ค่าชดเชย เลิกจ้าง

การจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 #ทนายคดีแรงงานThanuLaw #ฟ้องเรียกค่าชดเชยThanuLaw

 

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง โดยคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้าย ตามระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงาน

1. ทำงานครบ 120 วัน - แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน

2. ทำงานครบ 1 ปี - แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน

3. ทำงานครบ 3 ปี - แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน

4. ทำงานครบ 6 ปี - แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 240 วัน

5. ทำงานครบ 10 - แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 300 วัน

6. ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จ่ายเท่ากับค่าจ้าง 400 วัน

 

♦ ค่าชดเชยต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง จะนำเหตุผลอะไรมาอ้างก็ไม่ได้ (ปกติอ้างเรื่องการทำบัญชี)

♦ สิทธิเรียกร้องค่าชดเชย คดีมีอายุความ 10 ปี

♦ ค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา หรือ ค่าชดเชย ภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ม.9 ว.1

หากการไม่จ่ายเงินดังกล่าว เป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ

และมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ซึ่งงานดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี โดยมีหนังสือสัญญาไว้ตั้งแต่เริ่มจ้าง

   - เป็นงานที่ไม่ใช่ธุระหรือการค้าหรือการให้บริการปกติของนายจ้าง

   - งานที่ทำเป็นครั้งคราว เช่น งานซ่อมบำรุง

   - งานที่ทำตามฤดูกาล เช่น เก็บผลไม้

 

♦ ป.พ.พ. มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

 

กรณีย้ายสถานประกอบการ นายจ้างต้องแจ้งให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่เกิน 30 วัน หากลูกจ้างไม่ต้องการไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ

ค่าชดเชยพิเศษ ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงานกระบวนการผลิต การจำหน่ายหรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี หากนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ดังนี้

1. ลูกจ้างจะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน

2. ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฏหมาย

3. ลูกจ้างที่มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษปีละ 15 วัน เมื่อรวมค่าชดเชยทั้งหมด แล้วต้องไม่เกิน 360 วัน

 

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ตามมาตรา 119 ดังนี้

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร

6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นนักโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

7. ลาออกเอง - การลาออกเองไม่ใช่การเลิกจ้าง

8. เข้าร่วมโครงการเกษียณ Early Retire - ได้รับค่าตอบแทนพิเศษอื่นแล้ว ถือเป็นการลาออกเอง

9. ลูกจ้างตาย

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : นายจ้างและลูกจ้างตกลงเลิกสัญญา Early-Retire ไม่ใช่การเลิกจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2545

   โจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก และได้ทำหนังสือลาออกหลังจากได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เสนอให้ตามโครงการดังกล่าว จึงเป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออก มิใช่เลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

 

ประเด็น : ลาออกเอง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พฤติการณ์การรับเงินช่วยเหลือถือว่าเป็นการสมัครใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2556

   จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อผู้บังคับบัญชาระดับบริหารตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท จากจำเลย

   แม้หนังสือลาออกของโจทก์ (ที่กระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง) ไม่เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

 

ประเด็น : ทำข้อมูลเท็จเสนอ ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2524

   ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตัดผ้าใบ แล้วไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งกลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1)(2) จึงเป็นความผิดทางวินัยดังระบุไว้ตามข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2523

   การที่โจทก์แก้ไขใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องยื่นต่อจำเลยตามระเบียบ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ลาป่วย โดยเพิ่มวันที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวขึ้นอีก 1 วัน และได้ยื่นใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขแล้วต่อจำเลยนั้น เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ตอนท้าย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้

 

ประเด็น : ไม่ทำตามระเบียบ ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2530

   ผู้คัดค้านเป็นหัวหน้าแผนกขายส่วนกลาง ยอมให้ผู้ถอนหรือผู้เบิกรับแบตเตอรี่ไปก่อน ไม่มีใบถอนทันทีโดยจะมีการจัดส่งใบถอนหรือใบรับในภายหลังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้ร้องเกี่ยวกับการถอนหรือเบิกแบตเตอรี่ แม้จะมีการปฏิบัติดังกล่าวมานานก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องได้ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องเสียหายเป็นเงินประมาณสี่แสนบาท และตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง การประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานเป็นเหตุให้องค์การ (ผู้ร้อง) เสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนี้ผู้ร้องจึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2530

   โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลย วันไหนไม่ไปทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้ไปทำงาน 1 วันโดยลาป่วยเท็จ แต่รับค่าจ้างของวันที่ตน ลาป่วยเท็จนั้นทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิจะได้รับ ดังนั้นการกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการลาป่วยเท็จอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และจงใจเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหาใช่เป็นการแจ้งเท็จหรือรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเพียงประการเดียวซึ่งมีโทษตัดค่าจ้างตามระเบียบของจำเลยเท่านั้นไม่ การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานจึงชอบด้วยข้อบังคับที่ให้อำนาจจำเลยไล่ลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงออกจากงานไปแล้ว มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นนี้จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

 

ประเด็น : เล่นพนันในที่ทำงาน เป็นการฝ่าผืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งที่ถือว่าเป็น กรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2523

   ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 68ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จะต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและต้องมีรายการต่าง ๆ ตามที่ข้อ 68 กำหนดไว้ซึ่งข้อ 68(6) มีรายการเรื่องวินัยและโทษทางวินัยด้วยฉะนั้น นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าการเล่นการพนันในบริเวณบริษัทเป็นความผิดสถานหนักมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยได้ ส่วนการจ่ายค่าชดเชย ต้องบังคับตามข้อ 47(3)ของประกาศกระทรวงมหาดไทย ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย

    การเล่นการพนันในบริเวณบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติงานหรือนอกเวลาก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมทำลายความสามัคคีในระหว่างหมู่คณะ ทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง

 

ประเด็น : เล่นแชร์ในบริษัท เป็นการฝ่าผืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งที่ถือว่าเป็น กรณีที่ไม่ร้ายแรง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2523

   จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีอำนาจวางข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเล่นแชร์ได้ แต่การเล่นแชร์เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งใช้บังคับได้ ไม่มีกฎหมายห้ามการเล่นแชร์ การเล่นแชร์ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรง

   เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เริ่มทำงานในวันแรก ดังนั้นการนับระยะเวลาทำงานของโจทก์จึงต้องนับวันแรกแห่งระยะเวลาอันเป็นวันเริ่มทำการงานรวมคำนวณเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158

   แม้จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 บัญญัติถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างก็มิได้ซ้ำหรือขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา582 ซึ่งบัญญัติถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง มาตราดังกล่าวจึงยังใช้บังคับในกรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้วด้วย

 

ประเด็น : ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร

- มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2529

   การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) หมายถึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน มิใช่หมายถึงการละทิ้งหน้าที่นั้นกระทำไปโดยไม่สมควรเพราะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ผู้คัดค้านลากิจกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะมารดาป่วยหนัก ครบกำหนดลากิจแล้วอาการของมารดาของผู้คัดค้านไม่ทุเลาลง ต้องเข้ารักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลตามลำดับ ผู้คัดค้านได้โทรเลขถึงเพื่อนร่วมงานขอให้ลาต่อแทนดังนี้ การละทิ้งหน้าที่ของผู้คัดค้านมีเหตุอันสมควร กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 47(4) ผู้ร้องจะขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่ได้

 

- ไม่มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2525

   โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีสืบเนื่องมาจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งกำหนดว่า ลูกจ้างจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โจทก์ลาหยุดพักผ่อนแล้วไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4)

 

กรณี สัญญาจ้างสิ้นสุดตามกำหนดเวลา : นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

การต่อสัญญา

   นายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างต่อสัญญากับนายจ้างและทำงานกับนายจ้างต่อไป ลูกจ้างไม่ประสงค์ทำงานต่อไป ลูกจ้างจะอ้างผลของสัญญาจ้างที่สิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลา เรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ เพราะถือไม่ได้ว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8002/2549

   ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัท ก. ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัท ก. ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย จำเลยมิได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด

 

ประเด็น : ตกลงรับเข้าทำงาน แต่นายจ้างเปลี่ยนใจขอเลิกจ้างก่อนเริ่มงาน โดยลูกจ้างลาออกจากที่ทำงานเดิมแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2560

 

หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง

หมวด 11 ค่าชดเชย

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

   (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   (6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

   ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

   การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

มาตรา 118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

   ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

   (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

   (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

   (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

   (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

   หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

   (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

   (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

   ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

   การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

มาตรา 121 ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นำมาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

   ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย

   ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

มาตรา 122 ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

   เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 1 ปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

มาตรา 68 เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึงค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของ 30 และจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย

มาตรา 5

"ค่าชดเชย" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

"ค่าชดเชยพิเศษ" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะมีเหตุกรณีพิเศษที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

“ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าจ้างบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้างในวันทำงาน” หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินตามมาตรา 10 วรรคสอง ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17/1 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 188 ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 120/1 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี

   ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน

   ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายธนู

1. ปัญหาที่มักมีการฟ้องเรียกค่าชดเชย มากที่สุดคือ "เป็นการลาออกเอง หรือเลิกจ้าง"

ข้อพิจารณา คือ หากลาออกเองด้วยความสมัครใจ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

แต่ปัญหาของคดีคือ การลาออกเกิดจากการบีบบังคับ ข่มขู่ หลอกหลวง หรือไม่ (ที่จะต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล)

โดยหลักการพิจารณาของคดี คือ การเสนอให้ลูกจ้างลาออกเอง นั่น ลูกจ้างมีอิสระในการตัดสินใจ จริงๆหรือไม่

2. ค่าชดเชยไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ จะต้องจ่ายเป็นเงินก้อนในวันเลิกจ้าง ไม่จ่ายมีดอกเบี้ย 15% ต่อปี

3. นอกจากค่าชดเชยแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าวันหยุดประจำปี ตาม ม.67 ด้วยได้

4. นายจ้างไม่แจ้งเหตุของการเลิกจ้าง จะต้องจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี ตาม ม.119 ว.ท้าย

 

ค่าบริการว่าความ คดีเรียกค่าชดเชย

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

สอบถามได้ที่ทนายณัฐวุฒิ โทร 096 2602711

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,784