอต่อรองราคาเท่ากับโจทก์บอกปัดไม่รับในราคาที่จำเลยเสนอการต่อรองถือว่าโจทก์ได้ทำคำเสนอไปใหม่ให้กับจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 359 วรรคสอง ของ ป.พ.พ. การตอบรับของจำเลยในราคาที่ต่อรองของโจทก์ถือได้ว่าต่างฝ่ายตกลงก่อสัญญากันแล้ว ทั้งโจทก์ได้โอนมัดจำไปให้กับจำเลยในเวลาต่อมาอันฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะไม่ได้ทำเป็นหลักฐานต่อกันก็ตาม โจทก์ในฐานะผู้บริโภคย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ จังหวัดนครศรีธรรมราชที่โจทก์อยู่จึงเป็นสถานที่ก่อให้สัญญาเกิดส่วนหนึ่งด้วยแล้ว เมื่อรถยนต์บรรทุกอันเป็นสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในเขตอำนาจศาลแขวงนครศรีธรรมราชได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

   สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

   บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ

มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ

มาตรา 465 ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น

   (1) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับเอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

   (2) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

   (3) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นอันมิได้รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้

มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด เกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ใช้บังคับได้ แต่ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร

2. หากไม่ได้ตกลงกัน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี

3. ค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 ของจำนวนที่เรียกร้อง

4. เขตอำนาจศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิด กล่าวคือ สถานที่ซื้อขาย

5. กรณีซื้อขายสินค้า เพื่อนำมาขายต่อ ไม่ถือว่าเป็นคดีผู้บริโภค ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

 

ค่าบริการว่าความ คดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้า

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-06-12 07:45:06
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: ทนายธนู [IP: 223.24.154.xxx]
เมื่อ: 2020-01-27 04:32:44
อยากถามจะฟ้องคนที่โกงไม่ยอมคืนเงินให้จะฟ้องได้ไหมแจ้งความแล้วไปคุยไกล่เกลี่ยเค้าไม่ยอมคืนจะต้องทำไงไปที่ไหนถึงจะให้เรื่องถึงศาล
#3 โดย: กันตา [IP: 171.101.230.xxx]
เมื่อ: 2023-09-02 11:42:28
สอบถามการฟ้องร้านค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วไม่จ่าย แต่ละรายมีวงเงินไม่มากหลักพัน หลักหมื่น ลูกค้าตั้งใจไม่จ่าย ไม่มีทนายฟ้องเองได้หรือไม่ มีโอกาสได้เงินคืนไม๊คะ อายุความกี่ปี ถือเป็นคดีมโนสาเร่ใช่ไม๊คะ รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,658