ฉ้อโกง

คดีฉ้อโกง #ทนายคดีฉ้อโกงThanuLaw

หลักสำคัญของการฉ้อโกง คือ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต โดยการหลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดความจริง (ที่ควรจะแจ้ง) มาตั้งแต่แรก

ผลของการหลอกลวง ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายหรือบุคคลที่สาม หรือทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

 

ฉ้อโกงเป็นความผิดยอมความได้ ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเอง ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ ตาม ป.อ.มาตรา 96 แต่เมื่อได้ร้องทุกข์แล้ว ก็สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 10 ปี

ยกเว้น ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ.มาตรา 343 ยอมความไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายบางคนมีการยอมความแล้ว ก็ไม่ทำให้คดีอาญาระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)

 

อัตราโทษ

1. ฉ้อโกง ทั่วไป ป.อ. มาตรา 341 : จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ฉ้อโกง ด้วยกลอุบาย ป.อ. มาตรา 342 : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ฉ้อโกง ประชาชน ป.อ. มาตรา 343 : จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หลักการพิจารณาดูว่า ฉ้อโกงกับผิดสัญญาทางแพ่ง

: ขณะทำสัญญาหรือให้คำรับรอง จำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง นั้น หรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง แม้ภายหลังไม่อาจปฏิบัติตามได้ ไม่ว่าเหตุใด ๆ ไม่ถือเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง แต่หากขณะจำเลยทำสัญญามีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา คงอาศัยสัญญาเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองทรัพย์ส่งมอบทรัพย์ให้ การกระทำนั้นเป็นความผิดฉ้อโกง ตามมาตรา 341

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : หลอกลวงนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปทำสัญญาเช่า เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556

   การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

 

ประเด็น : เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แต่ไม่บอกผู้ให้กู้ทราบ ถือเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555

   แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้น และมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้

   จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

 

ประเด็น : แม้มีเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลังรับมอบทรัพย์สินแล้ว จะไม่ผิดฐานฉ้อโกง แต่หากมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของตน ก็อาจมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554

   จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

   แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

   ผู้จัดการมรดกของ ส. รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

   โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

 

ประเด็น : พ่อแม่ยัดเงินใต้โต๊ะ ให้ลูกเข้าทำงานราชการ พ่อแม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563

   พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้

 

ประเด็น : โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินแล้ว เบี้ยวค่านายหน้า ไม่ผิดอาญาข้อหาฉ้อโกง แต่ผิดสัญญาทางแพ่ง ต้องไปฟ้องคดีกันทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2517

   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นนายหน้าหาคนซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ร้อยละ 10 โจทก์ชักนำให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อ จำเลยที่ 2 พา บ. และ ก. ไปซื้อ โดยโจทก์เป็นผู้จัดการให้จำเลยที่ 2 นำไปซื้อ ต่อมาเมื่อโจทก์สอบถามจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงต่อโจทก์ โดยบอกว่ายังไม่ได้ขายที่ดินให้ใคร ซึ่งความจริงได้ขายให้ บ. และ ก. ไปแล้ว การแจ้งเท็จและปกปิดความจริง ทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งค่านายหน้าอันเป็นสิทธิของโจทก์เป็นเงิน 3,500 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงหรือจากบุคคลที่สามแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยไม่ชำระให้เท่านั้นเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดตามฟ้อง

 

ประเด็น : การหลอกหลวงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (ไม่แน่นอน) เป็นเพียงการคาดเดา ไม่ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดนี้ต้องหลอกลวงในสิ่งที่เกิดในอดีตหรือปัจจุบัน เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2548

   จำเลยชักชวนโจทก์เข้าร่วมลงทุนในบริษัทของจำเลย โดยให้โจทก์ซื้อหุ้นในบริษัทของจำเลย 3,000 หุ้น เป็นเงิน 300,000 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยรับไปแล้ว โดยจำเลยสัญญาว่า เมื่อชำระแล้วจะโอนหุ้นในบริษัทของจำเลยให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยมาขอเงินจากโจทก์อีก 58,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัทและจะชำระเงินคืนเป็นหุ้นให้ โจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 358,000 บาท การที่จำเลยชักชวนโจทก์ให้ซื้อหุ้นในบริษัทของจำเลย เป็นเพียงคำรับรองที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคตขณะให้คำรับรองดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำรับรอง จึงไม่ใช่ความเท็จ นอกจากนั้นตามบัญชีผู้ถือหุ้น ก็ปรากฏว่าจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวนถึง 9,940 หุ้น แสดงว่ามีหุ้นอยู่จริง มิได้หลอกลวงโจทก์ การที่จำเลยไม่โอนหุ้นให้แก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2539

   ความผิดฐานฉ้อโกงผู้กระทำความผิดต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียมตึกแถวและที่ดินโดยยืนยันว่าอีก 4 เดือนจะมีผู้ซื้อต่อการที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครูโดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดีขายตึกแถวที่ดินได้หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดาผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากัน ล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้นคำยืนยันดังกล่าว ไม่ใช่คำหลอกลวง แต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่าย จึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวงการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

 

ประเด็น : ทำสัญญาโดยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา คงอาศัยสัญญาเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองทรัพย์ส่งมอบทรัพย์ให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2563

   พฤติการณ์ที่จำเลยแสดงต่อโจทก์ร่วม ว่าจำเลยเป็นหลานของนางสาว ก. ทั้งที่ความจริงเป็นบุตรสาวของจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะญาติกับนาย ช. แต่กลับอ้างว่านาย ช. เป็นอาของจำเลยและจำเลยขอให้โจทก์ร่วมโอนเงินไปเข้าบัญชีของนายช. และรับทองคำจากโจทก์ร่วม โดยอ้างว่าจะนำไปลงทุนค้าขายทองคำกับนาย ช. ทั้งที่นาย ช. ไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ จำเลยมิได้ร่วมประกอบธุรกิจค้าขายทองคำกับนาย ช. และไม่สามารถนำทองคำไปขายในราคาสูงได้อย่างที่บอกโจทก์ร่วม เพียงแต่ยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อแล้วมอบเงินลงทุนและทองคำให้จำเลยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง

 

ประเด็น : ฉ้อโกงประชาชน ต้องดูวิธีการหลอกลวง เป็นสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2561

   จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการในชื่อร้านค้าสวัสดิการ ย. และร่วมกันบรรยายให้ข้อมูลแก่ผู้เสียหายทั้ง 85 ชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกร้านค้าสวัสดิการ ย. โดยมีเงื่อนไขว่าจะเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้มาสมัครเป็นสมาชิกตามรูปแบบสมาชิก จำเลยทั้งสามจึงมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้น โดยรู้อยู่แล้วว่าร้านค้าสวัสดิการ ย. ไม่สามารถประกอบกิจการ มีผลประโยชน์หรือมีกำไรสูงจนสามารถจ่ายเงินปันผลและค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกในอัตราสูงตามที่ได้มีการบรรยายชักชวนให้มาร่วมลงทุนสมัครเป็นสมาชิก อีกทั้งลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะ การหลอกลวงดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนบุคคลอื่นต่อ แต่ลักษณะการชักชวนของจำเลยทั้งสามมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน โดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ แม้มีผู้เสียหายบางคนได้ผลประโยชน์ ตอบแทนเป็นเงินปันผลหุ้น แต่ก็ได้รับน้อยกว่าที่ได้ชักชวน และได้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงค่าสมัครสมาชิกจากผู้เสียหายทั้ง 85 ผู้ถูกหลอกลวง เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก

 

ประเด็น : ฉ้อโกงประชาชน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ถอนฟ้องหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2558

   ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ มาตรา 39 (2)

 

ประเด็น : หลอกให้ร่วมลงทุนได้ที่ผลตอบแทนสูง อันฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ไม่ถือเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่ผิดฉ้อโกงธรรมดา แต่ผิดตามข้อหา "กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” (ตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2563

   แม้ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสาม จึงมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสาม เพื่อให้จำเลยทั้งสามนำเงินไปลงทุน เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง โดยจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมลงทุนในหลายลักษณะคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 72, 144, 192, 240, 288 และ 432 ต่อปีของจำนวนเงินที่ผู้ร่วมทุนให้จำเลยทั้งสามกู้ยืมจะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในทุก 2 ถึง 3 วันหรือทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะได้รับล้วนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4(1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ถือว่า เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสามสิบสองรับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญา มาตรา 2(4)(7) และมาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง มานั้นชอบแล้ว

 

ประเด็น : ชักชวนมาร่วมลงทุน โดยให้ผู้เสียหายเป็นนายหน้าแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4695/2564

   โจทก์เป็นผู้ดำเนินการชักชวนหาผู้มาร่วมลงทุน แล้วโอนเงินให้จำเลยที่ 1 โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกัน การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นเพียงกรณีที่โจทก์รวบรวมเงินจากญาติพี่น้องและเพื่อนเพื่อนำมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ลักษณะการดำเนินการของโจทก์ เป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีหน้าที่หาลูกค้าชักชวนให้ลูกค้านำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้หลงเชื่อนำเงินมาลงทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ

   (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ

   (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

   ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท

มาตรา 348 ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. การถอนแจ้งความร้องทุกข์ หรือกรณีที่ฟ้องคดีเองก็สามารถถอนฟ้องได้ผลก็คือ คดีเป็นอันยุติ

2. การหลอกหลวง ตาม ป.อ. มาตรา 342 เช่น นำรูปภาพของบุคคลอื่นมาหลอกให้หลงรัก และได้รับเงิน ทอง เป็นต้น

3. โจทก์ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในแพ่งไปพร้อมกันคดีอาญาได้ เพราะถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40

4. ในกรณีต้องการเป็นโจทก์ร่วม ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้อง ตาม ป.อ. ม.30 และสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทน ได้ ตาม ป.อ. ม.44/1

 

ค่าบริการว่าความ คดีฉ้อโกง

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี ไกล่เกลี่ย

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 122.155.46.xxx]
เมื่อ: 2021-01-18 14:06:50
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ
#2 โดย: [IP: 27.55.75.xxx]
เมื่อ: 2021-08-14 12:52:24
ไกล่เกลี่ยขอทยอยชดใช้แล้วเค้าไม่ยอม ต้องติดคุกมั้ยคะ แบบนี้
#3 โดย: Natthakarn701 [IP: 49.230.168.xxx]
เมื่อ: 2022-05-13 20:19:39
คดีฉ้อโกงโดยนำความเท็จสู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ยอมความได้มั้ยค่ะคือว่าเรื่องมีประมานนี้ทำเรื่องกู้เงินแล้วไม่โอนค่าธุรกรรมให้ทางบริษัทกู้จนเปนเหตุให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท
#4 โดย: 88fn9526604 [IP: 118.172.143.xxx]
เมื่อ: 2022-09-05 00:29:42
ถูกแจ้งความคดีฉ้อโกง เรื่องรถ มีทางประทันส่งเอกสารมาให้ว่าทางไฟแน้นแจ้งความแล้ว แบบนี้ใกล่เกลี่ยได้เลยไหมค้ะ
#5 โดย: คุณทนาย [IP: 124.120.218.xxx]
เมื่อ: 2022-09-16 22:30:32
กรณีบัญชีม้า หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินมา แล้วโอนให้บุคลคนอื่น ที่หลอกใช้บัญชีของลูกสาว พอโอนเส็จคนที่ให้โอนเงินเข้าปิดบัญชีหนีไป จะมีความผิดร้ายแรงไหมครับ
#6 โดย: Rosefai [IP: 184.22.39.xxx]
เมื่อ: 2023-02-19 19:18:39
กู้เงินออนไลน์แล้วส่งไม่ไหวมีสิทธ์ติดคุกไม่ค่ะที่ส่งไม่ไหวดอกแพงเวอร์แล้วโทรมาขู่เราพ่อแม่เราด้วย
#7 โดย: 1211 [IP: 49.237.19.xxx]
เมื่อ: 2023-04-01 05:34:47
สวัสดีครับอยากสอบถามว่าการโกงเงินมัดจำเข้าความผิดข้อหาไหนครับ ผมเป็นพ่อค้ารถมือ2 แล้วได้มัดจำเงินไปเพื่อจะซื้อรถกับบุคคลนึงผู้ขายรถ ซึ่งรถมีแต่รูปยังไม่เห็นตัวจริง พอถึงวันนัดดูรถนัดซื้อทางผู้ขายก็ขอเลื่อน ขอเลื่อนมา 3 รอบไม่ยอมให้ไปดูรถหรือเอารถออกมาขายให้ซะที จนรอบสุดท้ายผู้ขายบอกว่าจะคืนมัดจำให้แต่พอถึงเวลานัดคืนก็ไม่ยอมโอนเงินคืนมา กรณีนี้ แจ้งความดำเนินคดีข้อหาไหนได้บ้างครับ
#8 โดย: ผมก็โดนฉ้อโกงเหมือนกัน [IP: 1.46.19.xxx]
เมื่อ: 2023-04-16 20:35:41
ผมไม่ใช่ทนาย แต่ดู ดูจากพฤติกรรมการกระทำ ตอบคุณ 1211 ผิดฐานฉ้อโกง มาตรา 341 ชัดเจน และกรณีนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมฯ(กรณีถ้าคนร้ายลงข้อมูลปลอมไว้เพื่อการหลอก.ลวง เหยื่อไว้ในคอมพิวเตอร์เท่ากับว่าเข้าข่ายอยู่แล้ว)

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 192,473