ยักยอก

คดียักยอกทรัพย์ #ทนายคดียักยอกThanuLaw

การยักยอกทรัพย์ คือ การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตหลังครอบครองทรัพย์แล้ว

คำว่า "เบียดบัง" คือ การเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของ

 

สรุปประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. กรณีผู้กระทำความผิด ได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เช่น ยักยอกเงิน ต่างจำนวน ต่างวันเวลา ไปหลายครั้ง กฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว ไม่เกิน 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91

2. กรณีความผิดเกิดขึ้น โดยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น ร่วมกันวางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากการยักยอก ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ถือเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

3. คดียักยอกทรัพย์ เป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว หรือที่เรียกว่าความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 96 นั้นบัญญัติว่า ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ 

   : ฉะนั้น ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือฟ้องคดีเอง ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

   : ซึ่งการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 95 ด้วย

   : ดังนั้นการร้องทุกข์ก็ดี การใช้สิทธิฟ้องคดีเองก็ดี ก็ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3)

อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า : หากเป็นผู้เสียหาย รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อใด ก็จะต้องดำเนินการร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีอาญาภายใน 3 เดือน นับแต่นั้น ถ้าทราบเหตุภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ ต้องดำเนินคดีภายใน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ และต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เหตุรู้ตัว ถ้าดำเนินคดีเกิน 3 เดือนนับแต่รู้ แม้จะไม่เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ คดีจะขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่ถ้ารู้เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันเกิดเหตุแล้ว ก็ดำเนินคดีไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นคดีอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีเอง ภายใน 3 เดือน มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558

   ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

 

ประเด็น : นำรถยนต์ที่เช่าซื้อ (ติดไฟแนนซ์) ไปจำนำหรือขายต่อ มีความผิดฐานยักยอก เพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของลิสซิ่งอยู่ หากมีการแจ้งให้ส่งมอบรถ เนื่องจากผิดสัญญา ไม่ส่งค่างวด แล้วไม่ส่งคืน ทางลิสซิ่งมักจะแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7727/2544

   จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด มีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2555

   รถยนต์กระบะเป็นของผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะจึงยังเป็นของผู้เสียหายที่ 2 จนกว่าจะมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ในการตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะให้แก่จำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ร่วมจะโอนทะเบียนให้จำเลยต่อเมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระแก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ตกเป็นของจำเลย ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ถือเป็นเพียงการครอบครองรถยนต์กระบะไว้แทนโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่แท้จริง ภายหลังจากทำข้อตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ชำระราคารถยนต์กระบะให้ครบถ้วน โจทก์ร่วมแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่ารถยนต์กระบะสูญหาย การที่จำเลยยังคงครอบครองรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมต่อมาโดยไม่ส่งมอบคืน น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังปกปิดและซุกซ่อนรถยนต์กระบะโดยมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

 

ประเด็น : แม้ไม่ผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ศาลสามารถพิพากษาให้คืนเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562

   โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

   เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

 

ประเด็น : ยักยอกทรัพย์นายจ้าง แล้วทำหนังสือรับสารภาพให้ไว้แก่นายจ้าง ไม่ถือว่ายอมความกัน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 270/2558

   ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไป

 

ประเด็น : เบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรสไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

   โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

   ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

 

ประเด็น : ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556

   จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

ประเด็น : สถานที่โอนเงินผ่านธนาคาร ถือว่าสถานที่เกิดเหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2562

   การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอนสามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกล ซึ่งการโอนจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอนได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว

   ป. โอนเงินให้จำเลยโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และปรากฏมีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร การป้อนคำสั่งให้โอนเงินเกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของ ป. และเข้าไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยตั้งแต่ขณะ ป. สั่งโอนเงิน จำเลยสามารถถอนเงินจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้รับโอนเงินทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าม่วงจึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข)

 

ประเด็น : เช่าบ้าน และเอาทรัพย์ที่เช่าไปด้วย ผิดข้อหายักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2521

   ผู้เสียหายให้จำเลยเช่าบ้านและบอกให้จำเลยช่วยดูแลทรัพย์สินในบ้านถือเป็นการมอบหมายให้จำเลยครอบครองทรัพย์ที่อยู่ในบ้านแทนผู้เสียหายแล้ว เมื่อจำเลยเอาทรัพย์นั้นไป การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยความผิดฐานยักยอก

 

ประเด็น : ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์ มีความผิด ตามมาตรา 354

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535

   จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน (ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น) ทายาทส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพราะได้มอบหมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก เอกสารหลักฐานทรัพย์มรดกทั้งหมด โจทก์ร่วมเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งจำเลยก็รู้เห็นแต่จำเลยกลับไปแจ้งความว่าตราจองที่ดินพิพาทสูญหาย ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทน แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยอ้างว่าควรจะเป็นของจำเลย จำเลยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วย มาตรา 354

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2537

   จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลและรู้ว่าทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่า ๆ กัน แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้ตนเองและโอนต่อให้ ส. เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเองและโอนต่อให้ผู้อื่นโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่โจทก์ จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก,354

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3525/2528

   ผู้มอบหมายทรัพย์ให้ผู้ครอบครองอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้นมิได้หมายความเฉพาะแต่เจ้าของทรัพย์ศาลซึ่งมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกก็ถือว่าเป็นผู้มอบหมายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกครอบครองหากผู้จัดการมรดกเบียดบังเอาไปโดยทุจริต อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 ได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง 

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

   ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ 

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การยักยอกเงินไปเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการชดใช้ หรือบรรเทาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ปกติศาลมักจะไม่รอการลงโทษ หรือรอลงอาญา

2. เมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะมีขั้นตอนของการสมานฉันทร์ เพื่อชดใช้ความเสียหาย ซึ่งก็สามารถขอผ่อนชำระเงินได้

3. ผู้เสียหาย / โจทก์ ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ถูกยักยอก มิใช่เพียงผู้ถือกรรมสิทธิแทน

 

ค่าบริการว่าความ คดียักยอกทรัพย์

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี ไกล่เกลี่ย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.245.xxx]
เมื่อ: 2019-05-31 17:12:49
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: e20_pqu@yahoo.com [IP: 1.179.236.xxx]
เมื่อ: 2019-08-09 15:46:01
ขอสอบถามว่า กรณีเล่นแชร์แล้วลูกแชร์มือแรกเปียแชร์ไปได้ แล้วต่อมาไม่ยอมส่งแชร์ และเจ้ามือต้องส่งแทน ถามว่าเจ้ามือจะฟ้องลูกแชร์ว่ายักยอกทรัพย์ ได้หรือไม่ครับ หรือเป็นฉ้อโกง แล้วกรณีแบบนี้เรียกเงินค่าเสียหายไปด้วยได้ไหมครับ
#3 โดย: ทนายธนู [IP: 182.232.172.xxx]
เมื่อ: 2019-08-29 22:30:30
คดียักยอก​ทรัพย์​นายจ้าง​ถ้าไปตามศาลนัดไม่ทันมีสิทธิ์​ติดคุกเลยใช่ไหมคับ
#4 โดย: ลลนา [IP: 182.52.90.xxx]
เมื่อ: 2019-10-31 10:54:47
รถเป็นชื่อหนูแต่แฟนเก่าเอาไปและขาดการส่งงวดมีหมายศาลมาให้นำรถไปคืนแต่ติดต่อแฟนเก่าไม่ได้รถก้ไม่มีคืนแบบนี้สามารถแจ้งข้อหาอะไรแฟนเก่าได้ไหม
#5 โดย: นก [IP: 182.232.61.xxx]
เมื่อ: 2019-12-17 21:30:08
บริษัทฟ้องแลพได้ขึ้นศาลยอมรับผิดและปล่อยตัวกลับแต่ต้องขึ้นศาลอีกรอบแต่ไม่ได้ไปเพราะไม่มีเงินไปประกันตัวเองออกมา
เพราะเขาบอกถึงยอมความแต่ก้อติดคุกอยู่ดีเพราะไม่มีเงินไปประกัน
ผ่านมาปีเศษๆแล้วป่านนี้ศาลคงออกหมายจับแล้ว
ต้องทำยังไงดีคะ
แล้วถ้าเรากลับไปทำงานแถวนั้นแต่ไม่ใช้ประกันสังคมเราจะโดนจับมั้ยคะ
ถ้าโดนจับเราต้องทำยังไง
และจะโดนจับกี่ปี
#6 โดย: ปิยนุช [IP: 27.145.29.xxx]
เมื่อ: 2020-01-16 13:34:57
ไห้เพื่อนเอาทองไปจำนำกะคนรุ้จักแต่ไม่ได้ทั้งเงินเระทองคืนค่ะ
#7 โดย: ฝน [IP: 182.232.196.xxx]
เมื่อ: 2020-03-05 16:54:18
ขอสอบถามคะหนูทำงานในคาสิโนต่างประเทศทางเจ้าของได้ให้หนูไปเปิดบัญชีเพื่อเอาเงินเขาบัญชีหนูแต่หนูได้แอบไปกดเงินออกมาใช่แล้วจำได้บัญชีเป็นชื่อของหนูคะเขาจะแจ้งความเอาตำรวจมาจับต้องทำงัยคะ
#8 โดย: สำรวย [IP: 124.122.123.xxx]
เมื่อ: 2023-01-02 18:32:07
ของผมจะถูกฟ้องคดีจ้อโกงครับ ลงทุนทำขายรถเครื่องด้วยกัน แต่เขาบอกว่าผมโกงเขาตอนทำคบหาเป็นแฟนกันอยู่ครับผมตอนนี้เลิกกันแล้ว 1 ปี เขาฟ้องแต่ผมมีสลิปการโอนคืนไห้เขาพอจะเป็นหลักฐานได้ป่าว
#9 โดย: ชากเกอร์ [IP: 223.24.161.xxx]
เมื่อ: 2023-05-21 23:50:35
ขอสอบถาม หากลูกจ้างตำแหน่งhr ดูแลการส่งเงินประกันสังคมและเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่ส่งไม่ครบ ส่วนที่เหลือที่เขาเอาไปฟ้องยักยอกได้ไหมครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 193,615