เช็ค

คดีเช็คเด้ง #ทนายคดีเช็คThanuLaw

การสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ หากนำไปขึ้นเงินแล้วถูกธนาคารปฏิเสธ อันเรียกว่า "เช็คเด้ง"

มีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

   (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

   (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

   (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

   (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

   (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

   เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 5 ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้

 

สรุปสาระสำคัญ

คำว่า "หนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย"

หมายถึง ต้องเป็นหนี้กันจริง ๆ และหนี้นั้นต้องบังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น หนี้กู้เงินมีหนังสือสัญญากู้ยืม ซื้อขายสินค้ามีหลักฐานใบรับของ เป็นต้น

แต่ถ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องคดีได้ ไม่เป็นความผิดทางอาญา 

เช่น

♦ หนี้พนัน สลากกินรวบ วงแชร์ หรือ จากการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ถือว่าเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หนี้ย่อมเป็นโมฆะ

♦ หนี้กู้ยืมเงิน แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ อ้างอิง ฎ.1677/2557

♦ เช็คแลกเงินสด ขายลดเช็ค

♦ ออกเช็คฉบับใหม่ โดยการแปลงหนี้ใหม่ (เปลี่ยนตัวลูกนี้) เช็คลูกหนี้เดิมไม่มีความผิดทางอาญา อ้างอิง ฎ.3809/2530

♦ ออกเช็คเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือว่าไม่มีมูลหนี้ อ้างอิง ฎ.364/2518

♦ เช็คไม่ลงวันที่ ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต ชอบที่จะลงวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงในเช็คได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 901 และมาตรา 989 ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฎในเช็ค อ้างอิง ฎ.1214/2547, 9539/2544 แต่ไม่สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ คงต้องไปฟ้องคดีแพ่ง ข้อหาผิดสัญญาตั๋วเงิน

ธนาคารปฏิเสธโดยเหตุผล "เช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน" อ้าง ฎ.186/2535

วันที่สั่งจ่ายเงินตามเช็ค ผู้สั่งจ่ายมีเงินเพียงพอ แต่ผู้ทรงนำเช็คไปขึ้นเงินหลังวันที่สั่งจ่าย อ้างอิง ฎ.1875/2527

ออกเช็คชำระค่าสินค้า แต่ผู้ขายยังส่งสินค้าให้ไม่ครบ อ้างอิง ฎ.111/2532

หนังสือรับสภาพหนี้ แต่ไม่ได้บรรยายมูลหนี้เดิม อ้างอิง ฎ.4948/2562

เช็คค้ำประกัน อ้างอิง ฎ.734/2547

 

อายุความคดีอาญา

: 3 เดือนนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค

: หากเกิน 3 เดือน คดีอาญาเป็นอันขาดอายุความ แต่ยังคงสามารถฟ้องคดีแพ่งได้ ในข้อหาผิดสัญญาตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 ซึ่งกำหนดอายุความภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ลงในเช็ค ถ้าเกิน 1 ปีแล้ว ยังไม่ทำอะไรอีก คดีแพ่งก็เป็นอันขาดอายุความ ต้องเปลี่ยนไปฟ้องคดีตามมูลหนี้แท้จริง เช่น ตามหนังสือรับสภาพหนี้ สัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันผิดสัญญา

 

การแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจ

1. ร้องทุกข์ในท้องที่ ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือธนาคารเจ้าของบัญชีเช็ค ตั้งอยู่ ไม่ใช่ธนาคารที่ไปขึ้นเงิน

2. ในการสอบสวน ผู้เสียหายจะต้องยืนยันว่ามาร้องทุกข์ เพื่อมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย

3. ขั้นตอนของตำรวจ จะสอบสวนผู้เสียหาย และออกหมายเลขคดี 

 

เขตอำนาจศาล : ศาลแขวง

 

การประกันตัวชั่วคราว

1. วงเงินประกันตัวชั่วคราว ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็ค แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

2. ในคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และจำเลยมีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้โดยไม่ต้องวางเงินประกันตัว

3. เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ในวันนัดสอบคำให้การ จำเลยต้องเตรียมเงินประกันตัวมาด้วย

 

โทษ : ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : ไม่มีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ หรือในขณะออกเช็ค ผู้สั่งจ่ายไม่มีความสามารถในการจ่าย เป็นเพียงหลักประกันเท่านั้น ไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581/2556

   จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็ค เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหาย ในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้

 

ประเด็น : จงใจลงลายมือชื่อ ที่ไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร ถือว่ามีเจตนาทุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556

   จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร และจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)

 

ประเด็น : ไม่ลงวันที่สั่งจ่ายในขณะออกเช็ค ถือว่าไม่มีความผิด ผู้เสียหายลงวันที่เองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556

   ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง

 

ประเด็น : ออกเช็คฉบับใหม่ แลกแทนเช็คฉบับเดิม ที่ถูกธนาคารปฏิเสธการสั่งจ่าย มีความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2541

   การที่จำเลยออกเช็ค เพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่าง จำเลยกับโจทก์ตามจำนวนเงินในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898, 900 ต่อมาจำเลยออกเช็คพิพาทสองฉบับแทนเช็คฉบับเดิม จึงเป็นการที่จำเลย ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว ข้างต้น เช็คที่จำเลยออกในภายหลังนี้ย่อมถือว่าเป็นเช็ค ที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ได้ขอให้พิพากษานับโทษจำเลย ติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

 

ประเด็น : กรรมการผู้จัดการบริษัท แม้ลาออกไป ก็ยังคงต้องรับผิดอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2531

   กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการนิติบุคคลเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำของนิติบุคคล หากร่วมกับนิติบุคคลออกเช็คหรือสลักหลังเช็ค โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต้องถือว่าเป็นตัวการกระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วย ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมการจะอยู่ในตำแหน่งในวันที่เช็คนั้นถึงกำหนดหรือไม่ก็ตาม

 

ประเด็น : การออกเช็คเพื่อชำระหนี้แทนบุคคลอื่น ผู้สั่งจ่ายย่อมมีความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2542

   ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมนั้น ม. พี่ชายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ร่วมได้ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อกับโจทก์ร่วมแล้ว แม้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ ม. ทำกับโจทก์ร่วมจะระบุว่าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งหรือข้อกำหนดอื่นแล้ว ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อยกเลิกหรือเพิกถอนทันทีก็ตาม ก็หาทำให้หนี้ที่เกี่ยวพันกันหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดสัญญาระงับหรือสิ้นความผูกพันไปไม่ เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ติดค้างหรือค่าเสียหายผู้เช่าซื้อก็ยังคงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมอยู่ การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม โดยยอมผูกพันตามหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อโจทก์ร่วม ย่อมถือว่าหนี้ของโจทก์ร่วมตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทมีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิด จากการใช้เช็คมาตรา 4(1) และ (2)

 

ประเด็น : การนับอายุความ ให้เริ่มนับวันวันถัดไป

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 920/2550

   กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : เช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน ไม่มีความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2535

   การที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า"เช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน" ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 บัญญัติไว้

 

ประเด็น : จำเลยเป็นนายทหารประจำการ(สัญญาบัตร) ต้องฟ้องคดีต่อศาลทหาร เพราะเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2525

   พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสอง หมายความว่าขณะที่ศาลพลเรือนสั่งรับประทับฟ้องของโจทก์ ความยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ ต่อมาเมื่อศาลพลเรือนได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้วความจึงปรากฏในภายหลังว่าจำเลยเป็นทหารประจำการ ดังนี้ศาลพลเรือนย่อมดำเนินการพิจารณาต่อไปได้เท่านั้น หาได้หมายความว่าคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร หากยื่นฟ้องต่อศาลพลเรือนแล้วศาลพลเรือนจะรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ก็ได้

   การที่โจทก์นำคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารมายื่นฟ้องยังศาลพลเรือน ศาลพลเรือนไม่จำต้องสั่งไม่รับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง (อาจสั่งหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็ได้)

   ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 เป็นความผิดในทางอาญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยเป็นทหารประจำการ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

 

ประเด็น : การแจ้งความร้องทุกข์ แม้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ไม่ถือว่าแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549

   ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้งและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

 

ประเด็น : แม้จะเขียนว่าออกเช็คเพื่อเป็นประกัน แต่ศาลอาจดูเจตนาเป็นการชำระหนี้ ก็เป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560

   จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)

 

ประเด็น : ออกเช็คในขณะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่ผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564

   จำเลยออกเช็คพิพาทภายหลังจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เพื่อผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็ค เป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย มิใช่กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22,24 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534  มาตรา 4   จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

 

คดีเลิกกัน ***ผู้เสียหายพึงระวัง***

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 

มาตรา 7 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สรุปสาระสำคัญ ตามมาตรานี้ คือ

สิทธิการดำเนินคดีอาญาอาจระงับได้โดย

1. ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือ

2. หนี้ที่จำเลย ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้ระงับไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

 

ประเด็น : ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีแพ่ง คดีอาญาเป็นอันเลิกกันไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2553

   กรณีคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็ค เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา โดยไม่จำเป็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีอาญา

   มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินเป็นคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

 

ประเด็น : ข้อตกลงผ่อนชำระหนี้กันตามรายงานกระบวนพิจารณาคดี ไม่ถือเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีจึงไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553

   ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

ประเด็น : วางเงินต่อศาลตามยอดเช็ค คดีเป็นอันเลิกกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 3062-3063/2562

   จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาท 2 ฉบับ ฉบับละ 28,080 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าลิขสิทธิ์ตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชน อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองนำเงิน 56,160 บาท มาวางสาลเพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ร่วม โดยทนายโจทก์ร่วมเพียงแต่แถลงว่ายังไม่ประสงค์จะรับเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายและติดใจให้ศาลพิพากษาคดีต่อไป มิได้คัดค้านว่าหนี้ที่ออกเช็คพิพาทยังไม่ระงับ ไปเพราะเหตุจำเลยทั้งสองมิได้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3)

   เมื่อคดีเลิกกันสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป มีผลทำให้คำพิพากษาศาลล่างไม่อาจบังคับใช้ได้ต่อไป จึงต้องคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 2 ชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้แก่จำเลยที่ 2

 

ประเด็น : คดีถึงที่สุดแล้ว แม้จำเลยจะชำระเงินครบถ้วน คดีก็ไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2563

   เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ แม้จำเลยจะใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว แต่เป็นการใช้เงินภายหลังวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีอาญาจึงไม่เลิกกัน

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติม

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

มาตรา 6 การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล สั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกันหรือมีประกันและหลักประกันไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็ค

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 35 คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใดถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

   คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. คดีเช็ค โดยทั่วไปแล้วทนายมักจะแนะนำให้ฟ้องทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง

2. คดีอาญา เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ จึงสามารถเจรจายอมความกันได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตัดสินไปแล้ว แต่ถ้ายังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ฎีกา ก็ยังสามารถยอมความกันได้

3. หากจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ครบถ้วน หรือหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (3) อ้างอิง ฎ.5865/2534

   แต่ถ้าคดีถึงที่สุดแล้ว แม้จำเลยจะชำระเงินครบถ้วน คดีก็ไม่เลิกกัน อ้างอิง ฎ.1062/2563

4. ขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยในคดีอาญา หากตกลงจ่ายโดยวิธีการผ่อนชำระหนี้ โจทก์เรียกได้เพียงต้นเงิน เท่านั้น ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ทำให้คดีอาญาระงับ หากต้องการเรียกดอกเบี้ย โจทก์ต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง

5. กรณีเป็นเช็คบริษัท สามารถฟ้องได้ทั้งบริษัทและตัวกรรมการผู้จัดการ หรือจะเฉพาะแค่กรรมการผู้จัดการที่ลงลายมือชื่อก็ได้ ส่วนคดีแพ่งฟ้องได้เฉพาะบริษัท

 

ค่าบริการว่าความ คดีเช็คเด้ง

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี 

-X-

 

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 184.22.251.xxx]
เมื่อ: 2019-09-28 16:52:19
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 194,109